โรคกลัวสังคม คุณเองเป็นหรือเปล่า หากเวลาที่ต้องพูดหน้าต่อสาธารณะ หรือหรือต่อหน้าคนจำนวนมาก แล้วมีอาการประหม่าจนท้องไส้ปั่นป่วน ถ้าเป็นมาก ๆ อาจเป็นต้นเหตุทำชีวิตพัง
เชื่อว่าคงจะมีคนไม่น้อยที่มีอาการประหม่าเมื่อต้องอยู่ต่อหน้าผู้คนมาก ๆ แม้ว่าอาจจะดูไม่ผิดปกติอะไร แต่ก็มีคนบางจำพวกที่เกิดอาการกลัวอย่างรุนแรง ซึ่งนั้นคืออาการของผู้ป่วยโรคกลัวสังคม ที่อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและสุขภาพจิตอย่างรุนแรงได้หากไม่ได้รับการรักษา ทั้งนี้ควรมีวิธีรับมือที่ถูกต้อง เพื่อที่อาการป่วยจะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นในระยะเวลาอันสั้นค่ะ วันนี้เลยขอหยิบบทความดี ๆ จากนิตยสาร Secret มาบอกต่อให้ทราบกัน แม้จะไม่ใช่โรคอันตราย แต่รู้ไว้หน่อยก็น่าจะดีกว่านะ
ถ้าต้องออกไปนำเสนองานหน้าห้องเข้าร่วมประชุม หรือขึ้นเวที แล้วมีอาการประหม่า ตื่นเต้น เหงื่อแตก พูดตะกุกตะกัก ท้องไส้ปั่นป่วน ไม่กล้ามองหน้าคนอื่น คุณอาจกำลังเป็น “โรคกลัวสังคม”
โรคกลัวสังคม
โรคกลัวสังคม (Social Phobia) เป็นความกลัวชนิดรุนแรงที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมตัวเอง ทำให้มีปัญหาการใช้ชีวิต ความกลัวที่จัดอยู่ในโรคนี้มีหลายรูปแบบ บางคนไม่กล้ามองหน้าหรือพูดคุยกับคนอื่น กลัวการพูดในที่ชุมชน กลัวการขึ้นเวที กลัวคนมอง กลัวการพูดคุยจริงจัง หรือไม่กล้าอยู่ในที่ที่มีคนมาก ๆ เมื่อรู้สึกกลัวจะแสดงอาการต่าง ๆ เช่น ประหม่า ตื่นเต้น หน้าซีด ตัวเย็น ใจสั่น ปากสั่น ควบคุมสติไม่ได้ ควบคุมระบบขับถ่ายไม่ได้ เป็นต้น โดยอาการที่แสดงออกนี้เกิดจากจิตใต้สำนึกไปกระตุ้นให้ระบบภายในร่างกายแปรปรวน
สาเหตุอาจเกิดจากการขาดความรักความอบอุ่นในวัยเด็กทำให้รู้สึกด้อยกว่าคนอื่น เมื่อโตขึ้นจึงมีพฤติกรรมแปลกแยก เข้ากับใครไม่ได้ บางคนอาการเท่าเดิม บางคนอาการหนักขึ้น เริ่มไม่พอใจและไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต หวาดระแวงกับพฤติกรรมของตัวเองทุกเรื่อง เริ่มทำตัวถอยห่างจากผู้คน ป่วยเป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคหัวใจ ความดัน เบาหวาน ฯลฯ ส่วนใหญ่พบว่าคนที่มีความจริงจังสูง ย้ำคิดย้ำทำ และมองโลกในแง่ร้ายจะมีอาการหนักขึ้น บางคนถึงขึ้นทำร้ายตัวเอง และร้ายแรงที่สุดคือฆ่าตัวตาย
ดร.ภาคิน ธราธรศิริ นักสะกดจิตบำบัด ผู้ก่อตั้งชมรมนักสะกดจิตแห่งประเทศไทย แนะนำวิธีจัดการกับโรคกลัวสังคม ดังนี้
โรคกลัวสังคม
อย่าตอกย้ำตัวเอง
เมื่อรู้ว่าป่วยไม่ควรตอกย้ำตัวเองด้วยการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมมากจนเกินไป เพราะส่วนใหญ่พบว่าคนที่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นอะไรก็มักเกิดความวิตกกังวลและทำให้อาการหนักขึ้น ดังนั้นการได้รู้ว่า “ฉันเป็นอะไร” ไม่ได้ช่วยทำให้อาการดีขึ้น แต่ยิ่งทำให้แย่ลง ไม่รู้เสียเลยจะดีกว่า
เมื่อรู้ว่าเป็นโรคนี้ให้รีบรักษา
โรคกลัวสังคมสามารถรักษาด้วยการใช้ยา หรือการรักษาทางเลือกที่เรียกว่า “จิตบำบัด” หรือ “การกล่อมเกลาจิตใต้สำนึก” ภาษาอังกฤษเรียกว่า Hypnotherapy เป็นการกระทำกับจิตสำนึกเพื่อเปลี่ยนนิสัย โดยบอกตัวเองว่า “ฉันกล้าคุยกับคนอื่นมากขึ้นทุกวัน ๆ” “ฉันเข้มแข็งมากขึ้น” “ฉันช่วยเหลือตัวเองได้” แต่การรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งอาจใช้เวลานานเป็นแรมปี จนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกท้อแท้ ไม่มีกำลังใจรักษาต่อจนหายขาด จึงควรรักษาหลายวิธีไปพร้อม ๆ กัน
โรคกลัวสังคม
บอกให้ทุกคนเข้าใจ
คนที่ไม่เข้าใจอาจปฏิบัติต่อผู้ป่วยมากหรือน้อยเกินไป เช่น ประคบประหงมตลอดเวลา ช่วยเหลือผู้ป่วยทุกเรื่อง หรือกดดันมากเกินไป ใช้คำพูดเสียดสีทำให้เกิดความรู้สึกผิด เช่น “ไปซื้อของแค่นี้ทำไม่ได้ก็ตายไปซะเลย” ทั้งสองแบบล้วนแต่ส่งผลเสียต่อผู้ป่วย วิธีที่ถูกต้องคือควรบอกกับคนรอบข้าง หรือย่างน้อยคนในครอบครัวให้รับรู้ และเข้าใจว่าคุณกำลังป่วยเป็นโรคกลัวสังคม
ให้คนรอบข้างช่วยเหลือด้วยวิธีที่ถูกต้อง
เมื่ออธิบายให้คนรอบข้างเข้าใจแล้ว ควรให้พวกเขาช่วยเหลืออย่างถูกต้อง โดยเป็นเหมือนพี่เลี้ยงให้ผู้ป่วยได้ออกไปเผชิญโลกภายนอกเอง แต่ให้เรามั่นใจว่ามีพี่เลี้ยงคอยดูแลอยู่ห่าง ๆ เมื่อผู้ป่วยทำสิ่งใดไม่ได้จริง ๆ ก็แค่ถอยออกมา แล้วพี่เลี้ยงเข้าไปจัดการให้
พี่เลี้ยงต้องรู้ว่าสิ่งไหนที่ผู้ป่วยทำไม่ได้ในวันนี้ ในอนาคตต้องกระตุ้นให้เขาทำให้ได้แต่ต้องค่อย ๆ เพิ่มแรงกระตุ้นทีละน้อย อย่ากระตุ้นอย่างรุนแรงในทันที แต่ถ้าไม่กระตุ้นเลย ผู้ป่วยก็จะไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง ดังนั้นพี่เลี้ยงต้องอดทนและใจเย็น แต่หากไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร การให้กำลังใจคือสิ่งที่ดีที่สุด
ลดทางเลือกของชีวิต
คนที่มีทางเลือกเยอะ เช่น บ้านมีฐานะ ไม่ต้องเรียนหนังสือ ไม่ต้องทำงานอยู่บ้านเฉย ๆ มีคนทำธุระให้ทุกอย่าง หรือคนที่เดินทางไปรับยาที่โรงพยาบาลแล้วกลับบ้าน ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตข้างนอก จะหายช้ากว่าคนที่ทางเลือกน้อยหรือไม่มีทางเลือกเลย
โรคกลัวสังคม
สร้างกำลังใจให้ตัวเอง
อย่าคิดว่าตัวเองเจอกับเรื่องที่แย่ที่สุดแล้ว เพราะคนป่วยเป็นโรคกลัวสังคมยังโชคดีกว่าคนจำนวนมากที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคเอดส์ ธาลัสซีเมีย หรือพิการแขนขาขาด เพราะบางโรคไม่สามารถรักษาได้ ผู้ป่วยโรคกลัวสังคมที่มีใจสู้ มุ่งมั่น ผลักดันตัวเองสูง อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อออกไปใช้ชีวิตกับสังคมภายนอกสามารถรักษาให้หายได้ในเวลาไม่นาน
ทำต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ผู้ป่วยต้องมุ่งมั่น มีวินัยในระหว่างการรักษา ต้องพยายามลดทางเลือกและผลักตัวเองออกจากกรอบที่เคยอยู่ ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงตัวเองทีละน้อย ทำทีละเรื่อง เริ่มทำเรื่องเล็ก ๆ ก่อนแล้วค่อยแก้ไขเรื่องใหญ่ ๆ ทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพราะในมุมมองของนักจิตวิทยา การเปลี่ยนแปลงในทันทีหรือการหักดิบให้ผลสำเร็จเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
โรคกลัวสังคมเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยอย่างคาดไม่ถึง ความเข้าใจและช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยวิธีที่ถูกต้องจะช่วยทำให้เขากลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง