xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นโวยลั่น! UNESCO ประกาศให้เอกสารบันทึก “การสังหารหมู่นานกิง” เป็น “ความทรงจำแห่งโลก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อนุสรณ์สถานการสังหารหมู่ที่นานกิง
เอเอฟพี - องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศให้เอกสารที่บันทึกเรื่องราวการสังหารหมู่ที่นานกิงในปี 1937 (Nanjing Massacre) ซึ่งปักกิ่งอ้างว่ามีพลเมืองจีนถูกฆ่าไปถึง 300,000 คน เป็นมรดก “ความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World) ตามแผนงานของยูเนสโกที่ต้องการอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกทางภูมิปัญญา ซึ่งถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

คำประกาศของยูเนสโกมีขึ้นวานนี้ (9 ต.ค.) หลังคณะผู้เชี่ยวชาญใช้เวลาถึง 2 ปีในการศึกษาและพิจารณาเอกสารต่างๆ ที่ถูกเสนอชื่อเข้ามาจาก 40 ประเทศ

คณะผู้เชี่ยวชาญยูเนสโกซึ่งได้มีการประชุมที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 4 จนถึงวันอังคารที่ 6 ต.ค. มีมติรับรองเอกสารใหม่รวมทั้งสิ้น 47 ฉบับ

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาค้านคำตัดสินของยูเนสโกในวันนี้ (10) โดยระบุว่า เป็นสิ่งที่ “น่าเสียใจอย่างยิ่ง” พร้อมเรียกร้องให้ยูเนสโกปรับกรุงแก้ไขกระบวนการคัดเลือกเอกสารเสียใหม่

“เป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างยิ่งที่องค์กรระหว่างประเทศ (อย่างยูเนสโก) ซึ่งควรจะวางตัวเป็นกลางและให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย กลับประกาศให้เอกสารพวกนี้เป็นความทรงจำแห่งโลก ทั้งๆ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นคัดค้านมาแล้วหลายครั้ง” กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นแถลง

“ในฐานะรัฐสมาชิกที่มีความรับผิดชอบต่อยูเนสโก ญี่ปุ่นจะผลักดันให้มีการปฏิรูปโครงการนี้ เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีก”

เหตุสังหารหมู่ หรือที่เรียกกันอีกอย่างว่า “การข่มขืนนานกิง” (Rape of Nanjing) ถือเป็นปมขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ที่บั่นทอนความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นเรื่อยมา เนื่องจากปักกิ่งมองว่าโตเกียวไม่เคยสำนึกผิดอย่างจริงจังต่อความโหดเหี้ยมป่าเถื่อนของทหารญี่ปุ่นในอดีต

จักรวรรดิญี่ปุ่นได้ส่งกองทัพเข้ารุกรานจีนในช่วงทศวรรษ 1930 ก่อนจะเกิดสงครามเต็มรูปแบบระหว่างปี 1937-1945 ซึ่งปิดฉากลงด้วยการที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2

ปักกิ่งอ้างว่า ทหารญี่ปุ่นที่บุกถึงเมืองนานกิงได้ลงมือเข่นฆ่าและข่มขืนพลเมืองชาวจีน จนมีคนล้มตายไปมากถึง 300,000 คน ในช่วงเวลาเพียง 6 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงบางคนเชื่อว่า ยอดผู้เสียชีวิตไม่น่าจะถึง 300,000 คน หนึ่งในนั้นคือ โจนาธาน สเป็นซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จีน ที่ประเมินว่า มีทหารและพลเรือนจีนถูกสังหารไปแค่ราวๆ 42,000 คน ส่วนผู้หญิงจีนที่ถูกข่มขืนก็น่าจะอยู่ที่ราวๆ 20,000 คน

รัฐบาลญี่ปุ่นและผู้บริหารระดับสูงพยายามโต้แย้งข้อมูลเหล่านี้ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคได้ออกมาประกาศว่า การสังหารหมู่ที่นานกิง "ไม่ใช่เรื่องจริง" แต่เป็นเพียง “แผนโฆษณาชวนเชื่อ” ของจีน

ข้อมูลที่รัฐบาลญี่ปุ่นยอมรับอย่างเป็นทางการก็คือ “มีการสังหารผู้ที่ไม่ได้ออกรบ ปล้นสะดม และอาชญากรรมอื่นๆ เกิดขึ้นจริง” แต่การจะระบุจำนวนเหยื่อที่แน่นอนนั้น “ทำได้ยาก”

เมื่อเดือนเมษายน กรุงโตเกียวได้ออกมาปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตำราเรียนประวัติศาสตร์ชุดใหม่ ซึ่งไม่มีคำว่า “สังหารหมู่” (massacre) เมื่อเอ่ยถึงการเข่นฆ่าชาวจีนที่นานกิง แต่ใช้คำว่า “เหตุการณ์” (incident) ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกลางๆ แทน

ยูเนสโกได้ก่อตั้งโครงการมรดกความทรงจำแห่งโลกขึ้นในปี 1992 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์มรดกทางภูมิปัญญาของมนุษยชาติที่ถูกบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ปัจจุบันมีเอกสารและจดหมายเหตุจากนานาชาติได้รับการยกสถานะเป็นความทรงจำของโลกแล้วทั้งสิ้น 348 ฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น