xs
xsm
sm
md
lg

ทุกขลาภการเป็นหนี้ : ทุกข์ที่หลีกเลี่ยงได้

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ความจนเป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า เป็นอย่างนั้นพระเจ้าข้า จึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย คนจนไม่มีทรัพย์ของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ยอมกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนกู้หนี้แล้ว ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย แม้การเสียดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ได้ดอกเบี้ยตามกำหนด ก็ถูกเขาทวง แม้การถูกเขาทวงก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

คนจนถูกตามตัวไม่ให้เขา ย่อมถูกจองจำแม้การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนก็ดี การกู้หนี้ก็ดี การเสียดอกเบี้ยก็ดี การถูกทวงก็ดี การถูกตามตัวก็ดี การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม” นี่คือคำสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย

โดยนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า ความจนเป็นทุกข์ และการก่อหนี้อันเป็นสืบเนื่องมาจากความจนก็เป็นทุกข์ อันเนื่องมาจากการเป็นหนี้แล้วต้องเสียดอกเบี้ย ครั้นไม่จ่ายดอกเบี้ยตามกำหนดก็จะถูกเจ้าหนี้ทวง ทวงแล้วยังไม่ให้ก็จะถูกตามจับตัวและถูกจองจำ ทั้งหมดนี้คือทุกข์อันเกิดจากความยากจนและการกู้หนี้

จากสัจธรรมที่ว่า การกู้หนี้เป็นทุกข์ คนไทยในปัจจุบันเป็นทุกข์จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นหนี้เนื่องจากความยากจน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายย่อยไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ดินจากนายทุนได้ผลผลิตมาก็ไม่พอที่จะขายเพื่อนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัว และจ่ายค่าเช่าที่ดิน การทำเกษตรกรรมในแต่ละฤดูกาลผลิตจึงต้องกู้หนี้ และส่วนใหญ่จะเป็นการกู้ยืมทั้งในระบบคือจาก ธ.ก.ส.ควบคู่ไปกับการกู้นอกระบบ

ดังนั้น เมื่อถึงหน้าเก็บเกี่ยวผลผลิต เจ้าหนี้นอกระบบก็มารอรับเงินคืน ณ จุดขายผลผลิต จึงไม่มีเงินเหลือหรือเหลืออยู่น้อยไม่เพียงพอแม้แต่จะจ่ายหนี้คืน ธ.ก.ส.ทำให้ต้องค้างจ่าย และที่สำคัญไม่มีเหลือไว้กินไว้ใช้จึงต้องกู้หนี้นอกระบบต่อไป วนเวียนอยู่เช่นนี้ไม่มีวันจบสิ้นดังนี้

1. ผู้ใช้แรงงานในระดับล่าง รวมไปถึงข้าราชการหรือพนักงานของรัฐระดับล่าง ซึ่งมีรายได้น้อยเมื่อเทียบกับรายจ่ายที่ต้องแบกรับในการดำรงชีพ จึงจำเป็นต้องเป็นหนี้ในรูปแบบต่างๆ มีตั้งแต่กู้ยืมนอกระบบ บัตรเครดิต เล่นแชร์เพื่อหมุนเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในลักษณะใช้หนี้เก่า และกู้หนี้ใหม่หมุนเวียนกันไปเดือนต่อเดือน ไม่มีโอกาสว่างเว้นจากการเป็นหนี้

2. ผู้มีรายได้ปานกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมนุษย์เงินเดือน ทั้งในภาครัฐและเอกชนมีรายได้เพียงพอเลี้ยงตนเองและครอบครัว แต่ไม่มีเหลือมากพอจะซื้อของราคาแพง เช่น บ้าน รถยนต์ หรือแม้กระทั่งเครื่องใช้อำนวยความสะดวกในครัวเรือน เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เป็นต้น จึงต้องซื้อของด้วยระบบเงินผ่อน ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราคงที่บวกกับราคาขายด้วยเงินสด โดยแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ เป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์แล้วแต่ตกลงกันกับผู้ขาย

3. ผู้มีรายได้ดีอยู่ในฐานะร่ำรวย แต่ต้องการลงทุนทำธุรกิจในวงเงินจำนวนมากจึงต้องกู้หนี้เพื่อการลงทุน โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คนกลุ่มนี้ไม่เป็นทุกข์ถ้าธุรกิจที่ลงทุนมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาจ่ายเงินกู้ทั้งต้นและดอกเบี้ยตามที่กำหนด แต่ถ้ารายได้ไม่เป็นตามที่คาดการณ์ไว้ เมื่อเจ้าหนี้ทวงและอาจจบลงด้วยการฟ้องร้องเพื่อบังคับคดีให้ผู้กู้ต้องจ่ายคืน และถ้าจ่ายคืนไม่ได้ ก็ต้องจบลงด้วยการยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดนำเงินมาใช้หนี้ และส่งผลให้ลูกหนี้ล้มละลายให้เครดิตทำนิติกรรมใดๆ ทางด้านการเมืองไม่ได้ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

โดยสรุป การเป็นหนี้ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ถ้าผิดเงื่อนไขการกู้ก็เป็นทุกข์พอๆ กัน ด้วยเหตุนี้จึงสรุปได้ว่า การกู้หนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ส่วนจะเป็นทุกข์ด้วยเหตุใด ตามที่ระบุไว้ในพุทธพจน์ เช่น การเสียดอกเบี้ยและการถูกจองจำ เป็นต้น ขึ้นอยู่กับภาวะของผู้กู้ และเงื่อนไขการกู้เป็นสำคัญ

เมื่อศาสนาพุทธสอนว่า การกู้หนี้เป็นทุกข์ และคนไทยส่วนใหญ่ก็เป็นพุทธมามกะ ทำไมจึงไม่งดเว้นจากการกู้หนี้

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ตอบได้ไม่ยากเพียงแต่ย้อนไปดูจำนวนคนไทยที่เข้าวัด และนำคำสอนของพุทธไปปฏิบัติ ก็จะพบคำตอบดังต่อไปนี้

1. ในปัจจุบันคนไทยเข้าวัดน้อยลง และจำนวนน้อยที่เข้าวัดนี้ ส่วนใหญ่ก็มิได้เข้าวัดเพื่อศึกษาคำสอนแล้วนำไปปฏิบัติ แต่เข้าวัดเพื่อทำบุญตามประเพณีบ้าง เข้าวัดเพื่อไปหาหมดดูบ้าง เข้าวัดเพื่อวัตถุมงคลที่จะทำให้ตนร่ำรวย ค้าขายดีมีกำไร และปลอดภัยจากอุบัติเหตุ เป็นต้น

ส่วนที่เข้าวัดแล้วศึกษาคำสอนเพื่อนำไปเป็นแนวทางดำรงชีวิตมีอยู่น้อย ในจำนวนที่น้อยอยู่แล้ว

ดังนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้คฤหัสถ์ขยันหาทรัพย์ และเก็บสะสมจากน้อยไปหามากเหมือนตัวผึ้งที่ขยันหาน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ แม้มีน้อยและสะสมจนมากเป็นรวงผึ้งได้ และในขณะเดียวกัน ประหยัดโดยยึดหลักโภควิภาคคือการแบ่งทรัพย์ที่หามาได้เป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน แล้วให้ใช้ 1 ส่วนหรือเท่ากับ 25% เพื่อเลี้ยงดูตนเอง และครอบครัวตลอดถึงคนใกล้ชิด 2 ส่วนหรือ 50% เพื่อลงทุนประกอบกิจการงาน และ 1 ส่วนหรือ 25% สุดท้ายให้เก็บออมไว้ใช้ในคราวจำเป็น จึงไม่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นตัวอย่างในสังคมไทย ทั้งๆ ประเทศที่ประชากรเกือบ 90% นับถือพุทธ

2. ในปัจจุบันการศึกษาของไทยถูกอิทธิพลทางวิชาการจากโลกตะวันตก ซึ่งมีรากเหง้ามาจากลัทธิวัตถุนิยมครอบงำ จึงทำให้คนไทยถูกความอยากมีอยากเป็นครอบงำ ทำให้มีความต้องการในสิ่งที่ตนเองต้องการ ด้วยการเป็นหนี้เพื่อการได้มาเข้าข่ายรสนิยมสูง แต่รายได้ต่ำ ดังจะเห็นได้จากการซื้อของด้วยเงินผ่อน และการใช้บัตรเครดิต เป็นต้น

3. นโยบายประชานิยมจากภาครัฐที่จัดหาแหล่งทุนเพื่อการกู้ยืมแก่คนยากจน เพื่อหวังเพิ่มกำลังซื้อให้แก่คนจนมีเงินซื้อสินค้าจากผู้ผลิต หรือนำเข้าสินค้า ขายสินค้าได้เป็นการสร้างงาน และรายได้เข้าประเทศในรูปของภาษี ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเท่านั้นเท่านี้เท่าของจีดีพี

นโยบายในทำนองนี้ ก็มีส่วนให้คนไทยเป็นหนี้ ซึ่งมีส่วนช่วยให้คนไทยเป็นทุกข์เพิ่มขึ้นจากการเป็นหนี้เพิ่ม ทั้งๆ ที่เขาหลีกเลี่ยงได้โดยการประหยัด และพึ่งพาตนเองในทางด้านเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น