พระท่านสอนว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” ดังนั้น เวลามีปัญหาสุขภาพจิตเสีย เช่น มีความเครียด มีอาการซึมเศร้า ท้อแท้ ปัญหาบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย ทักษะในการปรับตัว สิ่งแวดล้อม และวิถีการดำเนินชีวิต ก็จะทำให้เกิดอาการทางกายขึ้น
เวลาผู้ป่วยมาหาแพทย์ก็จะมาบอกเล่าประวัติความเจ็บป่วยด้วยอาการทางกาย เช่น ปวดหัวเรื้อรัง ปวดหลังเรื้อรัง หายใจไม่เต็มอิ่ม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ใจสั่น ปวดท้อง ท้องเสียเป็นประจำ นอนไม่หลับ ความดันสูงขึ้น หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ อาการเจ็บหน้าอก โรคในกลุ่มนี้ ทางการแพทย์เรียกว่า Psychosomatic diseases ภาษาไทยยังไม่มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ อาจจะเรียกว่า “โรคทางกายที่เกิดจากจิต” ก็ได้ โรคในกลุ่มนี้เกิดขึ้นได้ในหลายระบบของร่างกาย ที่พบบ่อย เช่น
1. ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคการเต้นของหัวใจผิดปกติ บางชนิด
2. ระบบหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ไข้ละอองฟาง
3. ระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้แปรปรวน โรคอ้วน โรคเบื่ออาหาร
4. ระบบกล้ามเนื้อ กระดูก ข้อ เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ อาการปวดหลังเรื้อรัง ปวดศีรษะแบบไมเกรน และปวดศีรษะจากความเครียด ปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อต่างๆ เรื้อรังโดยไม่สามารถระบุตำแหน่งได้แน่นอน
5. โรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคลมพิษเรื้อรัง โรคคันตามผิวหนังเรื้อรัง โรคสะเก็ดเงิน
6. โรคระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคไทรอยด์ทำงานมากเกินไป โรคเบาหวาน โรคฮอร์โมนแปรปรวนในสตรี
7. โรคระบบปัสสาวะ เช่น โรคกระเพาะปัสสาวะไวเกิน
โรคเหล่านี้เป็นโรคเรื้อรัง ที่พบทั่วไปในชีวิตประจำวัน เป็นโรคส่วนใหญ่ที่นำคนไข้มาหาแพทย์ โรคเหล่านี้มีปัจจัยทางจิต เช่น เรื่องของความเครียด ความวิตกกังวล เป็นส่วนสำคัญ ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น วิถีชีวิตการกินอาหาร แป้ง น้ำตาลมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย นอนดึกเป็นประจำ เป็นต้น
เมื่อตรวจร่างกายแล้ว ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยพบความผิดปกติใดๆ โรคเหล่านี้เมื่อแพทย์รักษาตามอาการโดยจ่ายยาให้ เป็นยาแก้ปวด ยาคลายเครียด วิตามิน ยาลดความดัน เป็นต้น
คนไข้กลุ่มหนึ่งจะกินยาตามสั่งแล้วอาการต่างๆก็จะหายไป พอที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ แต่ต้องกินยาทุกวัน ถ้าไม่กินยาอาการก็กลับเป็นขึ้นมาอีก จึงต้องกินยาตลอดไป รักษาไม่หายขาด การรักษาไปนานๆหลายปีเข้าก็จะเริ่มเบื่อหน่าย ไม่อยากกินยา และมักจะคิดว่า “หมอเลี้ยงไข้” ซึ่งผู้เขียนได้ยินมาเสมอๆ
ส่วนคนไข้อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคนที่มีการศึกษาดี จะไม่ยอมกินยา เพราะรู้ว่าหมอจ่ายยาคลายเครียดให้ และไม่ยอมรับว่า ตนเองเครียด แต่คิดว่าตนเองเป็นโรคทางกาย คนไข้กลุ่มนี้รักษายากและมักรักษาไม่ได้ผลดี แม้หมอจะพยายามอธิบายว่า โรคนี้เกิดจากความเครียด เช่น โรคลำไส้แปรปรวน เพราะคนไข้มาด้วยอาการปวดท้อง ท้องเสีย แต่คนไข้ไม่ยอมรับ จนบางครั้งต้องถูกนำไปส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ซึ่งก็จะไม่พบว่ามีความผิดปกติใดๆ
