xs
xsm
sm
md
lg

รากเหง้าเราเอง

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

สำนวนไทยโบราณที่ว่า “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” แม้ปัจจุบันสำนวนนั้นก็ยังใช้ได้อยู่ เพราะสอนให้รู้จักพิจารณาลักษณะบุคคล หรือผู้หญิงที่จะเลือกเป็นคู่ครอง จึงมีความสำคัญยิ่งนัก ที่จะต้องสาวลึกถึง “รากเหง้า” หรือเค้ามูลเดิม หรือเชื้อสายดั้งเดิมของบุคคลนั้นๆ นิสัยพอแก้ได้ แต่สันดานสุดจะแก้ไข นิสัยก็ดี สันดานก็ดี ส่วนมากจะถูกถ่ายทอดมาจากรากเหง้านั่นเอง

รากเหง้าเราเอง

เราไม่ได้เกิดมาจากระบอกไม้ไผ่ เราต่างมีรากเหง้า พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ทวด กระทั่งบรรพบุรุษชั้นลึกๆ จนยากแก่การเรียกขาน เลยให้เรียกว่า โคตรเหง้าศักราช (มักใช้เป็นคำด่าว่า)

จะคิดจะทำอะไร ต้องดูรากเหง้าให้ดี โดยเฉพาะด้านการเมือง เช่น เลือกนายก อบต. นายกเทศมนตรี ส.ส. ส.ว. หรือสรรหาบุคคลมาเป็นรัฐมนตรี ผู้นำระดับสูงในการบริหารประเทศ ต้องสาวลึกถึงรากเหง้าเหล่ากอ โคตรเหง้าศักราชขี้โกงหรือไม่ เป็นคนดีหรือไม่ สาวลึกสาวไกลขนาดนั้น จึงจะได้คนดีมีคุณธรรม มาใช้งานบริหารบ้านเมือง

นั่นคือมิติรากเหง้าอย่างโลกๆ อย่างพื้นๆ อย่างเปลือกกระพี้

ทีนี้มาดูมิติรากเหง้าทางธรรมบ้าง มิตินี้แล คือรากเหง้าที่แท้จริง เนื่องเพราะรากเหง้าทางโลก ก็ไหลออกมาจากรากเหง้าทางธรรมนั่นเอง

รากเหง้าทางธรรมเป็นเช่นไร รากเหง้าทางโลกก็เป็นเช่นนั้น

รากเหง้าทางธรรมมีอยู่ 2 ชนิดคือ กุศลมูล และอกุศลมูล

- กุศลมูล คือรากเหง้าของกุศล หรือต้นตอของความดี ได้แก่...

1. อโลภะ (ความไม่โลภ, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ (ฝ่ายตรงข้าม) กับโลภะ, ความคิดเผื่อแผ่, จาคะ)

2. อโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย (ทำร้าย), ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับโทสะ, เมตตา)

3. อโมหะ (ความไม่หลง, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับความหลง, ปัญญา)

- อกุศลมูล คือรากเหง้าของอกุศล หรือต้นตอของความชั่ว ได้แก่...

1. โลภะ (ความอยากได้)

2. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)

3. โมหะ (ความหลง)

โลภะ โทสะ โมหะ หรือโลภ โกรธ หลง 3 ตัวนี้ไม่ใช่ธรรมดา เป็นรากเหง้าฝ่ายชั่วของเราเอง ใครๆ ก็มีแต่มีต่างกัน คนหนึ่งพยายามที่จะลดมัน อีกคนพยายามจะเพิ่มมัน

รากเหง้าชั่ว 3 ตัวนี้ เรียกอีกอย่างว่า “กิเลส” เหตุแห่งทุกข์

กิเลส คือสภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมองมี 10 อย่าง ได้แก่...

1. โลภะ (ความอยากได้)

2. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย)

3. โมหะ (ความหลง, ความไม่รู้, ความเขลา)

4. มานะ (ความถือตัว)

5. ทิฏฐิ (ความเห็นผิด)

6. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย, ความเคลือบแคลง)

7. ถีนะ (ความหดหู่, ความท้อแท้ถดถอย)

8. อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน)

9. อหิริกะ (ความไม่ละอายต่อความชั่ว)

10. อโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อความชั่ว)

กิเลส 3 ตัวแรกคือ โลภะ โทสะ โมหะ ถือเป็นตัวพ่อตัวแม่ที่เหลืออีก 7 ตัวเป็นตัวลูกซะ (ตัวที่ 9 และ 10 นี่ไม่บันเบา “ไม่อายชั่วกลัวบาป” มันทำได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งทำลายชาติ ทำลายตัวเอง มันยังลอยหน้าลอยตาอยู่)

กิเลส 10 มันน้อยไป ยังมีกิเลส 1,500 เสริมกำลังอีก ถือเป็นระดับหลาน เหลน โหลน...กระมัง? เนื่องเพราะกิเลส-สภาพที่ทำให้จิตเศร้าหมองมันมากเกิน เกินกว่าที่จะจัดสรรให้เป็นระเบียบเรียบร้อยโรงเรียนใดๆ ได้

นี่คือรากเหง้าแห่งความชั่ว ที่ควรละควรเลิก

ทีนี้มาดูทางไปสู่รากเหง้าแห่งความดีบ้าง ที่ควรส่งเสริมหรือเจริญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

กุศลกรรมบถ 10 คือทางแห่งกุศลกรรมหรือทางทำความดี หรือกรรมดีอันเป็นทางนำไปสู่สุคติได้แก่...


1. เว้นจากปลงชีวิต

2. เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้โดยอาการขโมย

3. เว้นจากการประพฤติผิดในกาม

4. เว้นจากพูดเท็จ

5. เว้นจากพูดส่อเสียด

6. เว้นจากพูดคำหยาบ

7. เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ

8. ความไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเขา

9. ความไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น

10. ความเห็นชอบ ถูกต้องตามคลองธรรม

(ข้อ 1-3 = กายกรรม 3, ข้อ 4-7 = วจีกรรม, ข้อ 8-10 = มโนกรรม 3)

กุศลกรรมบถ 10 คือทางทำความดี 10 อย่างนี้ ถ้าตรงกันข้ามก็คือ อกุศลกรรมบถ 10 อันเป็นทางทำความชั่ว 10 อย่างเช่น การปลงชีวิต, การลักขโมย เป็นต้น

มนุษย์เราชอบทำบุญ ชอบสะสมบุญ นั่นเป็นเรื่องดี เป็นรากเหง้ากุศล แต่การทำบุญ หรือทำความดีนั้น เรามักทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จนเมาบุญ ถ้าเราเข้าใจบุญอย่างถูกต้อง เราก็จะได้ทำบุญหลายอย่างหลายชนิด เป็นการทำบุญแบบปัญญาศรัทธา ไม่ใช่แบบงมงายศรัทธา

บุญกิริยาวัตถุ 10 คือที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือทางทำความดี ได้แก่...

1. ทานมัย (ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ)

2. สีลมัย (ทำบุญด้วยการรักษาศีล หรือประพฤติดี)

3. ภาวนามัย (ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจ เจริญปัญญา)

4. อปจายนมัย (ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม)

5. เวยยาวัจจมัย (ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้)

6. ปัตติทานมัย (ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น)

7. ปัตตานุโมทนามัย (ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น)

8. ธัมมัสสวนมัย (ทำบุญด้วยการฟังธรรม ศึกษาหาความรู้)

9. ธัมมเทสนามัย (ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้)

10. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง)

(ข้อ 4 และข้อ 5 จัดเข้าในสีลมัย, 6 และ 7 ในทานมัย, 8 และ 9 ในภาวนามัย, ข้อ 10 ได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา)

นักทำบุญทั้งหลาย นักทำดีทั้งปวง เมื่อท่านจะคิด จะพูด จะทำ อะไร จะต้องมี 10 ข้อนี้เป็นคันฉายประจำกายเสมอ เพื่อส่องตนว่าวันนี้ ฉันได้ทำความดี หรือทำบุญอะไรบ้าง รวมทั้งส่องผู้อื่นด้วย ถ้าอยากรู้อยากเห็น

แต่พึงเข้าใจว่า... “โลกนี้ย่อมขัดแย้งกับเรา-แต่เราไม่ขัดแย้งกับโลก”

เนื่องเพราะ...เราตระหนักรู้ “รากเหง้าเราเอง” กุศลหรืออกุศล ดีหรือชั่ว หลับยืนหรือตื่นรู้ เมื่อ “รู้ตน” ก็ย่อมรู้ “คนอื่น” ด้วย เป็นธรรมดา

ที่กล่าวมา ถ้าเห็นมากไป อยากลัดสั้นทันธรรม ก็พิจารณาคำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ก็อาจปิ๊งแวบได้ดังนี้...

ให้ละ 3 = โลภะ โทสะ โมหะ

ให้ทำ 3 = ทาน ศีล ภาวนา

ให้นึก 3 = พุทธ ธรรม สงฆ์

ให้หา 3 = สะอาด สว่าง สงบ

4X3 = 12

พอแล้ว

จำสิ่งที่ควรจำ ลืมสิ่งที่ควรลืม

ทำสิ่งที่ควรทำ เลิกสิ่งที่ควรเลิก

มิฉะนั้นจะจมอยู่ในนรกตลอดเวลา

บรรเลงเพลงธรรม

“ชนใดไม่มีดนตรีกาล

ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก

อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ

เขานั้นเหมาะคิดกบฏอัปลักษณ์

ฤาอุบายเล่ห์ร้ายขมังนัก

มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี

อีกดวงใจย่อมดำสกปรก

ราวนรกเช่นกล่าวมานี่

ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้

เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ”

...(พระราชนิพนธ์แปล ในรัชกาลที่ 6 จากต้นฉบับของ วิลเลียม เชกสเปียร์)

ยกพระราชนิพนธ์แปลมาเพื่อจะดูใจว่า...แม้สรรพสัตว์ สรรพชีวิต ยังชอบฟังเสียงเพลงเสียงดนตรี แล้วเราล่ะ ซึ่งเป็นสรรพคน สรรพมนุษย์ หากขาดไร้ซึ่งเสียงเพลงเสียงดนตรีในหัวใจ มันจะไม่ผิดปกติไปหน่อยหรือ?

ดูใจ เห็นใจ แล้วเปลี่ยนใจได้... “เปลี่ยนความคิด ชีวิตเปลี่ยน” ยังเป็นสัจธรรมที่จะนำเราไปสู่สิ่งดีงามขึ้น

บรรเลงเพลงธรรม พึงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง พึงทำงานทุกอย่างด้วยความสุขสนุกสนาน เสียงเพลงเสียงดนตรีจากสรรพสิ่งรอบตัวเรา คือเบ้าหลอมชีวิตที่เบิกบาน

ถ้าคิดผิด สิ่งรอบตัวเราก็คือความทุกข์ ถ้าคิดถูก สิ่งรอบตัวเราก็คือความสุข

ทุกสิ่งทุกอย่าง มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น มันไม่ได้สุข มันไม่ได้ทุกข์ ที่มันสุขมันทุกข์ ที่เราสุขเราทุกข์ เพราะใจของเราคิดไปต่างหาก ถ้าเราไม่คิด มันก็ไม่เกิด

พึงเป็นอยู่ตามธรรมชาติเถิด หากจะปรุงแต่ง ก็ให้ไปทางกุศล เป็นการบรรเลงเพลงธรรมที่เป็นต้นตอแห่งความดี อันเป็นรากเหง้าเราเอง

หลับยืนตื่นล้ำ

ชีวิตคนเรามีสองด้าน คือหลับยืน และตื่นล้ำ เหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน

หลับยืน คือหลับนาน เป็นการละการรับรู้ปกติ ตื่นจากหลับจากนอนแล้ว ทำงานตามปกติ แต่ก็เหมือนกับคนละเมอ ไม่รู้สึกตัว

ตื่นล้ำ คือรู้อย่างยิ่ง หรือตื่นรู้ (ที่ปัจจุบันนิยมใช้) นั่นเอง

หลับยืน เหมือนอกุศล ต้นตอแห่งความชั่ว

ตื่นรู้ เหมือนกุศล ต้นตอแห่งความดี

เพราะฉะนั้น ทั้งสองด้านก็จะเปลี่ยนกันแพ้ เปลี่ยนกันชนะ ใครชนะก็จะเป็นผู้ปกครอง ใครแพ้ก็เป็นผู้ถูกปกครอง

ยามใดที่สติปัญญามาก ตื่นรู้ก็จะผุดเกิด

ยามใดที่สติปัญญาน้อย หลับยืนก็จะผุดเกิด

แล้วตัวเรา หรือโลกนี้ก็จะ...บรรเลงเพลงธรรมไปตามภาวะหลับยืน และตื่นล้ำ ตถตาเช่นนั้นเอง

จิตนำทำฤา

จิตเป็นใหญ่ จิตเป็นผู้นำ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากจิต ถ้าจิตดี ผลก็ดี จิตชั่ว ผลก็ชั่ว

จิตทำอะไรบ้าง?

จิตทำทุกสิ่งทุกอย่าง!

โดยมีจิตหรือใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว จิตสั่งซ้ายหัน กายก็ซ้ายหัน จิตบอกขวาหัน กายก็ขวาหัน หากจิตบอกไปตายซะ กายจะย้อนแย้งหรือเปล่า ยังสงสัย? หรือจะไปตายจริงๆ?!

ดังนั้น อย่าได้โทษใครอื่นเลย จงโทษตัวเอง เพราะจิตเป็นของเรา กายก็เป็นของเรา

อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล อะไรดี อะไรชั่ว อะไรขี้โกง อะไรโปร่งใส อะไรเป็นตัวของตัวเอง อะไรเป็นสุนัขรับใช้ ฯลฯ ก็รู้ๆ กันอยู่ จะมัวเสียเวลาไปร่างรัฐธรรมนูญ เสียเวลาไปเลือกตั้งอยู่ทำไม สนุกกันนักหรือกับการผลาญเงินของชาติ เพื่อให้ “ขลาดเขลา” ครองเมือง?!

“รากเหง้าเราเอง

บรรเลงเพลงธรรม

หลับยืนตื่นล้ำ

จิตนำทำฤา”


ชีวิตคนเราทั้งหลายทั้งปวงนี้ บางครั้งบางคราว หลายสิ่งหลายอย่าง เหมือนกับร่วมกันสวดอ้อนวอนให้น้ำไหลจากที่ต่ำขึ้นสู่ที่สูง ไหลจากที่ราบทุ่งนาขึ้นสู่ยอดเขา ทั้งๆ ที่รู้ว่า มันเป็นไปไม่ได้ แต่ก็พากันทำอยู่ โดยยกประเพณีก่อนเก่าเนานานมาเป็นข้ออ้าง ใครไม่เห็นด้วย ก็ถูกปรามาสว่า “ตัวเฮงซวย-ห่วยหลุดโลก”

ถ้าคนเรา โดยเฉพาะผู้นำผู้บริหารทุกหน่วยงาน ยังเป็นคนประเภทขลาดกลัว เขลา โง่ อับปัญญา ขาดไหวพริบ รู้ไม่เท่าทัน

ไม่กล้า... “พึงข่มคนที่ควรข่ม พึงชมคนที่ควรชม” แล้วไซร้ ได้แต่โชว์ออฟอันน้อยสาระไปวันๆ แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังจะหวังอีกหรือ?

พวกเราทั้งหลายทั้งปวง ก็คงได้แต่สวดอ้อนวอนให้น้ำจากที่ต่ำไหลขึ้นสู่ที่สูงไปวันๆ ตราบที่ยังไม่รู้สึกสำนึกถึง “รากเหง้าเราเอง” ที่แท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น