xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (9)

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

เรื่องที่ 9.2 : การพัฒนากองทัพไทย ตอนที่ 1 อุดมการณ์ทหาร Military Ideology

1. กล่าวนำ

ถ้ามนุษย์ไม่มีความต้องการ ก็คงไม่มีความขัดแย้ง และก็คงไม่มีการต่อสู้หรือสงครามเกิดขึ้น แต่เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นสัตว์อื่นๆ ที่ต้องยังชีพด้วยการบริโภค จึงทำให้มนุษย์ต้องแย่งชิง ต้องแข่งขัน ต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่มนุษย์ต้องการ

ถ้าโลกของเรามีทุกสิ่งที่สนองตอบทุกคนได้ตามที่ต้องการมนุษย์ก็คงไม่ต้องมีความขัดแย้ง ไม่ต้องต่อสู้หรือไม่ต้องแย่งชิงกัน แต่เป็นเพราะโลกของเรามีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด Scarcity และความต้องการในการบริโภค Demands ของมนุษย์ไม่มีขอบเขตจำกัด จึงทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่ต้องดิ้นรน ต้องแสวงหา ต้องต่อสู้ให้ได้มาในสิ่งที่ตนต้องการ ถึงแม้จะมีวิธีการหลากหลายในการแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ถ้าไม่มีการเจรจาตกลงหรือไม่มีการยอมรับจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และถ้าความขัดแย้งนั้นไม่สามารถหาข้อยุติที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายได้แล้วการต่อสู้หรือสงครามก็จะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ถูกนำมาใช้ในการตัดสินปัญหาความขัดแย้งระหว่างคู่ขัดแย้งฝ่ายต่างๆโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

2. ทหาร และบทบาทของทหาร

2.1 ความหมายของคำว่า “ทหาร” *หมายถึง ประชาชนที่ได้รับการเรียนรู้และฝึกฝนให้มีความรู้ทางด้านการทหารให้มีระเบียบวินัย มีความเสียสละ กล้าหาญ และมุ่งมั่นในการทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติ พระมหากษัตริย์ และประชาชนจากภัยคุกคามทั้งปวง แม้จะต้องสละด้วยชีวิตก็ตาม”

2.2 บทบาทของทหาร

ในภาวะปกติทหารดูเหมือนจะเป็นส่วนเกินของสังคม Social Surplus แต่ในยามเกิดวิกฤตสงคราม หรือเกิดความขัดแย้งต่อสู้ฆ่าฟันกันในประเทศ หรือระหว่างประเทศ ทหารจะกลายเป็นเครื่องมือที่จำเป็นที่สุดของชาติที่จะเข้ามารักษาความสงบ ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของคนในชาติให้รอดพ้นจากการถูกทำร้ายหรือถูกทำลายจากฝ่ายตรงข้าม และที่สำคัญก็คือ ทหารจะเป็นพลังและองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งในการเจรจาต่อรองเพื่อก่อให้เกิดสันติภาพขึ้นอีก ภายหลังจากที่มีการยุติความขัดแย้งหรือการต่อสู้หรือทำสงครามนั้นแล้ว

(*ทหารในที่นี้ให้หมายถึง บุคลากรที่เป็นทหารทุกคน และรวมทั้งกำลังทหาร Armed Forces- ผู้เขียน)

3. ที่มาและความหมายของอุดมการณ์, อุดมการณ์ทหาร และขวัญ

อุดมการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด เช่น เพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม เป็นต้น

อุดมการณ์เป็นผลที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างความเชื่อหรือความนับถือที่มีต่อลัทธิหรือต่อบุคคล หรือต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น ค่านิยมของกลุ่มชน บรรทัดฐานทางสังคม วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น กับแนวความคิดทางปรัชญา แนวความคิดทางทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนา และการทหาร โดยมีความมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง

3.1 ความหมายของคำว่า “อุดมการณ์ Ideology”** หมายถึง “กลุ่มหรือชุดของความคิด (a set of ideas) หรือความเชื่อ (a set of beliefs) ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือต่อพฤติกรรมของกลุ่มบุคคล” เช่น อุดมการณ์ทางศาสนา, อุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งเขียนเป็น Diagram ในภาพที่ 1

**ผู้เขียนพัฒนาจาก Oxford Advanced Learner’s Dictionary และ New Student’s Dictionary

ในที่นี้ให้ A และ B คือ กลุ่มหรือชุดของความคิดและความเชื่อ, X คือ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับอิทธิพลจากความคิดและความเชื่อ, และ Y คือ พฤติกรรมหรือการกระทำของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับอิทธิพลจากความคิดและความเชื่อนั้นๆ ตัวอย่างเช่น อุดมการณ์ทางศาสนา, อุดมการณ์ทางการเมือง เป็นต้น

3.2 ความหมายของคำว่า “อุดมการณ์ทหาร Military Ideology” หมายถึง “ชุดของความคิด (a set of ideas) หรือความเชื่อ (a set of beliefs) หรือทฤษฎีทางการทหารที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งมีอิทธิพลต่อบุคคลทั้งที่เป็นทหารหรือไม่เป็นทหารให้ประพฤติหรือปฏิบัติหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามแนวความคิดหรือความเชื่อที่ยึดถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด” (พัฒนาจากOxford Advanced Learner’s Dictionary-ผู้เขียน)

3.3 ความหมายของคำว่า “ขวัญMorale” หมายถึง “สภาพจิตใจ หรือความรู้สึกในทางที่ดี หรือระดับความเชื่อมั่น (Level of confidence) ของบุคคลหรือของกลุ่มบุคคลซึ่งมีผลกระทบต่อการกระทำหรือการปฏิบัติงานของบุคคลหรือของกลุ่มบุคคลนั้น และจะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพขององค์กรในที่สุด (พัฒนาจาก Webster’s New World Dictionary และ EncartaDictionaries 2009-ผู้เขียน) และขวัญหรือระดับความเชื่อมั่นของบุคคลอาจเปลี่ยนแปลงได้ หรืออาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ได้ ขึ้นอยู่กับระดับความพอใจที่ได้รับจากการตอบสนองความต้องการของบุคคลหรือของกลุ่มบุคคลนั้น

4. พฤติกรรมและความต้องการของมนุษย์ (Human Behavior& Human Needs)

B.F.Skinner นักจิตวิทยาชาวอเมริกันได้สรุปผลการศึกษาในด้านพฤติกรรมของมนุษย์ว่า รางวัลและการลงโทษจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ ซึ่งถ้าไม่มีการบังคับ หรือลงโทษ หรือให้รางวัลแล้ว (1: B.F.Skinner) พฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ก็จะเป็นผลที่เกิดจากความปรารถนาหรือความต้องการของมนุษย์แต่ละคน (กรรมย่อมบ่งชี้ถึงเจตนา) ส่วนความปรารถนาหรือความต้องการของมนุษย์จะมีที่มาจากจิตใจของมนุษย์ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากพันธุกรรม, การอบรมเลี้ยงดู, สิ่งแวดล้อม, การเรียนรู้และประสบการณ์ (2: McDougall)

ฉะนั้นการเรียนรู้และปลูกฝังแนวความคิดความเชื่อหรืออุดมการณ์ในด้านต่างๆไม่ว่าจะด้านศาสนา ด้านการเมือง หรือด้านการทหารต่างก็มุ่งหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์ จูงใจ และเพื่อมีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์ทั้งด้านความคิด และความต้องการของมนุษย์ซึ่งย่อมจะมีอิทธิพลต่อการกระทำของมนุษย์ในที่สุด ตัวอย่างเช่น การที่ชาวอังกฤษ ชาวยุโรป และชาวเอเชีย บางกลุ่มที่มีความเชื่อทางศาสนา ได้เดินทางเข้าไปเป็นนักรบหรือเข้าไปช่วยเหลือหรือเข้าไปแต่งงานกับนักรบกลุ่มรัฐอิสลาม (The Islamic State of Iraq and Syria - ISIS) หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ รัฐอิสลาม (The Islamic State - IS) โดยไม่เกรงกลัวต่ออันตรายใดๆ ทั้งสิ้น ดังตัวอย่างในภาพที่ 2 หญิงสาวชาวอังกฤษมุสลิม 3 คน เดินทางไปแต่งงานกับนักรบ ISIS ทิ่ประเทศอิรักและซีเรีย (ภาพและข่าวจาก The Independent: Isis schoolgirl Amira Abase who fled London to join terrorists in Syria mocks victims of Tunisia massacre - http://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/isis-schoolgirl-amira-abase-who-fled-london-to-join-terrorists-in-syria-mocks-victims-of-tunisia-10366924.htmlขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย)

ภาพที่ 2 Amira Abase, Kadiza Sultana, and Shamima Begum

ภาพจากกล้อง CCTV: ในรูปจากซ้ายมือ คือ Amira Abase อายุ 15 ปี, คนกลางคือ Kadiza Sultana อายุ 16 และ Shamima Begum อายุ 15 กำลังเดินที่ Gatwick Airport ในอังกฤษ ก่อนเดินทางผ่านตุรกีไปที่ซีเรีย

ส่วนความต้องการของมนุษย์อาจแบ่งออกตามลักษณะของความต้องการ Needs (3: https://en.wikipedia.org/wiki/Need) ได้เป็น 2 ประเภท คือ ความต้องการทางด้านกายภาพ PhysiologicalNeeds และความต้องการทางด้านจิตใจ Psychological Needsตัวอย่างเช่น เมื่อรู้สึกหิวแล้วได้รับประทานอาหารจนอิ่ม นั่นหมายถึงเราได้รับการตอบสนองความต้องการทางด้านกายภาพ แต่ถ้าเราได้พบเห็นคนพิการนั่งขอทานอยู่แล้วเกิดมีความรู้สึกสงสารจึงได้ให้เงิน 20 บาทแก่ขอทานคนนั้น เมื่อเราได้บริจาคเงินให้ขอทานไปแล้วเราคงไม่ได้มุ่งหวังว่าจะได้เงินหรือสิ่งใดตอบแทนกลับมา ตรงกันข้ามเรากลับรู้สึกมีความพอใจที่ได้ช่วยคน นั่นหมายความว่า เราได้รับการตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ จึงอาจสรุปได้ว่า ไม่ว่ามนุษย์จะทำอะไรก็ตาม ผลที่ได้จากการกระทำก็จะตอบสนองความต้องการของตนเองไม่ทางด้านกายภาพก็ทางด้านจิตใจ หรือทั้งสองทางและระดับความพอใจที่ได้รับจะมีผลทำให้กำลังขวัญของบุคคลนั้นๆปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ดูภาพที่ 3

ภาพที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างอุดมการณ์, ความต้องการของมนุษย์ และขวัญของทหาร***

*** (A) และ (B) ดัดแปลงจาก Two Factor Theory of Motivation ของ Frederick Herzberg และ Hierarchy of Needs ของ Abraham Maslow- ผู้เขียน

สำหรับทหารก็เหมือนกันกับคนทั่วไปที่ต้องการได้รับการตอบสนองความต้องการของตนเช่นกัน แต่จะแตกต่างจากคนทั่วไปตรงที่ทหารจะได้รับการปลูกฝังและอบรมให้เสียสละความสุขส่วนตัว หรือแม้กระทั่งชีวิตของตนเองในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องประเทศชาติ พระมหากษัตริย์ และประชาชน การกล่าวเช่นนี้ทำให้มีคำถามว่า แล้วทหารจะได้รับการตอบสนองความต้องการของตนเองได้อย่างไร ขอให้กลับมาพิจารณาถึงพฤติกรรมต่างๆ ของเราเอง เช่น การบริจาคเงินให้ขอทาน หรือถวายข้าวปลาอาหารใส่บาตรพระ หรือใช้ความรู้สอนเด็กยากจนให้เรียนรู้การอ่าน หรือการใช้เวลาว่างทำความสะอาดถนนสาธารณะหน้าบ้าน แม้เราไม่ได้มุ่งหวังจะได้รับการตอบแทนใดๆ จากการกระทำดังกล่าว แต่ในข้อเท็จจริงแล้วเราเองก็จะได้รับการตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ Psychological Needsด้วยเช่นเดียวกันกับทหารที่จะได้รับการตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจเหมือนกัน ซึ่งถ้าตรงตามความต้องการก็จะรู้สึกพอใจ ระดับขวัญของทหารผู้นั้นก็สูงขึ้น แต่ถ้าการตอบสนองไม่ตรงกับความต้องการก็อาจรู้สึกไม่พอใจ ระดับขวัญของทหารผู้นั้นก็จะลดต่ำลง ดังแสดงในภาพที่ 3

5. การศึกษาจากกรณีตัวอย่าง
5.1 กรณีศึกษาที่ 1:2ndLT. Hiroo Onoda (ภาพ/ข่าวจากhttps://en.wikipedia.org/wiki/Hiroo_Onoda)

