xs
xsm
sm
md
lg

ทุนนิยมและบริโภคนิยม : บ่อเกิดการเป็นหนี้

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในสมัยโบราณ เมื่อประมาณ 2,500 กว่าปีมาแล้ว ความยากจนเป็นเหตุให้เกิดการเป็นหนี้ ดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย 1. คนจนไม่มีทรัพย์เป็นของตนเอง ไม่มั่งคั่ง ย่อมกู้หนี้แม้การกู้ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

“คนจนกู้หนี้แล้ว ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย แม้การเสียดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม” “คนจนที่จะต้องเสียดอกเบี้ย ไม่ให้ดอกเบี้ยตามกำหนด ก็ถูกเขาทวง แม้การถูกทวงก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม”

“คนจนถูกทวงไม่ให้เขา ก็ถูกตามตัว แม้การถูกตามตัว ก็เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม” “คนจนถูกตามตัว ไม่ให้เขา ย่อมถูกจองจำ แม้การถูกจองจำก็เป็นในโลกของผู้บริโภคกาม”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความจนก็ดี การกู้หนี้ก็ดี การเสียดอกเบี้ยก็ดี การถูกทวงก็ดี การถูกตามตัวก็ดี การถูกจองจำก็ดี เป็นทุกข์ในโลกของผู้บริโภคกาม ด้วยประการฉะนี้”

ตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังกล่าวข้างต้น ความจนเป็นทุกข์ และเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ตามมาอีก 5 ประการ มีการกู้หนี้ เป็นต้น และจากคำสอนข้อนี้ อาจทำให้ท่านผู้อ่านเกิดข้อสงสัยอันเป็นเหตุให้เกิดคำถาม 2 ประการดังต่อไปนี้

1. ในยุคพุทธกาล ได้มีเพียงคนจนเท่านั้นหรือที่เป็นหนี้ หรือว่ามีคนรวยเป็นหนี้ด้วย เฉกเช่นทุกวันนี้ เพียงแต่คนรวยเป็นหนี้แล้วไม่เดือดร้อน อันเกิดจากทุกข์ 5 ประการที่ตามมา เนื่องจากคนรวยมีศักยภาพในการจ่ายดอกเบี้ยตามกำหนด

2. และถ้าคนรวยไม่กู้หนี้ และไม่เป็นทุกข์อะไรเป็นเหตุให้คนรวยในสมัยโบราณไม่กู้หนี้ เฉกเช่นในปัจจุบัน

จากคำถาม 2 ประการนี้ พอจะหาคำตอบได้โดยอนุมานจากเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

ถ้าพิจารณาจากคำว่า คนจนกู้หนี้แล้วจะต้องเสียดอกเบี้ย และถ้าไม่เสียตามกำหนดก็จะถูกทวง ก็จะได้คำตอบว่า คนรวยในยุคนั้นไม่กู้หนี้ เพราะถ้ากู้ก็ย่อมจะต้องเสียดอกเบี้ย เช่นเดียวกับคนจน หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าคนรวยกู้หนี้และเสียดอกเบี้ย ก็จะไม่เป็นทุกข์ เพราะการไม่จ่ายดอกเบี้ยตามกำหนด เนื่องจากคนรวยมีเงินจ่ายดอกเบี้ย แต่ถ้าจะให้ชี้ชัดลงไป คนรวยกู้หนี้หรือไม่ คงจะตอบแบบยืนกระต่ายขาเดียวคือ ไม่กู้หนี้เพราะถ้ากู้ ก็จะต้องเสียดอกเบี้ย และการเสียดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์

แต่คนรวยในยุคนั้นไม่เป็นทุกข์จากการเสียดอกเบี้ย ในทางตรงกันข้ามกับคนรวยหรือที่เรียกว่า เศรษฐีในยุคนั้นก็คือ ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้มากกว่า และที่ไม่กู้หนี้เนื่องจากในยุคนั้นไม่มีระบบทุนนิยม และบริโภคนิยมมาครอบงำเช่นในปัจจุบันนี้นั่นเอง

แต่ในปัจจุบัน การกู้หนี้มิได้เกิดจากความจนเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากความอยากรวยเพิ่มขึ้นกว่าเดิม และความอยากรวยเพิ่มนี้เองคือเหตุให้คนรวยเป็นหนี้

ส่วนเป็นหนี้แล้วจะเป็นทุกข์ ดังที่เกิดขึ้นกับคนจนหรือไม่ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย 2 ประการคือ เงื่อนไขในการกู้ และศักยภาพในการจ่ายดอกเบี้ย และใช้คืนเงินต้น

ถ้าเงื่อนไขในการกู้เอื้ออำนวยต่อการลงทุน เช่น ดอกเบี้ยถูก และเป็นเงินกู้ที่ปราศจากดอกเบี้ยในระยะแรก โอกาสที่ผู้กู้จะเดือดร้อนจากการเป็นหนี้ ก็ไม่มีหรือมีก็น้อยเมื่อเทียบกับการกู้หนี้ของคนจนที่กู้มากินมาใช้ มิได้กู้มาเพื่อการลงทุน เพราะโอกาสที่จะจ่ายดอกเบี้ยและใช้คืนเงินต้นตามกำหนดเป็นไปได้ยาก

แต่อย่างไรก็ตาม การเป็นหนี้ไม่ว่าผู้กู้จะเป็นคนจนหรือคนรวย โอกาสที่จะเดือดร้อนจากการเป็นหนี้เกิดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศและของโลกซบเซา ดังที่เป็นอยู่ในเวลานี้

การเป็นหนี้ของคนจนในประเทศไทย ได้เริ่มขึ้นเมื่อไหร่ไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่พออนุมานได้จากการใช้ภาษา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเป็นหนี้ เช่น คำว่า ทาสในเรือนเบี้ย และคำว่า ทำงานขัดดอก ก็พอจะบอกได้ว่าเกิดขึ้นพร้อมๆ กับระบบทาสในประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากมีคำว่า ทาสในเรือนเบี้ย ซึ่งหมายถึงลูกของทาสซึ่งถูกนำตัวมาใช้ทำงานแทนดอกเบี้ยที่เรียกว่า ทำงานขัดดอก

จากการอนุมานจากการใช้ภาษาดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า การเป็นหนี้อันเกิดขึ้นจากความยากจนได้เกิดขึ้นในสังคมไทยมานานแล้ว และยังอยู่ถึงปัจจุบัน ทั้งมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในจำนวนผู้กู้ และความโหดเหี้ยมในการทวงหนี้ของผู้ให้กู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้นอกระบบ

อนึ่ง ในปัจจุบันการเป็นหนี้ของผู้คนในสังคมไทย มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มคนจน เฉกเช่นในยุคโบราณ คนที่มีรายได้ปานกลางหรือที่เรียกว่า พออยู่พอกินไปจนถึงผู้ที่มีรายได้ดี หรืออาจเรียกได้ว่าเหลือกินเหลือใช้ ร่ำรวยอยู่ในขั้นเศรษฐีก็เป็นหนี้ เพียงแต่การเป็นหนี้ของคนกลุ่มนี้ มิได้เกิดจากความยากจน แต่เกิดจากความฟุ่มเฟือย และอยากรวยเพิ่ม ประกอบกับการวิ่งไล่ความอยากส่วนเกิน เพื่อสนองความต้องการส่วนเกิน เพื่อความสะดวกสบาย และขยายสถานะทางสังคมให้ห่างจากคนจน เพื่อศักดิ์ศรีของความเป็นคนในโลกของผู้บริโภคกาม ดังจะเห็นได้จากมนุษย์เงินเดือน ซึ่งมีรายได้พอกินพอใช้ ไม่จำเป็นต้องกู้หนี้ ถ้าไม่วิ่งไล่ความอยากอันเกิดจากลัทธิบริโภคนิยมตามแนวตะวันตก แต่ก็เลือกที่จะเป็นหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนี้จากการซื้อของด้วยเงินผ่อน เช่น บ้าน รถยนต์ และเครื่องอำนวยความสะดวก เช่น ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น และที่ยิ่งกว่านี้ การเป็นหนี้ได้เกิดขึ้นแม้กระทั่งในหมู่คนรวย มีรายได้เหลือเก็บเหลือใช้ แถมมีเก็บไว้ให้ลูกหลาน แต่ก็ยอมเป็นหนี้เพื่อให้รวยเพิ่มขึ้น ด้วยการกู้หนี้มาเพื่อการลงทุนทำธุรกิจเพื่อกอบโกยกำไร ตามแนวทางของทุนนิยม

วันนี้และเวลานี้ การเป็นหนี้ส่อเค้าจะเป็นเหตุให้บรรดาลูกหนี้เป็นทุกข์ เนื่องจากไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ย และไม่สามารถใช้คืนเงินต้นตามกำหนด เนื่องจากเศรษฐกิจโลกถดถอย และเป็นเหตุให้การส่งออกของประเทศไทยลดลง ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายขาดทุนถึงกับต้องปิดกิจการ หรือไม่ก็ถูกฟ้องร้องล้มละลาย เนื่องจากไม่สามารถใช้หนี้เงินกู้ได้ แถมตลาดในประเทศก็ซบเซา เนื่องจากไม่มีกำลังซื้อ

ถึงแม้ว่ารัฐบาลในขณะนี้ได้พยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งตกต่ำและย่ำแย่ติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีก่อนหน้านี้

แต่มาตรการหลายๆ ประการที่ได้ดำเนินไป ยังไม่บังเกิดผลเท่าที่ควรจะเป็น ยิ่งกว่านี้บางมาตรการ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้คนจนเข้าถึงแหล่งทุนด้วยการกู้หนี้ เช่น กองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อ และทำให้ผู้ประกอบการสินค้า ขายสินค้ากับคนกลุ่มนี้ได้เป็นการช่วยให้ผู้ผลิต และผู้นำเข้าสินค้าอยู่รอด และเป็นการทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น เพื่อให้ภาพรวมเศรษฐกิจดูดี แต่ในขณะที่ถ้ามองไปที่คนจนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ก็เท่ากับทำให้คนจนเป็นทุกข์เพิ่มนั่นเอง และการเป็นหนี้เพิ่มของคนจน จะเปิดโอกาสให้นักการเมืองในระบบเลือกตั้งนำไปหาเสียงด้วยนโยบายพักหนี้ให้คนจนได้อีกทางหนึ่งโดยไม่ตั้งใจด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น