ไม่นานมานี้ ผู้ถือหุ้น และนักลงทุนอาจจะตกใจต่อข่าวการเพิ่มทุนของ “หุ้นเก็งกำไร” ตัวหนึ่งที่สร้างบาดแผลให้รายย่อยจำนวนมากออกมาประกาศ “เพิ่มทุน” รอบที่เท่าไรแล้วก็จำไม่ได้ แถมคราวนี้ยังใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ออกมาให้นักลงทุนงงเล่นอีก ผู้สันทัดกรณีถึงกับเอ่ยปากว่า หุ้นตัวนี้เหมาะที่สุดสำหรับใช้สอนวิชา Financial Tool เพราะพี่แก “งัด” ทุกอย่างออกมาใช้จนหมดแล้ว ไม่ว่าจะเพิ่มทุนแบบ RO, PP, Warrant ล่าสุด กับ TSR
ที่น่าเจ็บใจคือ หุ้นตัวดังกล่าวซึ่งเปลี่ยนชื่อมาแล้วหลายต่อหลายรอบได้ เคยใช้ Money Games หรือเกมการเงิน “ขั้นสูง” ด้วยการประกาศ “เพิ่มพาร์” (ปกติแล้วจะมีแต่ลดพาร์) ทำให้ราคาหุ้นที่เป็นเลขหลักสตางค์จนใครๆ คิดว่าถูกแล้วและเข้าไปซื้อถึงกับเจ็บตัวไปตามๆ กัน เพราะทำให้พลิกเป็นขาดทุนได้ถึง 90% อะไรที่มั่นใจว่าปลอดภัยแล้วก็ยังไม่ชัวร์เสมอไป
การเข้ามาอยู่ในตลาดหุ้น ข้อดีคือ บริษัทสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายให้เป็นประโยชน์ต่อการระดมทุนได้ แต่บางบริษัทกลับใช้สิ่งเหล่านี้เป็น Money Games โดยไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่กิจการแต่อย่างใด เหมือนกำลังเล่นอยู่กับ “กระดาษเปล่า” อย่างไรอย่างนั้น
สำหรับรายย่อยแล้ว เราควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเกมนี้เพราะไม่มีทางเลยที่เราจะชนะได้ ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงิน หรือสิทธิในการออกเสียง เพราะเจ้ามือได้คุมเกม (หุ้น) ไว้ในมือหมดแล้ว แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าหุ้นตัวไหนที่เข้าข่าย การเป็น Money Games มีข้อสังเกตง่ายๆ ที่ผมจะเรียกว่า “สามบ่อย” คือ
หนึ่ง..เรียกประชุมผู้ถือหุ้นบ่อยมาก การที่จะใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ จำเป็นที่จะต้องขออนุมัติจากผู้ถือหุ้น (ซึ่งส่วนใหญ่เจ้ามือจะรวบหุ้นไว้ในมือจนมีสิทธิออกเสียงทั้งหมดอยู่แล้ว) โดยเฉพาะการเพิ่มทุนทั้งเสนอให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่มีหุ้นอยู่ (RO) หรือเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นใหม่แบบเจาะจง (PP)
จำไว้ว่ากิจการที่ดีต้องใส่ใจต่อผู้ถือหุ้น ไม่รบกวนเงินในกระเป๋าด้วยการขอเพิ่มทุนบ่อยๆ เพราะนั่นคือการปัดความรับผิดชอบของฝ่ายบริหารให้ผู้ถือหุ้นต้องมาเดือดร้อนด้วย แม้จะมีของแถมให้ เช่น การแจกวอแรนท์ แต่นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเกมเท่านั้น
สอง..ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์บ่อยมาก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากมีการปล่อยกระแสข่าวออกมาว่าจะมีแผนระดมทุนต่างๆ จำไว้อีกว่า กิจการที่ดีจะต้องมีกระบวนการรักษาความลับภายในองค์กร ถ้าหุ้นตัวใดที่มีกระแสข่าวว่าจะทำอย่างโน้นอย่างนั้นบ่อยๆ โดยไม่มีที่มาที่ไปชัดเจน นี่คือส่วนหนึ่งของ Money Games แน่นอน บริษัทที่มีธรรมมาภิบาลที่ดี คือ บริษัทที่ชี้แจงแผนธุรกิจต่อตลาดหลักทรัพย์ก่อนที่จะประกาศสู่สาธารณชนเสมอ
สาม..มีการเปลี่ยนชื่อหุ้นบ่อยครั้ง กลยุทธ์ที่เจ้ามือมักใช้ในการที่จะเล่นเกมต่อรายย่อยคือ การเปลี่ยนชื่อหุ้นเพื่อไม่ให้คนที่เคยติดกับดักมาก่อนหน้าแล้วจำได้ (แต่น่าแปลกใจที่รายย่อยส่วนใหญ่ก็ยังหลงเชื่อ) โดยอ้างว่าเป็นการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ผู้บริหารใหม่ ผู้ถือหุ้นใหม่ (แต่เจ้ามือรายเดิม)
นักลงทุนควรใช้หลักเกณฑ์ทั้ง 3 นี้แยกให้ออกระหว่างกิจการที่ใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อประโยชน์ขององค์กร และผู้ถือหุ้น และกิจการที่ว่างเปล่า ล่องลอย ไร้ทิศทาง และกำลังเล่นเกมกับรายย่อย
นเรศ เหล่าพรรณราย
ติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ www.supertrader.co.th
SuperTrader รายการเรียลิตี้การลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ เข้มข้นด้วยความรู้จากโค้ชผู้มากประสบการณ์ ผ่านบททดสอบจากตลาดหุ้นจริง