อย่างไรก็ตาม คนไข้เหล่านี้มักจะมีโรคหลายระบบ ผ่านการตรวจจากแพทย์หลายคน และต้องโดนตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง ต้องโดนส่องตรวจในกระเพาะอาหาร ลำไส้ คนไข้บางรายใช้เวลาตั้งแต่หนุ่มสาวจนเข้าวัยสูงอายุ ตรวจมาแล้วทุกระบบ ไม่พบความผิดปกติใดๆ แต่โรคก็ยังเหมือนเดิม คนไข้จึงเกิดความวิตกกังวล จะย้ำคิดวนเวียนไปมา คิดถึงแต่ความเจ็บป่วยของตัวเอง เสียทั้งเงินทองและเวลา สุขภาพก็เสื่อมโทรมลง
ทั้งๆที่โดยความเป็นจริงแล้ว โรคในกลุ่มนี้ แพทย์ยังไม่มีวิธีที่จะรักษาให้หายขาดได้ แต่ให้ยาตามอาการพอประคับประคองไว้เท่านั้น ซึ่งโรคในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มโรคที่น่าเบื่อหน่ายทั้งคนไข้และแพทย์ แต่ก็ต้องเจอกับมันเป็นประจำทุกวัน
สำหรับในเรื่องนี้ มีแพทย์แผนปัจจุบันท่านหนึ่ง ที่สนใจและศึกษาโรคในกลุ่มนี้มาก คือ นพ.โรนัล ดี ซีเกล (Ronald D. Siegel) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ศึกษาโรคในกลุ่มนี้พบว่า ความเครียดเรื้อรังในการดำเนินชีวิต มีผลกระทบทำให้เกิดโรคทางกายขึ้น
ท่านได้ใช้การเจริญสติเป็นเครื่องมือบำบัดโรคในกลุ่มนี้ พบว่า การเจริญสติช่วยให้โรคกลุ่มนี้หายขาดได้ ไม่ต้องกินยาอีกต่อไป โดยท่านได้เขียนไว้ในหนังสือ ชื่อ Mindfulness for Anxiety จัดพิมพ์โดยสมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา
ในอเมริกามีคนไข้โรคปวดหลังเรื้อรังไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีความเครียดในชีวิตประจำวันเป็นเวลานาน ความเครียดทำให้กล้ามเนื้อมีความตึงตัวมากเกินไป ทำให้มีอาการปวดหลังทุกวัน ผู้ป่วยมักจะผ่านการรักษาจากแพทย์หลายราย รักษากับแพทย์คนนี้ไม่หาย ก็รักษาแพทย์คนใหม่ไปเรื่อยๆ ได้รับทั้งยากิน หรือฉีดยาสเตียรอยด์เข้ากล้ามเนื้อหลัง ซึ่งก็ได้ผลชั่วคราว ไม่หายขาด ผู้ป่วยจึงทนทุกข์ทรมานอยู่หลายปี
การเจริญสติจะช่วยลดความเครียดลง พร้อมกับสร้างความผ่อนคลายให้กล้ามเนื้อ การเจริญสติทุกๆวันจึงช่วยให้โรคหายขาดได้ เพราะโรคเหล่านี้เกิดจากจิตจึงต้องแก้ที่จิต ไม่สามารถจะรักษาให้หายขาดได้ด้วยยา การกินยาเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุซึ่งไม่ถูกจุดนั่นเอง ซึ่งคุณหมอซีเกลใช้การเจริญสติรักษาโรคปวดหลังเรื้อรังและได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือชื่อ Back Sense
นอกจากจะเป็นจิตแพทย์แล้ว นพ.โรนัล ซีเกล ยังได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมแบบพุทธมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 ปี มีความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเจริญสติเป็นอย่างดี
ท่านได้นำวิธีการเจริญสติมาใช้ในการทำจิตบำบัดให้ผู้ป่วยที่มีโรคทางกายซึ่งเกิดจากความเครียด โดยจัดทำโปรแกรม สอนให้บุคลากรทางการแพทย์ สอนเจริญสติบำบัดแก่ผู้ป่วย และท่านยังเป็นวิปัสสนาจารย์สอนจิตตภาวนาแก่ประชาชนทั่วไปด้วย
ท่านได้เขียนหนังสือเผยแพร่ไว้หลายเล่ม เช่น The Mindfulness Solution, Back Sense, Mindfulness and Psychotherapy, Wisdom and Compassion in Psychotherapy, Mindfulness for Anxiety.
ปัจจุบัน นพ.โรนัล ซีเกล เป็นกรรมการสถาบันจิตตภาวนาและจิตบำบัด (Institute for Meditation and Psychotherapy) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนไม่แสวงหากำไร ทำงานสอนการเจริญสติแก่บุคลากรทางการแพทย์ด้านสุขภาพจิต เพื่อสร้างนักเจริญสติบำบัดในการให้บริการแก่สังคม
สำหรับข้อมูลของ นพ.โรนัล ซีเกล สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.meditationandpsychotherapy.org) และ www.mindfulness-solution.com และฟังคำบรรยายใน www.youtube.com/Mindfulness Practices Ronald Siegel.
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 170 กุมภาพันธ์ 2558 โดย นพ.แพทย์พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ)