xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

7 พันล้าน! 2 ปี ฟื้นคลองเเสนเเสบ3 แผนหลัก-กทม.เจ้าภาพ-มท.1 คุมงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมัติ งบประมาณ 7,000 ล้านบาท ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร (กทม.) และอีกหลายหน่วยงาน สร้างเขื่อนคอนกรีต-ปรับปรุงท่าเรือ-บำบัดน้ำเสียชีวภาพ ตามโคร

การแก้ปัญหาและปรับทัศนียภาพ“คลองเเสนเเสบ” ใน 2 ปี บริเวณพื้นที่เขตกทม.ตะวันออก ได้แก่ เขตคลองสามวา , คันนายาว , บางกะปิ , บึงกุ่ม , ประเวศ , มีนบุรี , ลาดกระบัง และหนองจอก

ตามแผนที่ ครม.เห็นชอบคือ “แผนปฏิบัติการเพื่อให้คลองแสนแสบสะอาดภายใน 2 ปี” มอบหมายกระทรวงมหาดไทย (มท.) ติดตามและประเมินผล ก่อนรายงานครม. ส่วน กทม. กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมเจ้าท่า และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะต้องบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่อย่างจริงจัง

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า รมว.มหาดไทย จะเป็นประธานในโครงการนี้ มี กรมเจ้าท่า (จท.) ประสานติดตามแผน 2 ปี เพราะถือเป็นเส้นทางเดินเรือโดยสารที่สำคัญ ประชาชนใช้บริการ 28 ท่าเรือคลองแสนแสบ ประมาณ 1 แสนคนต่อวัน โดย กรมเจ้าท่าได้รับงบ 75 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) ในการเข้มงวดเรื่องความปลอดภัย ขณะที่ กทม.จะรับผิดชอบงบประมาณ 6,800 ล้านบาท

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกรมประชาสัมพันธ์ ต้องเร่งดำเนินการตามมติครม. เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2557 เมื่อคราวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประชุมร่วมกับ ครม. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ในของมาตรการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์เรื่องปัญหามลพิษ โดยกำหนดแผนให้เสร็จในปี 2559

ประเด็นนี้ ครม. ให้กรมประชาสัมพันธ์ เร่งรณรงค์เรื่องปัญหามลพิษทางน้ำ น้ำเน่าเสีย วิธีแก้ไข และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ ทส. ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ทางวิชาการแก่เจ้าของสถานประกอบการ นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนทั่วไป และปลูกฝั่งทัศนคติให้เยาวชนมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ทั้งนี้จากข้อมูลที่ได้ตรวจคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ พบว่า มีค่าความสกปรกเกินกว่าค่ามาตรฐานสูง และมีค่าออกซิเจนในน้ำต่ำ เพราะต้องรับน้ำเสียจากชุมชนเป็นจำนวนมาก รบ.และ คสช.มีความน่าเป็นห่วง ยิ่งเวลาที่มีเรือวิ่งค่าความสกปรกเกินกว่าค่ามาตรฐานอยู่แล้ว ก็เกิดการฟุ้งกระจายขึ้นมา

สำหรับแผน 3 เรื่องหลัก คือ การปรับปรุงคุณภาพของน้ำ โดยขั้นตอนจะไม่ใช้การบำบัดด้วยสารเคมี แต่จะใช้วิธีทางชีวภาพ ส่วนการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อทำการระบายน้ำ และปิดกั้นน้ำไม่ให้เข้ามาในคลอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาขุดลองทำความสะอาดตะกอนที่ก้นคลองให้หมดไป และต้องก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียตลอดทั้งคลอง เพื่อรวบรวมน้ำเสียที่ปล่อยมาจากชุมชนและโรงงาน ก่อนส่งไปบำบัดที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำเสียดินแดง

ขณะที่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และ กทม. ต้องเร่งปรับปรุงท่าเรือ และปรับปรุงภูมิทัศน์ตลอดแนวคลอง และปรับพื้นที่หลังเขื่อนให้เป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ให้ประชาชนสามารถเข้ามาปั่นจักรยาน หรือออกกำลังกายได้

การปรับปรุงคุณภาพของน้ำ กทม.ได้ ศึกษาเก็บค่าออกซิเจนในน้ำพบช่วงคลองในตัวเมือง บริเวณประตูน้ำ-วัฒนา วัดค่าออกซิเจนได้เท่ากับศูนย์ คือ เป็นค่าที่สิ่งมีชีวิตไม่สามารถดำรงอยู่ได้ สาเหตุหลักมาจากการปล่อยน้ำเสียจากครัวเรือนโดยไม่ผ่านการบำบัด ซึ่ง กทม.มีแผนแนวทางการบำบัดน้ำจากครัวเรือน

กทม. ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2560 น้ำในคลองจะต้องสะอาด เช่น คลองช่วงกรุงเทพฯชั้นนอก (มีนบุรี-หนองจอก) จะต้องมีค่าออกซิเจนละลายน้ำไม่ต่ำกว่า 4 มิลลิกรัม/ลิตร และค่าความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ต้องมีไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/ลิตร ขณะที่ปัจจุบันมีสูงถึง 7.85 มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนน้ำในคลองกรุงเทพฯ ชั้นใน (ประตูน้ำ-มีนบุรี) ตั้งเป้าหมายเพิ่มค่าออกซิเจนละลายน้ำให้มีไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัม/ลิตร ส่วนค่าความสกปรกในรูปสารอินทรีย์ต้องไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/ลิตร

ส่วนแผนการใช้งบประมาณที่ผ่านมา กทม.ได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคมแล้ว 11 โครงการได้แก่ 1.งานฟื้นฟูสภาพน้ำคลองแสนแสบระยะเวลาดำเนินการ 24เดือนงบประมาณ 3,846 ล้านบาท 2.งานฟื้นฟูสภาพน้ำคลองบางเตยงบประมาณ 316 ล้านบาท 3.งานฟื้นฟูสภาพน้ำชุมชนคลองเป้งงบประมาณ 20 ล้านบาท 4.งานจ้างตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ 1,000 ตัวอย่างระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือนงบประมาณ 2.3 ล้านบาท 5. โครงการสร้างการรับรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์คลองแสนแสบงบประมาณ 50 ล้านบาท

6.งานก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมริมคลองแสนแสบช่วงถนนวิทยุ-คลองตันเข้าโรงงานควบคุมคุณภาพน้ำดินแดงงบประมาณ 378 ล้านบาท 7. โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก(ค.ส.ล.)พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบจากบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรีถึงประตูระบายน้ำหนองจอกระยะดำเนินการ 4 ปีงบประมาณ 1,000 ล้านบาท 8. โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองแสนแสบจากสะพานผ่านฟ้าถึงประตูระบายน้ำคลองตันงบประมาณ 400 ล้านบาท

9.โครงการปรับปรุงเขื่อนค.ส.ล.บริเวณประตูระบายน้ำคลองตันถึงถนนวงแหวนตะวันออกงบประมาณ 21.6 ล้านบาท 10. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงซอยลาดพร้าว130และจ้างที่ปรึกษาคุมงานงบประมาณ 763 ล้านบาท และ 11.โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยายจำนวน 14 ท่างบประมาณ 14.5ล้านบาท รวมงบประมาณกว่า 6,812 ล้านบาท

ส่วนโครงการที่ กทม.ได้เร่งดำเนินการแล้ว ตามข้อมูลของ คณะกรรมการมหานครสีเขียว (เครือข่ายพื้นที่สีเขียว) และคณะอนุกรรมการการจราจร ขนส่งและการระบายน้ำ มี โครงการปรับภูมิทัศน์เส้นทางจักรยานริมคลองแสนแสบ ซึ่งเดิมเป็นทางเดินริมเขื่อนมีความกว้าง 2 เมตร มีเส้นทางเริ่มจาก ซอยรามคำแหง 67 - คลองตัน ผ่านเขตวังทองหลาง บางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม คันนายาว และห้วยขวาง ระยะทางฝั่งละ 13 กิโลเมตร รวมสองฝั่ง 26 กิโลเมตร ล่าสุดมีการปรับปรุงแล้ว เช่น บริเวณแยกท่าเรืออโศก-ท่าเรือสะพานหัวช้าง หรือพื้นที่เขตบางกะปิได้จัดทำ รวม 19 จุด พื้นที่ 3,112 ตารางเมตร

ส่วนโครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต จากบริเวณวัดศรีบุญเรืองถึงเขตมีนบุรี ความยาวทั้งหมด 14.10 กม. ใน 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 วัดศรีบุญเรืองถึงสุเหร่าอัสลาม ช่วงที่ 2 สุเหร่าอัสลามถึงวงแหวนตะวันออก ช่วงที่ 3 ซอยเสรีไทยถึงซอยรามคำแหง 147 และช่วงที่ 4 ถนนร่มเกล้าถึงบริเวณคลองสองต้นนุ่น ทั้งหมดอยู่ระหว่างจัดหาเรื่องผู้รับเหมาและจัดสรรงบประมาณ โครงการถือเป็นการป้องกันดินริมชายฝั่งพังทลาย และรองรับส่วนต่อขยายการเดินเรือ

ขณะที่ภาครัฐ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช.) ได้เชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีความเห็นโดยสรุปดังนี้ (1) การแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ต้องพิจารณารวมถึงคลองสาขาที่เชื่อมต่อคลองแสนแสบทั้งระบบด้วย โดยต้องมีการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบริหารน้ำทั้งในด้านของคุณภาพและปริมาณ (2) การดำเนินงานเพื่อฟื้นฟู ต้องเน้นที่การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยควรใช้แนวทางตามพระราชดำริและต้องเริ่มต้นที่คนหรือชุมชนก่อน เช่น การรณรงค์ปลูกพืชน้ำหน้าบ้าน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับประหยัดน้ำและวิธีการบ้าบัดน้ำเสียเบื้องต้น (3) ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการกำกับดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ (4) กทม.ควรมีการเตรียมแผนงานและงบประมาณเพื่อก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมเพิ่มเติมรวมถึงการปรับปรุงบริเวณริมคลองและเพิ่มความถี่ในการขุดลอกคลองเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา การรุกล้ำคลอง

ใน ภาคประชาชน อย่าง “ชมรมวัฒนธรรมนำสภาพแวดล้อม” ก็ได้ร่วมกับมูลนิธิกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมไทยและหน่วยงานอื่นๆ จัดกิจกรรม "วัฒนธรรมนำน้ำใสสู่คลองแสนแสบ" เพื่อแสดงพลังปกป้องคลองแสนแสบเพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญของชุมชนที่ใช้ในการอุปโภค โดยการร่วมกันทำความสะอาดและปรับภูมิทัศน์คลองแสนแสบ ปล่อยพันธุ์ปลา และจัดทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา

ในส่วนของภาคเอกชนเรื่องนี้ บริษัท ทีมกรุ๊ป ออฟคัมปานีส์ จำกัด หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโครงการพัฒนาแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม เคยให้ความเห็นว่า แม้การฟื้นฟูคลองแสนแสบจะทำได้ยาก เนื่องจากการลำเลียงน้ำเสียออกไปทางแม่น้ำเจ้าพระยาทำได้ยาก แต่เห็นว่ายังมี 5 แนวทางแก้ไขเริ่มจากปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ ให้ทำงานครอบคลุมคลองทั้งสาย รวมถึงคลองสาขา คลองในพื้นที่ชุมชน เช่น คลองจั่น คลองลาดพร้าว คลองตัน เป็นต้น

แนวทางที่ 2 คือการรณรงค์ให้ประชาชนไม่ทิ้งสิ่งปฏิกูลและน้ำเสีย เนื่องจากน้ำเสียจากบ้านเรือนมีค่าอินทรีย์เฉลี่ย 50-100 มิลลิกรัมต่อลิตร เกินกว่าค่ามาตรฐานน้ำดีที่ต้องมีค่าอินทรีย์ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร อาคารต่าง ๆ ที่ปล่อยน้ำลงคลอง จำเป็นต้องติดตั้งถังดักไขมันและระบบบำบัดน้ำเสีย เพื่อลดปริมาณสารอินทรีย์ ทีมกรุ๊ป เสนอให้กทม.ส่งเสริมการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ชุมชน

ส่วนปัญหาหาบเร่แผงลอย ทิ้งน้ำเสียลงท่อระบายน้ำ เห็นว่าต้องจัดโซนนิ่งในการทิ้งน้ำเสียให้ชัดเจน ข้อเสนอนี้สอดคล้องกับแนวทางบังคับใช้ข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานครเรื่อง การควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 8 อย่างเคร่งครัด แต่ทั้งนี้ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ

แนวทางที่4 การหมุนเวียนน้ำดีมาไล่น้ำเสีย โดยเสนอให้สำนักระบายน้ำประสานงานกับกรมชลประทาน ปล่อยน้ำจากคลองระพีพัฒน์ ปริมาตร 250 ลิตรต่อวินาที ผ่านคลอง 13 เขตมีนบุรี มายังคลองแสนแสบไปสุดที่ปากคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อผลักดันน้ำเสียให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่แนวทางนี้ ยังติดขัดเรื่องการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร และหากอยู่ในช่วงภัยแล้งก็ไม่สามารถทำได้

ส่วนแนวทางสุดท้ายคือการขุดลอกคลอง เพื่อนำตะกอนเน่าเสียออก และปรับภูมิทัศน์ใหม่ เช่นเดียวกับคลองขวาง และคลองทวีวัฒนา ฝั่งธนบุรี ที่จัดระบบคลองได้ดี

แต่กรณีของประชาชนที่สัญจรคลองแสนแสบ เชื่อว่าส่วนใหญ่ต้องการมากที่สุดน่าจะเป็นการแก้ปัญหาการเดินทางในคลองแสนแสบ เช่น ปรับปรุงท่าเรือให้กว้างขวาง การรักษาเวลา การเพิ่มเที่ยววิ่งเรือในช่วงเวลาเร่งด่วน ปรับปรุงเรือให้เสียงไม่ดัง ปรับปรุงเรือให้น้ำไม่กระเด็นได้ วิ่งได้ตลอดสายโดยไม่ต้องเปลี่ยนเรือ เรือโดยสารปัจจุบัน เก่าแก่ ควันดำ การบริการไม่ประทับใจสร้างความรำคาญแก่ประชาชน และทำลายออกซิเจนในอากาศ ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของสัมปทานอย่าง “บริษัทครอบครัวขนส่ง” แม้ล่าสุดจะมีการประกาศลดค่าโดยสารเรือคลองแสนแสบ ลงทุกระยะๆ ละ 1 บาทเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็ตาม

มีหลายความเห็นว่า ถ้าพัฒนาการเดินเรือคลองแสนแสบ บริการให้ดีๆ จะกลายเป็น BRT (Boat Rapid Transit) ที่มีแต่คนชื่นชมอีกมากมาย รัฐบาล คสช.พัฒนาแล้ว เอกชนก็ต้องเร่งพัฒนาตามให้ทัน ยกเว้นรัฐจะมีการเปิดสัมปทานให้บริษัทเดินเรือของที่อื่นๆ นอกเหนือจากบริษัทครองครัวขนส่ง เข้ามาวิ่งให้บริการประชาชน ได้รับการพัฒนาขึ้นแล้วทั้งสร้างเขื่อนคอนกรีต-ปรับปรุงท่าเรือ-บำบัดน้ำเสียชีวภาพ “พัฒนาการเดินเรือคลองแสนแสบ” ไปด้วยก็น่าจะทำให้วิถีชีวิตของประชาชนทั่วไปดีขึ้น



กำลังโหลดความคิดเห็น