ปลัด ก.คลัง เผย รบ.เร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ทันใช้ใน รบ.นี้ พร้อมยืนยันข่าวขึ้นเงินเดือนข้าราชการ 10% ไม่เป็นความจริง เนื่องจากเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ คสช.และ ครม.จะตัดสินใจปรับขึ้นในอัตราเท่าใด แต่ไม่ถึง 10% อย่างแน่นอน
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารราชการ จึงได้ฝากงานให้นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ช่วยเดินหน้าต่อ ซึ่งต้องดำเนินการเร่งด่วน คือ 1.การพิจารณาปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ จึงเป็นเรื่องการพิจารณาของรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะปรับเพิ่มอัตราเท่าใดให้เหมาะสม
2.การปรับโครงสร้างภาษี 3. การกระตุ้นใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว หลังจากเสนอการนำค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไปใช้หักลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 15,000 บาท และเร่งรัดให้หน่วยงานภาครัฐเบิกจ่ายงบอบรมสัมมนาในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ ให้ได้ร้อยละ 50 เพื่อช่วยอัดเงินออกสู่ระบบมากที่สุด เนื่องจากเป็นการใช้เงินเร็วที่สุดโดยไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้าง
สำหรับกระแสข่าวการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการที่มีการปรับขึ้นกว่าร้อยละ 10 ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากเรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และคณะรัฐมนตรี ว่าจะปรับขึ้นในอัตราใด แต่ไม่ถึงร้อยละ 10 อย่างแน่นอน และคงต้องรอการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาด้วย
ส่วนกรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เสนอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้เงิน 20,000 ล้านบาทนั้น เนื่องจากพิจารณาแผนฟื้นฟูของการบินไทยแล้วยังมีสภาพคล่องเพียงพอสามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตัวเอง และยังมีทรัพย์สินของบริษัทในการค้ำประกันการกู้เงินจากแหล่งต่างๆ อีกด้วย
นายรังสรรค์ ยังกล่าวถึงแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างว่า ภาครัฐยังคงให้ความสำคัญในความโปร่งใส ซึ่งหากจะให้มีความเข้มข้นก็สามารถแก้ไขเรื่องกฎระเบียบผ่านทางที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ในส่วนร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างได้มีการจัดทำไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้ โดยยืนยันว่า จะผลักดันร่างดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภาให้ทันรัฐบาลชุดนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน
ด้านนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรณีบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ทราบว่าคณะอนุกรรมการพิจารณาเงินชดเชยการถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์โลก 2014 เตรียมจ่ายเงินชดเชยให้บริษัท อาร์เอส เจ้าของลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลชิงแชมป์โลก 2014 จำนวน 220 ล้านบาท และอาร์เอสมองว่าเป็นตัวเลขที่ไม่อยู่ในกรอบของหลักการเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และอาร์เอสตกลงร่วมกัน โดยยอมจ่ายค่าเสียโอกาสทางธุรกิจจำนวนเงิน 427 ล้านบาท นั้น เรื่องดังกล่าวคณะอนุกรรมการฯ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่ได้ข้อสรุปและต้องประชุมอีกหลายรอบจนกว่าจะได้ข้อสรุปว่าต้องจ่ายชดเชยให้อาร์เอสเป็นเงินเท่าใด ยอมรับว่าที่ผ่านมามีข่าวรั่วไหลออกไปของอนุกรรมการ จึงทำให้เกิดความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการจ่ายเงินให้กับอาร์เอส