ปัจจุบัน กระแสของการเป็นนักลงทุนเต็มเวลา (Full-Time Investor) เริ่มเป็นกระแสที่มาแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่มีนักลงทุนบางกลุ่มที่สามารถสร้างผลตอบแทนในตลาดหุ้นได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจนตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเป็นนักลงทุนเต็มเวลา เพราะต้องการมีทั้งรายได้ และเวลาว่าง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่ามนุษย์เงินเดือนทุกคนจะสามารถเป็นนักลงทุนเต็มเวลาได้ หลายคนที่ออกจากงานประจำมาก็ต้องกลับไปทำงานอีกครั้งเพราะไม่ประสบความสำเร็จ ก่อนที่จะตัดสินใจออกมาเป็น Full-Time Investor จึงควรตรวจสอบตัวเองก่อนเพื่อให้มั่นใจว่าพร้อมแล้วที่จะเป็นนักลงทุนอาชีพอย่างเต็มตัว โดยมีหัวข้อในการตัดสินใจดังนี้
หนึ่ง...นักลงทุนเต็มเวลาอาจไม่ได้มีอิสรภาพเรื่องเวลาเสมอไป ในช่วงที่เป็นมนุษย์เงินเดือนปกติเราอาจจะศึกษาหุ้นที่จะลงทุนในช่วงหลังเลิกงานใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่หากเราเป็นนักลงทุนเต็มเวลาแล้วย่อมต้องใช้เวลาในการมองหาหุ้นที่จะลงทุนมากขึ้น และหากเป็นนักลงทุนที่เก็งกำไรระยะสั้นอาจต้องจ้องหน้าจอซื้อขายตลอดทั้งวัน เท่ากับว่าชีวิตประจำวันต้องอยู่กับตลาดหุ้นมากขึ้น สิ่งที่เราต้องถามตัวเองก่อนคือ พร้อมไหมที่จะทุ่มเวลาให้แก่ตลาดหุ้นเต็มตัวหรือไม่ซึ่งท้ายสุดแล้วเราอาจจะไม่มีเวลาว่างมากอย่างที่คิดก็ได้
สอง..ความพร้อมในการเอาตัวรอดในตลาดหุ้นขาลง ภาวะที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นทุกคนที่ลงทุนย่อมมีโอกาสได้ผลตอบแทนเป็นบวกทั้งหมด แต่ในภาวะที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง หรือไซด์เวย์ติดต่อกันเป็นเวลานานโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่องย่อมน้อยกว่าตลาดขาขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนักลงทุนเต็มเวลาจะสามารถหารายได้เลี้ยงดูตัวเองได้หรือไม่ การที่จะสร้างผลตอบแทนในช่วงตลาดขาลง หากไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ที่สามารถยืมหุ้นมาขายล่วงหน้า (SBL) ได้ จำเป็นต้องศึกษาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถลงทุนได้ในทุกสภาวะตลาด เช่น ตราสารอนุพันธ์ หรือ Derivertive Warrant ซึงมีความซับซ้อนสูง ก่อนที่จะออกมาเป็นนักลงทุนเต็มเวลาจึงต้องประเมินตัวเองด้วยว่าพร้อมหรือยังต่อการอยูรอดในภาวะที่ตลาดหุ้นไม่อำนวย
สาม..ความพร้อมด้านการเงิน ถือเป็นปัจจัยในการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดก่อนจะออกมาเป็นนักลงทุนเต็มเวลา เพราะหากไม่มีความพร้อมด้านการเงินแล้วอาจทำให้เกิดภาวะตึงเครียดในการลงทุน เนื่องจากกังวลว่าต้องสร้างรายได้ให้อย่างต่อเนื่องจนอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นได้ ทั่วไปแล้วผู้ที่ต้องการออกมาลงทุนเต็มเวลาควรที่จะมีเงินเก็บสำรองเพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตได้ 1-2 ปี โดยไม่มีรายได้เข้ามาเลย ไม่เพียงเท่านี้ยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ภาระผ่อนหนี้ต่างๆ ค่าเลี้ยงดูบุตร และพ่อแม่ เงินเก็บฉุกเฉิน รวมถึงเงินเก็บเพื่อการเกษียณในอนาคต ฯลฯ ก่อนที่จะออกมาลงทุนเต็มตัวจึงควรมีความพร้อมทางด้านการเงินในระดับหนึ่งก่อนที่จะออกจากงานประจำ
สี่..ความพร้อมในด้านทักษะฝีมือ หลายครั้งที่นักลงทุนมือใหม่ที่สามารถสร้างผลตอบแทนในตลาดหุ้นได้ภายในเวลาสั้นๆ จนเกิดความมั่นใจในฝีมือของตัวเอง และตัดสินใจออกจากงานประจำโดยไม่ทันได้ไตร่ตรองว่าจะสามารถยืนระยะการสร้างผลตอบแทนในระดับดังกล่าวได้นานเพียงใด ทำให้หลายคนต้องกลับไปทำงานประจำเนื่องจากไม่สามารถยืนระยะอยู่ได้ ก่อนที่จะออกมาลงทุนเต็มเวลาควรที่จะจดบันทึกผลงานการลงทุนของตัวเองจนเกิดความมั่นใจว่าสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง เช่น สร้างกำไรได้สม่ำเสมอทุกเดือน ผลตอบแทนมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกเดือน อัตราส่วนการทำกำไร (Hit Rate) มากกว่าขาดทุน ฯลฯ โดยควรจะใช้เกณฑ์การวัดผลตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
นอกจากสี่ข้อสำคัญดังกล่าวอาจจะมีปัจจัยอื่นๆเช่น ความคาดหวังจากคนรอบตัว, รายได้เสริมทางอื่น ฯลฯ ถ้าหากมั่นใจว่าสามารถทำได้ การออกมาเป็นนักลงทุนเต็มเวลาก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ถูกต้องสำหรับเราก็ได้
นเรศ เหล่าพรรณราย
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
SuperTrader รายการเรียลิตีการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง