รองนายกฯ แจงมาตรา 44 นิรโทษกรรมเป็นเพียงพิธีการ ต้องดูความจำเป็น-ผลกระทบ ควรตกผลึกก่อน รับยังไม่เห็นความเร่งด่วนแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อปฏิรูป เผย 2 คกก.สอบจำนำข้าวเจ๊ง รายงานเป็นระยะ บ่ายนี้นัดคุย ชี้ค่าเสียหายยังไม่ชัด แต่ตัวบุคคลต้องรับผิดชอบค่อนข้างชัด
วันนี้ (6 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ให้สัมภาษณ์กรณีที่ฝ่ายการเมืองออกมาเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวออกกฎหมายนิรโทษกรรมว่า การใช้มาตรา 44 หรือออกเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อนิรโทษกรรมเป็นเพียงวิธีการ แต่ก่อนจะพูดถึงวิธีการต้องมาพิจารณาถึงความจำเป็นก่อนว่าจำเป็นต้องทำหรือไม่ นโยบายเป็นอย่างไร อยากที่จะทำหรือไม่ และพูดถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วยว่าเป็นอย่างไร จะมีคนออกมาชุมนุมหรือไม่ เรื่องดังกล่าวต้องมาก่อนวิธีการ ถ้าสิ่งที่ตนกล่าวมายังไม่ตกผลึกก็อย่าเพิ่งไปพูดถึงวิธีการ และเท่าที่ทราบเรื่องดังกล่าวยังไม่มีการพูดกันอย่างเป็นทางการในที่ใด แต่อ่านหนังสือพิมพ์แล้วก็มีพูดคุยกันบ้าง
นายวิษณุกล่าวต่อถึงกรณีที่นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ระบุว่า การจะให้การปฏิรูปสำเร็จต้องมีการปรับแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวอีกครั้งว่า เรื่องดังกล่าวมีการคุยมานานแล้ว แต่วันนี้ยังไม่เห็นความเร่งด่วนที่จะทำเช่นนั้น ถ้าถึงจุดหนึ่งมีความจำเป็นก็ทำได้ โดยสิ่งที่อาจต้องปรับคือต้องระบุให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร แต่ขณะนี้ไม่จำเป็นถึงขั้นแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว คิดว่าการปฏิรูปสามารถดำเนินได้ โดยไม่ต้องใช้รัฐธรรมนูญมาบีบ ทั้งความเต็มใจ ความสมัครใจ และความเข้าใจของผู้เกี่ยวข้องซึ่งสามารถทำได้
นายวิษณุยังกล่าวถึงความคืบหน้าการเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า คณะกรรมการ 2 ชุดที่จัดตั้งขึ้น ทั้งคณะกรรมสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหาย ที่มีนายจำเริญ ยุติธรรมสกุล รองปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการว่าด้วยการรับผิดทางแพ่ง ที่มีนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน ได้การรายงานความคืบหน้าให้ตนทราบทุกระยะซึ่งช่วงบ่ายวันที่ 6 ก.ค.นี้ ตนเชิญนายจำเริญมาสอบถามความคืบหน้าอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าเสียหายทางแพ่งยังไม่มีความชัดเจน เพราะค่อนข้างดูยาก จากตัวเลขรายงานล่าสุดจำไม่ได้ว่าเท่าไหร่ ส่วนตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบค่อนข้างจะชัดแล้วว่ามีใครบ้าง ซึ่งมีทั้งนักการเมือง ข้าราชการการเมือง และข้าราชการประจำ