ภาพที่ 4: 2ndLT. Hiroo Onoda

ร.ต.Hiroo Onoda ได้รับการฝึกให้เป็นทหารการข่าวของกองทัพบกญี่ปุ่น และในปี 1944 ได้ถูกส่งมาที่เกาะลูบัง (ซึ่งห่างจากกรุงมะนิลาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 75 ไมล์) ของฟิลิปปินส์ เมื่อกองทัพสหรัฐฯ ได้บุกเข้ายึดเกาะในปี 1945 ทหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ถูกจับก็เสียชีวิต เหลือรอดหลบหนีเข้าไปในป่าได้เพียง 4 คนคือ ร.ต.Hiroo Onoda, ส.ท.Siochi Shimada (ถูกยิงเสียชีวิตในปี1954), พลทหารYuichi Akatsu (ยอมจำนนในปี1949) และพลทหารKinshichiKozuka (ถูกยิงเสียชีวิตในปี1972)

ในปี 1972 จึงเหลือ Onoda ซึ่งได้ทำการต่อสู้แบบกองโจรเพียงลำพัง แม้จะมีใบปลิวแจ้งว่าสงครามได้ยุติลงแล้ว แต่ Onoda ก็ยังไม่เชื่อ (เพราะมีความเชื่อว่ากองทัพญี่ปุ่นมีความเข้มแข็ง ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะสามารถเอาชนะญี่ปุ่นได้) ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 1974 นักศึกษาญี่ปุ่นชื่อ Norio Suzuki ได้มาตามหาและพบ Onoda ในป่า จึงแจ้งให้ทราบว่าสงครามได้ยุติลงแล้วแต่ Onoda ยังไม่เชื่อ Suzuki จึงต้องกลับไปญี่ปุ่นเพื่อนำอดีตผู้บังคับบัญชามาสั่งให้ Onoda ยอมจำนนในวันที่ 5 มีนาคม 1974 รวมเวลาที่ Onoda ทำการต่อสู้ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เกือบ 30 ปี การต่อสู้ที่ยาวนานของ Onoda ได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่ใช่เป็นการถูกบังคับให้กระทำ แต่เป็นความพอใจที่จะกระทำตามความเชื่อหรือกระทำตามแนวความคิดของอุดมการณ์ที่ตนยึดมั่น นอกจากจะไม่ได้รับอะไรเป็นการตอบแทนแล้ว ยังอาจจะต้องสละชีวิตของตนอีกด้วย แต่ Onoda ก็ยังเต็มใจที่จะกระทำหน้าที่ของตนต่อเนื่องนานเกือบ 30 ปี นั่นเป็นเพราะ Onoda ได้รับการตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจ คือ พอใจที่ได้กระทำหน้าที่เพื่อปกป้องประเทศชาติ (มีความภาคภูมิใจที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติแม้จะต้องสละด้วยชีวิตก็ตาม Onoda จึงไม่ยอมแพ้ถ้าไม่มีคำสั่งให้วางอาวุธจากผู้บังคับบัญชา)

5.2 กรณีศึกษาที่ 2 : นายอัล บาลาวี (Al- Balawi) เป็นหมอชาวจอร์แดน (ในวงกลมแดง)

ภาพที่ 5 : นายอัล บาลาวี (Al- Balawi)****

****ภาพจาก http://www.thehindu.com/news/international/us-thinktank-hints-at-isi-hand-in-cia-attack/article79491.ece: ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

นายอัล บาลาวี (Al- Balawi) เป็นหมอชาวจอร์แดนที่ได้รับการติดต่อชักจูงจากหน่วยสืบราชการลับของจอร์แดนและสหรัฐอเมริกา ให้เป็นแหล่งข่าวที่รายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ ของผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ อย่างไรก็ดี นายอัล บาลาวีได้กดระเบิดฆ่าตัวตายขณะที่ได้เข้าพบหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับ CIA ของสหรัฐฯ ในค่ายทหารสหรัฐที่อัฟกานิสถาน และนายอัล บาลาวีได้กล่าวในวิดีโอที่ส่งไปให้เจ้าหน้าที่จอร์แดนและสหรัฐฯ โดยมีข้อความว่า ความศรัทธาของเขาไม่สามารถประมูลขายให้ใครได้

6. บทสรุป : ความต้องการทางด้านจิตใจกับอุดมการณ์ Ideology ในด้านต่างๆ

การที่บุคคลหรือทหารคนใดคนหนึ่งยึดมั่นในอุดมการณ์จนสามารถเสียสละได้แม้กระทั่งชีวิตเพื่อการกระทำในสิ่งที่ตนยึดมั่นและเชื่อถือ เช่น การปฏิบัติการระเบิดฆ่าตัวตายของนาย Al- Balawi ในค่ายทหารสหรัฐฯ ที่อัฟกานิสถาน (4: CNN: Jan 10, 2010) หรือการปฏิบัติหน้าที่เพื่อปกป้องประเทศชาติเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปีของร.ต.Hiroo Onoda ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ในข้อ 5.1) ซึ่งถือเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่าบุคคลทั้งสองไม่ได้เป็นเพียงผู้ที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ศาสนา หรืออุดมการณ์ทหาร (Military Ideology) เท่านั้น แต่บุคคลทั้งสองยังเชื่อว่าการยึดมั่นและปฏิบัติตามอุดมการณ์ดังกล่าวจะสามารถตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจให้แก่ตนเองได้ ซึ่งก็คือความภาคภูมิใจ(มากกว่าพอใจ)ที่ได้ทำหน้าที่เพื่อตอบสนองอุดมการณ์ของตน ในฐานะเป็นสมาชิกของกลุ่มการเมือง กลุ่มศาสนาต่างๆ หรือในฐานะที่เป็นพลเมืองหรือทหารคนหนึ่งที่จะต้องปกป้องรักษาผลประโยชน์และความมั่นคงของประเทศชาตินั่นเอง

โดยสรุปก็คือการกระทำใดๆ ของบุคคลตามความเชื่อหรืออุดมการณ์ต่างๆ เช่น อุดมการณ์ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมือง หรืออุดมการณ์ทหารเป็นเพราะบุคคลนั้นเชื่อว่าแนวทางของอุดมการณ์ที่ตนเชื่อถือจะสามารถตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจของตนเองได้นั่นเอง

อย่างไรก็ดี แนวความคิดหรือความเชื่อที่ได้รับการพัฒนาในรูปแบบอุดมการณ์ต่างๆ จะต้องมีความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมประเพณี และค่านิยมทางสังคมอย่างมีเหตุผลจนเป็นที่ยอมรับเข้าไปในจิตใจของบุคคล และจะต้องสามารถตอบสนองความต้องการทางด้านจิตใจของบุคคลนั้นได้จึงจะทำให้ทหารหรือบุคคลที่ทำหน้าที่เช่นทหารหรือประชาชนคนไทยเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจหรือพอใจที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้มีการบังคับหรือไม่ได้มุ่งหวังผลตอบแทนที่เป็นสิ่งของเงินทองหรือลาภยศ แต่จะมุ่งหวังในความสำเร็จของงานหรือผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่องค์กรที่ตนสังกัด รวมทั้งสังคมส่วนรวมและประเทศชาติเป็นสำคัญ

การที่ผู้เขียนนำเรื่องอุดมการณ์มาเขียนในบทความนี้ก็เพื่อให้ทุกท่านในสถาบันการศึกษาทั้งหลาย ตลอดจนทุกท่านใน สนช., สปท., ครม.และ คสช.ไม่ลืมว่า คน คือ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการปฏิรูปประเทศไทยของเรานั่นเอง ถ้าคนไทยมีความรู้ มีคุณธรรม มีวินัย มีความรับผิดชอบ เคารพกฎระเบียบ มีความซื่อสัตย์ไม่คดโกง และกระทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว บ้านเมืองไทยของเราคงไม่ถดถอยตกต่ำลงเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้อย่างแน่นอน ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงต้องปฏิรูปคน คือ นักเรียน นิสิตนักศึกษา อาจารย์ ผู้ปกครอง ข้าราชการ และผู้บริหารทุกระดับ ทั้งในด้านความคิด จิตใจ และพฤติกรรมไปพร้อมๆ กัน เมื่อทรัพยากรมนุษย์ได้รับการฝึกฝน ขัดเกลาจนดี มีคุณภาพแล้ว ประเทศชาติก็ย่อมจะพัฒนาไปในทางที่ดีด้วยเช่นกัน

7. แนวความคิดและทฤษฎีที่น่าสนใจในบทความนี้
(1) B.F.Skinner : รางวัลและการลงโทษจะควบคุมพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ (ดูอ้างอิง-6) (Skinner เป็นอาจารย์สาขาจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย Harvard)

(2) William McDougall : ความคิดและพฤติกรรมเป็นผลจากสัญชาตญาณซึ่งติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่จะได้รับการพัฒนาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ (ดูอ้างอิง-7) (เป็นอาจารย์ด้านจิตวิทยาสังคม ซึ่งพัฒนาทฤษฎีสัญชาตญาณและจิตวิทยาสังคมที่ Oxford University และ Harvard University)

(3) Need is a psychological feature that arouses an organism to action toward a goal, giving purpose and direction to behavior. (https://en.wikipedia.org/wiki/Need)

(4) CNN- January 10,2010 : ข้อความที่ Al- Balawi กล่าวในวิดีโอที่ส่งไปให้เจ้าหน้าที่จอร์แดน และสหรัฐอเมริกา Al-Balawi says in the video that his faith cannot be sold to bidders. (ดูอ้างอิง-5)

อ้างอิง

1. A.H.Maslow, A Theory of Human Motivation, Psychological Review 50(4) (1943): 370-96.

2. Herzberg, Frederick (1959), The Motivation to work, New York: John Wiley and Sons.

3. New Student’s Dictionary, 2nd ed., Harper Collins Publishers, 2002, p.334.

4. Oxford Advanced Learner’s Dictionary, 7th ed., Oxford University Press, 2005, p.770.

5.http://edition.cnn.com/2010/WORLD/meast/01/09/afghanistan.cia.video/

6. http://www.social-psychology.de/do/pt_skinner.pd

7.http://socserv2.socsci.mcmaster.ca/econ/ugcm/3ll3/mcdougall/socialpsych.pdf

ท้ายบทความ : ขอเวลานอกพูดคุยกับผู้อ่านที่รักทุกท่าน

1. ผู้เขียนขอแจ้งให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทราบว่า บทความในหมวดที่ 9 จะมีเรื่องต่างๆ ดังนี้

(1) เรื่องที่ 9.1 จะเป็นเรื่องการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในอาณาเขตของประเทศไทย แต่ไม่รวมกรณีที่เกี่ยวกับปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

(2) เรื่องที่ 9.2 จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการพัฒนากองทัพไทย

(3) เรื่องที่ 9.3 จะเป็นเรื่องปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

(4) เรื่องที่ 9.4 จะเป็นเรื่องสงครามในตะวันออกกลาง สงครามในอิรัก และซีเรีย

2. ได้มีผู้อ่านท่านหนึ่งให้สมญานามบทความของผู้เขียนว่า One Day Article ซึ่งคงหมายความว่า บทความของผู้เขียนจะมีเวลาอยู่ในคอลัมน์บทความที่น่าสนใจของ MGR Online ได้เพียง 1 วันเท่านั้น เพราะในวันที่สองจะหาบทความของผู้เขียนไม่พบ เนื่องจากจะถูกย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว- ผู้เขียนเองก็เพิ่งจะทราบจากท่านนี่เอง

3. สำหรับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และคำถามที่มีมาถึงผู้เขียนนั้นต้องขอขอบคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วย และจะพยายามตอบคำถามที่มีมาทุกคำถามให้เร็วที่สุด

4. ถ้าท่านต้องการแสดงความคิดเห็นหรือสอบถามเรื่องใดๆ กรุณาส่งที่ Email Address: weerasak.nathasiri@gmail.com และudomdee@gmail.com ขอบคุณครับ

ข่าวล่าสุด : ขอแจ้งข่าวล่าสุดมายังผู้อ่านครับ

เนื่องด้วย คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส โดย คณะกรรมาธิการกิจการสตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมฯ จัดเสวนาเรื่อง “ยกระดับ..........การยุติความรุนแรงในครอบครัว สตรีและเด็ก Step UP and Speak Out to Stop Domestic Violence”

ในวันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน 2558 ระหว่างเวลา 10.00 - 16.00 น. ณ บริเวณห้องโถงชั้น 1 อาคารรัฐสภา 1 จึงขอเรียนเชิญทุกท่านที่สนใจเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ตามวันเวลา และสถานที่ที่ได้แจ้งมาข้างต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น