“บัญชีกลาง” คุมเข้มเบิกงบประมาณค่ารักษาพยาบาล “มนัส” ครวญยอดเบิกจ่ายงบลงทุนปีงบฯ 58 ทำได้เต็มที่แค่ 65% คาดงบลงทุนยังค้างท่อไม่ต่ำกว่า 1.5 แสนล้าน ส่วนงบประจำทำได้ตามเป้า
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณค่ารักษาพยาบาลไว้ทั้งสิ้น 6 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเกินเป้าหมายประมาณ 3 พันล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจัดสรรวงเงินไว้ 6 หมื่นล้านบาทเท่าเดิม แต่จะมีการคุมเข้มการเบิกจ่ายมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกินวงเงินที่ตั้งไว้
สำหรับมาตราการคุมเข้มการเบิดจ่ายงบรักษาพยาบาล เช่น การกำหนดรายการตรวจสุขภาพประจำปี จะมีการยกเลิกรายการที่ไม่จำเป็น เช่น การเอกซเรย์ปอด พบว่าส่วนใหญ่จะตรวจถึงปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเกินความจำเป็น ต่อไปควรจะตรวจเมื่อเห็นว่ามีอาการ หรือต้องเข้ารับการรักษาเท่านั้น โดยจะเอางบที่ประหยัดจากส่วนนี้ไปเพิ่มส่วนของการรักษาพยาบาลฉุกเฉินแทน
“การเบิกงบรักษาพยาบาลจะไปกระจุกตัวในช่วงของข้าราชการที่เกษียณอายุราชการไปแล้วมากกว่ากลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งมีแนวโน้มจะใช้งบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีแนวคิดจะดึงบริษัทเอกชนมารับประกันสุขภาพ เช่น ทิพยประกันภัยแต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป”
การเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2558 ณ สิ้นเดือน ส.ค.เบิกจ่ายได้ 2.63 แสนล้านบาท คิดเป็น 58.6% ของวงเงินงบลงทุน 4.49 แสนล้านบาท โดยคาดว่าช่วงที่เหลือของปีอีก ซึ่งเหลือเวลาอีกแค่ 1 เดือน จะเบิกจ่ายเพิ่มได้เป็น 2.92 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 65% ซึ่งยังต่ำกว่าเป้าหมายเบิกจ่ายที่ตั้งไว้ที่ 87% หรือคิดเป็นการเบิกจ่ายงบลงทุนต่ำกว่าวงเงินลงทุนรวม 1.5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ในส่วนการเบิกงบประมาณรายจ่ายประจำ ณ สิ้นเดือน ส.ค.เบิกจ่ายได้ 2.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 85.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ 2.57 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าการเบิกจ่ายจะได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 96% หรือคิดเป็น 2.47 ล้านล้านบาท ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณเหลือเหลื่อมปี 3.7 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้แล้ว 2.8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 75.7%
นายมนัส กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้มีสาเหตุจาก 1.ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้องการปรับปรุงราคากลางใหม่เพื่อไม่ให้ส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง และ 2.การปรับปรุง พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี ให้ส่วนราชการจัดซื้อจัดจ้างลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 31 ก.ค.2558 ซึ่งมีหน่วยงานที่ทำไม่ทัน และต้องโอนงบดังกล่าวเข้างบกลางรายการสำรองจ่ายฉุกเฉินจำเป็นกว่า 7.9 พันล้านบาท
ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบลงทุนที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการใส่เม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพราะถือว่าเป็นเม็ดเงินที่ไม่มากเมื่อเทียบกับโครงการของรัฐบาลที่เริ่มทยอยดำเนินการไปก่อนหน้านี้ เช่น การปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้าน หรือการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งจะได้ผลต่อเศรษฐกิจชัดเจนกว่า ขณะที่การลงทุนโครงการละไม่เกิน 1 ล้านบาท ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณได้เรียกส่วนราชการมาชี้แจงให้เร่งก่อหนี้ให้แล้วเสร็จก่อน 15 พ.ย.2558 นี้
สำหรับความคืบหน้าการดึงเงินกองทุนหมุนเวียนในปีงบประมาณ 2558 สามารถเรียกคืนจาก 29 กองทุน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท โดยวงเงินมาสุด ได้แก่ กองทุนน้ำบาดาล 4 พันล้านบาท กองทุนของกรมธนารักษ์ 3 พันล้านบาท และกองทุนที่ดำเนินการเกี่ยวกับป้ายทะเบียนรถ 2 พันล้านบาท และดำเนินการยุบไปแล้ว 3 กองทุน คือ องค์การฟอกหนัง กองทุนโรงไฟฟ้า และกองทุนข่าวสารการพาณิชย์