xs
xsm
sm
md
lg

เหตุโจมตีจาการ์ตาชี้ ผู้ก่อการร้ายอิสลามิสต์กำลัง ‘ลับคม’ ความสามารถในการปฏิบัติการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ดั๊ก สึรุโอกะ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Jakarta attacks show Islamic terrorists are honing lethal edge
By Doug Tsuruoka
14/01/2016

ไอเอชเอส บริษัทข้อมูลข่าวสารและบทวิเคราะห์ชื่อดัง ชี้ว่าการโจมตีในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ม.ค.) ที่ผ่านมา คือการที่ผู้ก่อการร้ายอิสลามิสต์ในอินโดนีเซีย กำลังขัดเกลา “ลับคม” ความสามารถในการจัดองค์กรและในการเข้าโจมตี “เป้าหมายอ่อนนุ่ม” ของพวกตน และถึงแม้ทางการอินโดนีเซียประณามว่ากลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) เป็นผู้ก่อเหตุคราวนี้ โดยที่ไอเอสเองก็แถลงรับรอง ทว่าอาจมีความเป็นไปได้แม้จะน้อยนิด ที่อัลกออิดะห์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ไอเอชเอส (IHS) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ โกลบอลอินไซต์ (Global Insights) (รวมทั้งเป็นบริษัทแม่ของ เจนส์ Jane’s) [1] ออกรายงานกล่าวว่า เหตุโจมตีที่มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวนหนึ่งในกรุงจาการ์ตาเมื่อวันพฤหัสบดี (14 ม.ค.) ส่อแสดงให้เห็นว่าพวกหัวรุนแรงอิสลามิสต์กำลังฝึกปรือ ขัดเกลา “ลับคม” ความสามารถในการจัดองค์กรของพวกตน อีกทั้งสาธิตให้เห็นความสามารถของพวกเขาในการเข้าโจมตีพวก “เป้าหมายอ่อนนุ่ม” (soft targets) ที่เข้าเล่นงานได้ง่าย ในพื้นที่ใจกลางนครหลวงของอินโดนีเซีย

อันตอน อะลิฟันดิ (Anton Alifandi) รองหัวหน้าด้านการวิเคราะห์เอเชีย (Asia Analysis) ของฝ่าย IHS Country Risk (https://www.ihs.com/industry/economics-country-risk.html) ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ในบทวิเคราะห์ที่เพิ่งออกมาชิ้นหนึ่งว่า การโจมตีคราวนี้ถือว่ารุนแรงก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายมากที่สุด นับตั้งแต่การก่อเหตุระเบิด 2 ครั้งซ้อนต่อโรงแรม เจดับเบิลยู แมรีออท (JW Marriott) และโรงแรม ริตซ์-คาร์ลตัน (Ritz-Carlton) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2009 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตไป 7 คน เขากล่าวต่อไปว่า การโจมตีครั้งล่าสุดนี้ยังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนร้ายผู้ก่อเหตุสามารถที่จะใช้บุคลากรหลายๆ คน กระจายกันเข้าโจมตีเป้าหมายหลายๆ เป้าหมายซึ่งต่างเป็นที่รู้จักมักคุ้นอย่างสูงในระดับระหว่างประเทศ

รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกมาแถลงประณามว่า กลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) คือผู้กระทำการโจมตีคราวนี้ และไอเอสเองก็มีคำแถลงยืนยันความรับผิดชอบเช่นกัน รายงานข่าวระบุว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงของอินโดนีเซียต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการยุติการโจมตีซึ่งเกิดขึ้นใกล้ๆ กับร้านกาแฟร้านหนึ่งของ “สตาร์บัคส์” (Starbucks) และห้างสรรพสินค้าชื่อดังของกรุงจาการ์ตา หลังจากที่กลุ่มหัวรุนแรงซึ่งมีจำนวนอย่างน้อย 7 คนได้ยิงต่อสู้กับตำรวจก่อนที่จะระเบิดตัวเองดับชีวิตไป ผู้ที่ถูกสังหารมีรวมทั้งสิ้น 7 คน โดยเป็นคนร้ายที่ก่อเหตุโจมตี 5 คน และพลเรือนอีก 2 คน นอกจากนั้นยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 20 คน ตำรวจระบุด้วยว่าสามารถจับเป็นพวกหัวรุนแรงเอาไว้ได้ 2 คน

