เห็นมีข่าวแว่วๆ มาว่า อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จะเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นชม "เขาช้างเผือก" ประมาณปลายเดือนตุลาคม หรือ ต้นพฤศจิกายน ปีนี้ ก็ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่า เออ เรายังไม่ได้เล่า (โม้) เรื่องนี้ให้ผู้อ่านได้อ่านกันสนุกๆ เลยแหะ
เผอิญเมื่อปลายปีที่แล้วได้เขียนข้อความบนสถานะในเว็บไซต์เฟซบุ๊กส่วนตัวของผม ถึงสถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้ ประมาณว่า เห็นในรูปนี่สวยมากๆ อยากไปเที่ยวจัง น่าสนุกไม่น้อย จนในที่สุดก็มีผู้ใหญ่ใจดีอย่างเฮียแมว และ พี่เอก (ลี) อดีตสมาชิกเว็บไซต์พันทิพ ชักชวนให้เข้าร่วมการเดินทางในครั้งนี้ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็เกือบจะชุดสุดท้ายที่เขาให้ขึ้นไปท่องเที่ยวก่อนจะปิดฤดูกาลเลยล่ะ
"เขาช้างเผือก" นี้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ติดกับชายแดนสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เป็นยอดเขาสูงสุด สูง ๑,๒๔๙ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีลักษณะป่าโปร่งสลับกับทุ่งหญ้า ซึ่งก็เพิ่งจะเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง ส่วนการเดินทางนั้นสามารถมาได้ทั้งรถส่วนตัว จากตัวเมือง เข้าสู่อำเภอทองผาภูมิ และไปปิล๊อก ระยะทางรวมราว ๑๗๕ กิโลเมตร (อ้างอิงเว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) หรือใช้บริการรถสาธารณะ ไปลงที่อำเภอทองผาภูมิ แล้วต่อรถสองแถวสีเหลือง ที่ตลาดทองผาภูมิ ไปบ้านอีต่อง (สามารถดูวิธีการเดินทางได้ที่ เว็บไซต์ kanchanaburi.co )
ส่วนการจองคิวเดินทางขึ้นเขานั้นทางเว็บไซต์เฟซบุ๊กแฟนเพจ “อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี” ระบุว่า ได้เปิดให้จองผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้นที่ หมายเลข ๐๓๔ - ๕๑๐๙๗๙ และรับเพียงวันละ ๖๐ คน เอง แต่ช่วงนี้อย่าเพิ่งโทรไปนะครับ เขายังไม่ได้เปิดให้จอง หากใครสนใจสามารถติดตามผ่านแฟนเพจนั้นล่ะ ถ้าลงไปอ่านเรื่อยๆ ก็จะเจอดราม่าข้อกล่าวหามากมายเกี่ยวกับการจอง ทั้งโทรไปแต่เช้าปรากฏว่า เต็ม หรือ โทรศัพท์จองได้วัน พร้อมส่งเอกสารสำเนาบัตรประชาชนเพื่อยืนยันการเดินทางแล้วแต่ก็ถูกยกเลิก ในขณะที่มีกรุ๊ปทัวร์บางแห่งสามารถจองให้ได้ ซึ่งจริงเท็จยังไงผมก็ไม่ทราบเช่นกัน ทางอุทยานก็ไม่เห็นออกมาชี้แจงอะไร
ในส่วนของผมเอง ผมไม่ได้เป็นคนจองมีพี่โต้โผทริปอาสาเป็นธุระจัดหาให้ ซึ่งก็จองกันข้ามเดือนเลยครับกว่าจะได้ขึ้น ก็ไม่รู้ว่าปีนี้จะเปลี่ยนแปลงวิธีการจองอะไรอีกหรือเปล่านะ
พูดกันตรงๆ ก็คือ ทริปนี้ผมรับบทเป็นผู้ร่วมเดินทางอย่างแท้จริง ตั้งแต่รับปากว่า ไป ส่งเอกสาร เตรียมข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว แล้วเดินทาง โอ้เย ตอนที่ไปนี่ไม่รู้อะไรเลยครับ ไม่ได้ศึกษาความเป็นมา จะไปเส้นไหน อะไร ยังไง รู้แต่จะได้ขึ้นเขาแล้ว เย่ๆ เป็นเด็กน้อยเลยทีเดียว ... ผมว่าท่านผู้อ่านหลายท่านก็เคยเป็นเหมือนผมนั่นล่ะ ฮ่าๆๆ
สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนไปก็คือร่างกาย เพราะเราต้องเดิน เดิน เดิน ขึ้นและลงเขาไปเรื่อยๆ จึงควรซ้อมเดินเยอะๆ หลายๆ กิโลเมตรไว้บ้างเป็นดี ส่วนสภาพจิตใจนั้น ที่นี่ไม่ค่อยเหมาะกับคนกลัวความสูงอย่างรุนแรง สำหรับสัมภาระที่ต้องเตรียมไป ก็คล้ายๆ กับเวลาเราเดินป่า หรือนึกถึงตอนเราเข้าค่ายลูกเสือ รับน้อง อะไรอย่างนั้น ยิ่งน้อยที่สุดยิ่งดี เพราะจะสะดวกต่อตัวเรา และไม่ต้องเสียค่าจ้างลูกหาบในราคาที่สูงขึ้น
การเดินทางครั้งนี้เราใช้เวลา ๓ วัน ๒ คืนครับ คณะของผมทั้ง ๔ หนุ่ม ออกจากกรุงเทพฯ ในช่วงบ่าย ขับชิลชิลไปเรื่อยๆ ถามทางบ้าง แวะเติมน้ำมัน ดื่มกาแฟ กินข้าวเย็น ไปถึงโน้นดึกเลยจ้า อันนี้ชิลไปหน่อย จุดที่ต้องระวังก็คือ ก่อนถึงอุทยานฯ ราวๆ ๒๔ กิโลเมตรนี่ขดเคี้ยวเลี้ยวลดมากๆ พอเลยที่ทำการอุทยานฯ ก็มุ่งตรงสู่หมู่บ้านอีต่อง จุดสตาร์ทของการขึ้นเขา ที่นั่นจะมีทั้งโฮมสเตย์ และบ้านพักของชาวบ้านไว้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งเราควรโทรจองที่พักเอาไว้เนิ่นๆ ไม่งั้นนี่เหนื่อยแน่
“หมู่บ้านอีต่อง” นี่อยู่ใน ต.ปิล๊อก ชื่อเดิมคือ "ณัตเอ็งต่อง" แปลว่า หมู่บ้านที่อยู่บนเขาเทวดา แต่แน่นอนว่าถูกเพี้ยนจนกลายเป็นแบบปัจจุบัน ย้อนกลับไปเมื่อสัก ๗๐ ปีที่แล้วที่นี่คือย่าน เหมืองปิล๊อก ที่รัฐบาลได้เปิดขึ้น พร้อมให้สัมปทานเอกชนบางส่วน เข้ามาขุดหาแร่วุลแฟรม และดีบุก ทำให้ที่นี่เป็นย่านอยู่อาศัยขนาดใหญ่ริมชายแดน มีร้านค้า และสถานบันเทิงเพื่อรองรับแรงงานเหมือง นับพันๆ คน จนกระทั่งเกิดวิกฤตการณ์ราคาแร่ตกต่ำทั่วโลก เหมืองปิดตัวลง ความเงียบสงบจึงกลับมาที่นี่อีกครั้ง
หลายๆ คนเลือกที่จะขับรถหรือเดินทางมาถึงในช่วงเช้าตรู่ เพื่อจะได้ขึ้นเขาในทันที แต่สำหรับพวกเราอายุอานามก็ไม่ใช่เด็กกันแล้ว จึงเลือกที่จะนอนเอาแรงสักงีบ แล้วลุยต่อในช่วงเช้าดีกว่า
ภารกิจหลังตื่นนอนที่สำคัญที่สุดก็คือ ... การขับรถไปที่อุทยานฯ เพื่อรายงานตัวกรอกแบบคำขอเข้าศึกษาเส้นทางธรรมชาติและเสียค่าธรรมเนียม อาทิ ค่าเข้าอุทยานฯ คนละ ๓๐ บาท ค่าเอารถเข้าอุทยาน ๔๐ บาทต่อ ๑ คัน ค่ากางเต็นท์ ๓๐ บาทต่อหลัง และค่าเจ้าหน้าที่นำทาง ๑,๒๐๐ บาทต่อ ๑๐ คน ตรงนี้เรามาไม่ถึง ๑๐ คน เจ้าหน้าที่จะจัดให้ไปรวมกับกลุ่มอื่นๆ ที่มีประชากรน้อยเพื่อรวมกันให้ได้ครบ ส่วนลูกหาบแบกสัมภาระนี่ไปหาเอาหน้างานครับ มีค่าใช้จ่าย ๑,๑๐๐ บาทต่อคืน ซึ่งลูกหาบ ๑ คนจะแบกน้ำหนักได้ราว ๑๐ กิโล
สิ่งที่ต้องใส่ไว้ในเป้ตอนขึ้นเขา ที่แนะนำคือ ถุงนอน ชุดนอน ๑ ชุด ยารักษาโรค แปรงและยาสีฟัน สบู่ล้างหน้า ทิชชู่ และ ทิชชู่เปียก อันนี้สำคัญมากเพราะข้างบนไม่มีน้ำให้ใช้ ส่วนอาหารก็ควรซื้อของกินง่ายๆ มีลักษณะแห้ง อาหารสำเร็จรูปที่ไม่ต้องใช้ไมโครเวฟ (ในป่าจะมีไฟฟ้าได้อย่างไรนิ) และน้ำดื่มคนละ ๒ - ๔ ลิตรน่าจะอยู่ได้ พวกเต๊นท์ ถ้าเราจ้างลูกหาบก็ให้เขาแบกไป แต่ถ้าจะเอาประหยัดก็เหนื่อยหน่อย ชุดเดินทางก็แล้วแต่สะดวก แต่ควรใส่แขนยาว มีหมวก เนื่องจากอากาศข้างบนร้อนจริง และพกถุงมือไปด้วย เพราะบางจุดต้องปีนป่ายเขา
เมื่อพร้อมทุกสิ่งก็ไปที่จุดระดมพล รอคนให้ครบแล้วออกเดินทาง จากหมู่บ้านไปสู่ด่านขึ้น ราว ๑ กิโลเมตร ตรงนี้จะมีป้ายที่เขียนว่า "ขอต้อนรับสู่เส้นทางผู้พิชิตยอดเขาช้างเผือก" แล้วก็เดินจากจุดนี้ไปยังลานกางเต๊นท์อีก ๘ กิโลเมตร ในช่วงแรกๆ จะเป็นป่า ทางเดินไม่ยากเท่าไหร่ แต่พอเลยจากป่าสู่ทุ่งหญ้าที่เราต้องเดินไปตามสันเขา เขาแล้ว เขาเล่า นี่เสียวไม่น้อย
ตอนเห็นภาพในเว็บผมนึกถึง "ดรากอนแบ๊ก" เส้นทางเดินป่าบนอุทยานแห่งชาติเฉียกโอ (Shek O) บนเกาะฮ่องกง เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ที่ผมได้เคยขึ้นไปเที่ยวเล่นเมื่อ ๒ ปีก่อน แต่เอาเข้าจริงๆ ที่นี่คนละเรื่องเลยครับ ทั้งชัน แคบ และหวาดเสียวกว่ามาก อันตัวผมนี้ก็ความซวยบังเกิด ท้องไส้ปั่นป่วนเพราะตื่นเช้าจัด เดินไปปวดท้องไป จนต้องขอพี่ๆ ในทีม เพื่อขอเวลาไปแอบซ่อนตัวตามไหล่เขาแล้วทิ้งบอมบ์เป็นที่ระลึก เรียกได้ว่า หน้าซีดกันทั้งวันเลยทีเดียว
อากาศข้างบนนี้ร้อน ร้อน และร้อน ยิ่งเดินยิ่งร้อน ต้องพักดื่มน้ำเรื่อยๆ แต่ยอมรับว่า คุ้มค่ากับการมาจริงๆ ที่ได้เห็นทิวทัศน์แบบนี้ เราอยู่บนยอดเขามองเห็นเขาหลายๆ ลูก เห็นคนกำลังเดินลัดเลาะมา และก็แซงเราไปหมด ฮ่าๆๆ คือแบบ ถ้าให้เทียบกับเฉียกโอ๋ มันก็คนละความรู้สึกนะ ของฮ่องกงจะเป็นป่ากลางเมือง แต่ที่นี่คือรอบกายมีแต่ความเขียวชะอุ่มของต้นไม้ ทุ่งหญ้า และภูเขา แม้จะร้อน แต่พอลมพัดมาเอี่อยๆ ให้ปะทะใบหน้า และได้สูดอากาศบริสุทธิ์หลายๆ ครั้งก็ทำให้หายเหนื่อยบ้าง
จุดที่กางเต๊นท์ เป็นลานโล่งๆ บนสันเขา ที่มีพื้นที่พอจะกางเต๊นท์ได้ไม่มากนัก มีห้องน้ำแบบญี่ปุ่นให้เข้า ๓ ห้อง แต่ใช้ได้จริง ๑ ห้อง อ่อ ญี่ปุ่นนี่หมายถึงยุคเอโดะนะครับ เป็นส้วมหลุมมีไม้กระดานพาด มีช่องว่างตรงกลาง ข้างในก็มี... นั่นล่ะครับ ไม่ต้องบรรยายมาก ผมไปวันท้ายๆ นี่กองเป็นภูเขาอีกสักเมตรก็คงถึงปากหลุมได้ ขอบๆ ที่นั่งมีร่องรอยอารยธรรมของบางคนที่ปล่อยพลาดด้วย (ไหนว่าไม่บรรยายมากไง ไอ้คุณดรงค์)
บนนี้ไม่มีน้ำให้ใช้ครับ ทิชชู่เปียกพระเอกของเราจะมาช่วยบรรเทาความสกปรกได้ดี ทั้งเช็ดหน้า เหงื่อตามตัว และอื่นๆ ผมมาถึงได้สักราวๆ บ่าย ๒ โมง กางเต๊นท์เรียบร้อย แดดร้อนๆ นอนในเต๊นท์เป็นหมูอบกันเลยทีเดียว รอเวลาที่เจ้าหน้าที่จะให้ขึ้น ราวๆ ๔ โมงครึ่ง มีต้นไม้สูงไม่กี่ต้น ก็ไม่สามารถบรรเทาความร้อนได้
เมื่อได้เวลา เจ้าหน้าที่ก็จะพาเราเดินขึ้นเขาไปอีก ๑ กิโล เพื่อถึงจุดสุดยอดดดดดดดดด และทางข้างหน้าก็คือไฮไลต์ของการเดินทาง "สันคมมีด" สันเขาหินช่วงที่แคบที่สุดต้องปีนป่ายอย่างเดียวเท่านั้น โดยมีเชือก ๑ เส้นให้จับปีนขึ้น มีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกฉุดขึ้นไป ตรงนี้นี่ถือว่าโหดและวัดใจสุดๆ ทั้งขาขึ้น และขาลง คือ... ก็ต้องลงทางเดิมเพื่อกลับมายังที่พักไงครับ สำหรับคุณดรงค์ บอกเลยว่า ถ้าร่างกายดีนี่จิ๊บๆ จิตใจนี่สู้เต็มที่ แต่ตอนนี้ขาสั่นสุดๆ ร่างกายอ่อนเพลียเหลือกำลัง
แล้วจากตรงนี้เราก็ต้องเดินไปอีก ยิ่งทางขึ้นเขาชั้นบนสุดนี่สูงมากๆ ยิ่งเดินยิ่งท้อ แต่พอนึกถึงสันคมมีดที่ผ่านมาได้แล้ว ก็รู้สึกว่า ถ้ากูต้องกลับตอนนี้... กูยอมสู้เดินต่อไปอีกนิดดีกว่ามั้ย.. อดทนเดินขึ้นบนพื้นที่เป็นดินผสมทราย ต้องระวังอาการลื่นในหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ถึง บนลานโล่งที่มีป้ายเขียนเอาไว้ว่า "ยอดเขาช้างเผือก" โอ้เย ... ที่ทำให้รู้สึกหายเหนื่อยที่สุด ไม่ใช่แค่เดินมาถึงแล้ว แต่ตรงนี้ทัศนียภาพสวยที่สุดของการเดินทางจริงๆ เห็นภูเขาสีเขียวทอดยาวไปอีกไกลลิบตา
เจ้าหน้าที่ให้อยู่บนนี้สักพักก็เชิญผู้ร่วมทริปลงจากเขาสู่ลานกางเต๊นท์ เขาบอกว่า ไม่อยากให้ค่ำจะอันตราย
แน่นอนครับ มาถึงที่พัก ทานข้าวเสร็จก็หลับไม่รู้เรื่องเลย ตื่นมาอีกทีรุ่งเช้ามืด งัวเงียมาชมพระอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า จริงๆ ก็เคยดูบ่อยๆ นะพระอาทิตย์เนี่ย แต่ความสุขมันอยู่ที่ได้เห็นมันขึ้นมากับทิวทัศน์ที่แปลกตา ตั้งแต่แสงแรกจนท้องฟ้าเริ่มสว่าง เมื่อนั้นก็จงรีบเก็บข้าวของแล้วออกเดินทางเถอะครับ มิเช่นนั้นจะร้อนเกินทน
ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งทริปที่ผมรู้สึกว่า มีความประทับใจที่ได้มาชมความสวยงามของธรรมชาติ ที่ยิ่งกว่าในภาพถ่าย และความท้าทายของชีวิต
ถามว่า ถ้าให้มาอีกมามั้ย? ก็อย่างที่จั่วหัวไว้นั่นล่ะครับ ทำไมน่ะหรือ? ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะสังขารของตนเอง แล้วช่วงเวลาระหว่างรอขึ้นยอดเขา มันไม่ได้มีสิ่งหรือสถานที่ หรือกิจกรรม ที่ให้ได้ทำ ได้เห็น ถ้าบอกว่าเพื่อให้พัก สำหรับผมพูดตรงๆ ร้อนแบบนั้น ไม่ไหวนะ หยิบหนังสือมาสักเล่มยังจะไม่อยากอ่านเลย เช่นเดียวกับระหว่างเดินขึ้นมาก็ไม่ได้มีสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากทิวทัศน์ให้ได้ชมสักเท่าไหร่
แต่ถ้าถามว่า คนไม่เคยไป ควรมาหรือไม่ ... ดูจากภาพ จากที่ผมเล่า แล้วพิจารณากันเองนะครับ สำหรับผมเชียร์ให้ไปแน่นอน
...... แถมท้ายสักนิด
ลงจากเขามาแล้ว ผมมีที่อาบน้ำที่เหมาะกับการผ่อนคลายอารมณ์สุดๆ หลังไปเมื่อยล้ามา นั่นคือ "พุน้ำร้อนหินดาด" ห่างจากอุทยานฯ น่าจะราว ๓๐ - ๔๐ กิโลเมตรได้ อยู่ในตำบลหินดาด ตามประวัติเขาว่า ถูกค้นพบโดยทหารญี่ปุ่นที่คุมเชลยศึกมาสร้างรถไฟสายมรณะ ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ ที่มีตาน้ำอยู่ใต้ดิน เสียค่าเข้าคนละ ๑๐ บาท เปิดให้บริการตั้งแต่ ๖ โมงเช้า - ๔ ทุ่ม ภายในมีบ่อที่ถูกสร้าง ๓ บ่อ ตั้งแต่ร้อนมาก ปานกลาง และสำหรับเด็ก นอกจากนี้ยังมีบ่อของพระสงฆ์ด้วย ส่วนอุณหภูมิก็ราวๆ ๔๕ - ๕๕ องศาเซลเซียส ซึ่งทุกบ่อจะอยู่ติดกับลำธารซึ่งมีอุณหภูมิของน้ำค่อนข้างเย็น นี่ถ้าแก้ผ้าลงจะได้อารมณ์เหมือนไปออนเซนในญี่ปุ่นเลยทีเดียว
ซึ่งก่อนจะลงเราต้องไปฝากของในตู้ล็อกเกอร์ก่อน เสียค่าตู้ ๑๐ บาท จากนั้นก็มาอาบน้ำในห้องน้ำ ก่อนที่จะไปแช่ในบ่อร้อน แล้วมาบ่อเย็น สลับกันบ่อละ ๑๐ - ๑๕ นาที จะช่วยคลายกล้ามเนื้อได้ เขาว่ามาอย่างนี้
ผมเห็นจุดเช่าล็อกเกอร์มีภาษารัสเซียเขียนกำกับด้วย คนเฝ้าเขาว่า ที่นี่คนรัสเซียชอบมาเที่ยว ก็ไม่รู้ว่าไปรู้จักมาจากไหนนะ ขนาดเราเป็นคนไทยยังเพิ่งรู้เลย ฮ่าๆๆ ในเว็บไซต์ kanchanaburi.co บอกว่า ที่นี่อยู่ในความดูแลของอบต. หินดาด โดยจะมีเจ้าหน้าที่มาล้างบ่อ และดูแลเปลี่ยนน้ำ ถ่ายน้ำใหม่ทุกวันจันทร์ และวันศุกร์ แต่เท่าที่ประสบมานี่ ในบ่อแช่ลื่นไม่ใช่น้อยเหมือนกันนะ
ถ้าใครไม่ได้มีโอกาสมาเที่ยวเขาช้างเผือก ก็มาแวะเล่นออนเซนแบบไทยๆ ที่พุน้ำร้อนหินดาด ได้นะครับ