เชียงราย - โรงเรียนวาวีวิทยาคม เชียงราย บนดอยตั้งธนาคารขยะแก้ล้นดอยไม่มีแหล่งกำจัดโดยมี ศยส.สนับสนุนเป็นพี่เลี้ยงจัดตั้งทำโครงการจน ได้รับความสำเร็จขยะหายไปในพริบตา
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า ที่โรงเรียนวาวีวิทยาคม ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 36 ตั้งอยู่บนเทือกเขาบนดอยวาวี ได้มีกิจกรรมที่ช่วยลดปัญหาขยะภายในโรงเรียนได้อย่างน่าสนใจ
โดยคณะกรรมการนักเรียน ได้ร่วมกับศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาผู้นำเยาวชนเพื่อสังคมเชียงราย (ศยส.) ทำการจัดตั้งธนาคารขยะโรงเรียนวาวีวิทยาคมขึ้น เพื่อจัดการกับปัญหาขยะภายในโรงเรียนดังกล่าว นอกจากนี้ เป็นการปูพื้นฐานให้แก่นักเรียนในการเข้าไปแก้ไขปัญหาขยะในชุมชนบนดอยวาวี ซึ่งกำลังจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตอีกด้วย
นางณัชชาพัชร์ พันธุ์นิติภูมิ ผู้อำนวยการโรงเรียนวาวีวิทยาคม กล่าวว่า โรงเรียนวาวีวิทยาคม ทำการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ปัจจุบันมีนักเรียน จำนวน 597 คน โดยนักเรียนมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ หรือมาจากหลายเผ่าบนพื้นที่สูง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ก็ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องขยะ แต่เนื่องจากในปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป โดยดอยวาวีมีประชากรหนาแน่นขึ้น และมีสิ่งอำนวยความสะดวกรวมทั้งนักท่องเที่ยวไปเยือน ทำให้เกิดปัญหาขยะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และไม่มีสถานที่กำจัดขยะถาวรขึ้นมาจนสามารถสังเกตเห็นการนำขยะไปทิ้งตามจุดต่างๆ ริมถนนบางจุด
สำหรับภายในโรงเรียนก็พบว่า มีปริมาณขยะในห้องเรียนมาก และตามปกติจะมีการรวบรวมลงถังขยะก่อนนำใส่ถุงเพื่อรอรถเก็บขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับไปจัดการตามขั้นตอนต่อไป
แต่เนื่องจากทางโรงเรียนต้องการจะช่วยแบ่งเบาปัญหาสังคมดังกล่าว และสร้างจิตสำนึกและทักษะการอยู่ในสังคมให้นักเรียนได้ร่วมจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้ร่วมกับทาง ศยส.ในการตั้งธนาคารขยะดังกล่าวซึ่งสามารถจัดการปัญหาขยะในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี โดยจากเดิมเคยมีปัญหาขยะเรี่ยราดทั่วไป หรือเต็มหลังห้องเรียนก็เริ่มหมดไปอย่างรวดเร็ว
นายอุดมเดช ดวงแก้ว ผู้อำนวยการ ศยส.เชียงราย กล่าวว่า วิธีการดำเนินโครงการคือ จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดค้นหาวิธีการพัฒนา หรือจัดการปัญหาภายในโรงเรียนด้วยตัวเองก่อน เมื่อพวกเขารู้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับขยะก็ได้ร่วมกับ ศยส.ในการจัดตั้งเป็นธนาคารขยะขึ้น โดยนักเรียนบริหารจัดการด้วยตัวเอง โดยมี ศยส.เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งโครงการนี้โชคดีที่ผู้บริหารโรงเรียนให้ความสำคัญจึงจัดหาสถานที่ให้ทางคณะกรรมการนักเรียนจึงตั้งเจ้าหน้าที่ประจำธนาคารขึ้น
เมื่อถึงเวลาตั้งแต่ 12.00-13.00 น.ก็จะเปิดให้นักเรียนแต่ละห้องเรียนนำขยะใส่ถุงพลาสติกไปจำหน่ายให้ธนาคาร โดยเน้นเฉพาะขยะประเภทพลาสติก และกระดาษเป็นหลัก ธนาคารก็จะจัดเป็นแผนกๆ โดยมีฝ่ายตรวจคัดแยก ฝ่ายชั่งน้ำหนัก และนำไปจัดเก็บเอาไว้ และฝ่ายจดบันทึกข้อมูลผู้นำขยะไปจำหน่ายดังกล่าว หลังจากนั้น จะมีการไปติดต่อกับโรงคัดแยกรับซื้อขยะภายนอก
“จากนั้นติดต่อจำหน่ายเมื่อได้รับเงินมาแล้วก็จะนำไปจ่ายให้แก่ผู้นำขยะไปจำหน่ายตามข้อมูลที่บันทึกเอาไว้ดังกล่าวต่อไป เบื้องต้น มีการกำหนดให้ผู้จำหน่ายเป็นตัวแทนของห้องเรียนต่างๆ เมื่อได้รับเงินจากการซื้อขายขยะก็นำไปเป็นเงินกองทุนประจำห้องเรียนต่อไป ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ศยส.ร่วมโครงการในลักษณะนี้กับโรงเรียนต่างๆ ใน จ.เชียงราย จำนวน 10 แห่ง โดยแต่ละแห่งมีโครงการที่แตกต่างกันไป” นายอุดมเดช กล่าว