ขณะที่การใช้เพียงแค่อาวุธปืนเล็ก และระเบิดแสวงเครื่อง (improvised explosive devices หรือ IEDs) แสดงให้เห็นว่าพวกผู้ก่อการร้ายเหล่านี้ยังค่อนข้างขาดความชำนาญการในเรื่องเหล่านี้ แต่ อะลิฟันดิ ก็ชี้ว่าความเชี่ยวชาญของพวกเขาน่าที่จะปรับปรุงยกระดับเพิ่มขึ้นมา เมื่อชาวอินโดนีเซียซึ่งกำลังทำการสู้รบให้กับกลุ่มไอเอส เดินทางกลับมาจากซีเรีย นอกจากนั้น เขายังแสดงความสงสัยและให้การคาดเดาในประเด็นที่ว่ามีกลุ่มที่เชื่อมโยงกับอัลกออิดะห์เข้าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุครั้งนี้หรือไม่ โดยหากคำตอบออกมาว่ามี มันก็จะสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการขั้นใหม่ที่กลุ่มหัวรุนแรงอิสลามิสต์ระดับโลกกลุ่มสำคัญ 2 กลุ่ม กำลังพยายามแข่งขันช่วงชิงอิทธิพลกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เหตุโจมตีคราวนี้บังเกิดขึ้นในบริเวณถนนจาลัน ทามาริน (Jalan Thamrin) ซึ่งเป็นถนนใหญ่สายหลักในแนวเหนือ-ใต้ของกรุงจาการ์ตา และเป็นที่ตั้งของพวกโรงแรมใหญ่ๆ , ศูนย์การค้า, ตลอดจนอาคารออฟฟิศบิวดิ้งสูงๆ ทำเนียบประธานาธิบดีอินโดนีเซียก็ตั้งอยู่ห่างออกไปทางเหนือไม่ถึง 2 กิโลเมตร ไอเอสเอชบอกว่ารายงานข่าวหลายกระแสก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า มีการโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่องในบริเวณด้านนอกของสถานเอกอัครราชทูตหลายแห่งนั้น ดูจะเป็นข่าวที่ไม่ถูกต้อง

เหตุโจมตีกรุงจาการ์ตาครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงการยุติวิธีปฏิบัติที่พวกผู้ก่อการร้ายกระทำอยู่ในอินโดนีเซียมาระยะหนึ่งก่อนหน้านี้ อะลิฟันดิ ชี้ว่า นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ได้เกิดการโจมตีหลายต่อหลายครั้งบนเกาะชวา ซึ่งเป็นเกาะสำคัญที่สุดของอินโดนีเซียและก็เป็นที่ตั้งของเมืองหลวงจาการ์ตาด้วย ทว่าแบบแผนหลักของการโจมตีเหล่านี้เป็นการใช้อาวุธเล่นงานตำรวจ และการใช้ระเบิดแสวงเครื่องสมรรถนะต่ำบรรจุอยู่ในเป้หลังโดยพวกหัวรุนแรงคนเดียวโดดๆ สำหรับการโจมตีที่จาการ์ตาคราวนี้ ถึงแม้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเภทของวัตถุระเบิดที่คนร้ายใช้ ยังคงให้ภาพเพียงคร่าวๆ ไร้ความชัดเจน แต่ก็ดูจะชี้ให้เห็นว่าวัตถุระเบิดเหล่านี้ไม่ได้มีอานุภาพถึงขนาดก่อความเสียหายหนักๆ ให้แก่ตัวอาคาร

ในเวลาเดียวกัน อะลิฟันดิ มองว่า การบุกโจมตีที่ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ก็แสดงให้เห็นถึงการหวนกลับไปสู่แบบแผนการเลือกเป้าหมายโจมตีซึ่งคนร้ายเคยใช้เมื่อหลายๆ ปีก่อน เขาชี้ว่าหลังจากการโจมตีเล่นงานโรงแรมชื่อดังระหว่างประเทศแห่งใหญ่ 2 แห่งในปี 2009 แล้ว พวกหัวรุนแรงได้หันไปใช้การโจมตีด้วยอาวุธขนาดเล็กและพุ่งเป้าเล่นงานตำรวจเป็นสำคัญ ทว่าการโจมตีในวันพฤหัสบดี (14 ม.ค.) ส่อแสดงว่าพวกหัวรุนแรงกำลังพุ่งเป้าเล่นงานภาคธุรกิจกันอีกครั้ง โดยเฉพาะพวกแบรนด์ระดับโลกที่จะส่งผลให้มีการโฆษณาป่าวร้องกันไปทั่วโลก

ขณะที่อินโดนีเซียประณามกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ว่าเป็นผู้ก่อเหตุคราวนี้ และไอเอสเองก็กำลังออกมารับเครติดเรื่องนี้ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกัน ถึงแม้ต้องถือว่าน้อยนิดเหลือเกิน ที่ว่ากลุ่มอัลกออิดะห์เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ โดยที่บทวิเคราะห์ชิ้นนี้ของ ไอเอชเอส ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา พวกหัวรุนแรงชาวอินโดนีเซียได้เกิดการแตกแยกกัน ระหว่างพวกที่สนับสนุนไอเอส และพวกที่ยังคงเชื่อมโยงอยู่กับอัลกออิดะห์

หน่วยงานเฝ้าติดตามข่าวจากสื่อในต่างแดนของบีบีซี (BBC’s Monitoring Service) เพิ่งรายงานว่า อัยมาน อัล-ซอวาฮิรี (Ayman al-Zawahiri) ผู้นำคนปัจจุบันของกลุ่มอัลกออิดะห์ ได้ออกคลิปเสียงวันที่ 13 มกราคม ที่มุ่งส่งข้อความถึงชาวมุสลิมอินโดนีเซียและชาวมุสลิมในชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ โดยเรียกร้องให้พวกเขาเปิดการโจมตีต่อสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯและพันธมิตรของสหรัฐฯ

ดั๊ก สึรุโอกะ เป็นบรรณาธิการใหญ่ของเอเชียไทมส์ในปัจจุบัน เขาเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์และอดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ซึ่งเคยทำงานให้กับ ฟาร์ อีสเทิร์น อีโคโนมิก รีวิว, เอเชียไทมส์ฉบับที่เป็นหนังสือพิมพ์, นิวสวีก, สำนักข่าวเอพี-ดาวโจนส์ นิว เซอร์วิส, อินเวสเตอร์ส บิสซิเนส เดลี่, และสื่อมวลชนรายใหญ่อื่นๆ ทั้งนี้เขาติดตามรายงานข่าวจากญี่ปุ่น, เกาหลี, มาเลเซีย, และไทย

หมายเหตุผู้แปล
[1] บริษัท ไอเอชเอส อิงค์ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1959 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เทศมณฑลดักลาส (Douglas County) มลรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ไอเอชเอสระบุว่ามุ่งดำเนินกิจการด้านให้ข่าวมูลข่าวสารและบทวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจของธุรกิจต่างๆ และของรัฐบาลต่างๆ ในอุตสาหกรรมหลากหลายตั้งแต่ การบินและอวกาศ, กลาโหมและความมั่นคง, รถยนต์, เคมีภัณฑ์, พลังงาน, การขนส่งทางทะเลและการค้า, และเทคโนโลยี ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไอเอชเอสได้เข้าซื้อธุรกิจต่างๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก เป็นต้นว่า กลุ่มเจนส์ อินฟอร์เมชั่น กรุ๊ป (Jane's Information Group มักนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า Jane’s) บริษัทที่มีความชำนาญพิเศษในเรื่องการทหาร การบินและอวกาศ และการขนส่ง, โกลบอลอินไซต์ (Global Insights) กิจการให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่ลูกค้าในแวดวงอุตสาหกรรม การเงิน และรัฐบาล, เคมบริดจ์ เอนเนอจี รีเสิร์ช แอสโซซิเอตส์ (Cambridge Energy Research Associates ใช้อักษรย่อว่า CERA), และ จอห์น เอส. เฮโรลด์ อิงค์ (John S. Herold Inc.) ในปี 2010 ไอเอชเอสซื้อ iSuppli และ สกรีน ไดเจสต์ (Screen Digest) ในปี 2012 ซื้อ ดิสเพลย์แบงก์ (Displaybank) และ ไอเอ็มเอส รีเสิร์ช (IMS Research) และในปี 2013 ซื้อ โพลค์ (Polk) และ คาร์แฟกซ์ (Carfax) (ข้อมูลจาก Wikipedia)


กำลังโหลดความคิดเห็น