ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ดูเหมือนว่าการแก้ไขปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา จะเป็นผลงานที่โดดเด่นชิ้นหนึ่งของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสามารถบังคับให้ขายปลีกในราคาไม่เกินฉบับละ 80 บาท ได้ตั้งแต่งวดวันที่ 16 มิถุนายน 2558 จากเดิมที่เคยจำหน่ายกันใบละ 100 บาทขึ้นไป ทำให้มีเงินส่วนต่างเกิดขึ้นปีละประมาณ 18,000 ล้านบาท จากการกินหัวคิวเป็นทอด ๆ กันไป
นอกจากการบังคับขายตามราคาหน้าสลากแล้ว รัฐบาลได้จัดระเบียบการจัดสรรโควตาและวางกฎเกณฑ์ รวมทั้งตั้งราคาต้นทุนจากกองสลากใหม่ ทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการลดลงและมีกำไรเพิ่มขึ้นจากเดิม ใบละ 5.60 บาท เป็นใบละ 9.60 บาท พร้อมกับรณรงค์ให้ประชาชนใช้แนวทาง “เลือก ร้อง ลืม” กล่าวคือ “เลือก” ซื้อเฉพาะจากร้านหรือผู้ค้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย “ร้อง” คือ ร้องเรียนมายังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ลงโทษเอาผิดผู้ขายเกินราคา และ “ลืม” คือทำลืมที่จะซื้อไปสักงวดสองงวด เพื่อให้บทเรียนแก่ผู้ค้าที่ไม่เคารพกติกาบ้านเมือง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตก คือเรื่องความสามารถในการรวบรวมสลาก ที่ทำให้ผู้ค้ารายย่อยเสียเปรียบนายทุนรายใหญ่ที่สามารถรวบรวมสลากได้มากกว่า
ต่อมา วันที่ 2 กันยายน 2558 คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล มีมติเห็นชอบให้เดินหน้าจัดการโควตาสลากและราคาให้อยู่ในราคาใบละ 80 บาท ตามแผนดำเนินการโรดแมประยะที่ 2 โดยได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดสั่งซื้อและจองสลากล่วงหน้าทั่วประเทศตามความต้องการของผู้ค้า กำหนดขั้นต่ำ 5 เล่ม สูงสุดไม่เกิน 50 เล่ม ในราคาซื้อสั่งจองล่วงหน้าอยู่ที่ใบละ 70.40 บาท ถือเป็นการเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปที่ต้องการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลได้มีโอกาสรับสลากมากจำหน่ายได้ง่ายขึ้น
โรดแมปการปฏิรูปสลากกินแบ่งเดินมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญในการประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 เมื่อที่ประชุมมติว่า จะไม่ต่อสัญญาจำหน่ายสลาก ให้กับนิติบุคคลที่สัญญาจะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2558 ยกเว้นองค์กรการกุศล และองค์กรที่เกี่ยวข้องผู้พิการเท่านั้น เพื่อนำสลากจำนวนดังกล่าวไปจำหน่าย สร้างรายได้ นำสู่การใช้สาธารณประโยชน์ หรือช่วยเหลือองค์กรการกุศล องค์กรเกี่ยวกับคนพิการเป็นหลัก เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ไม่มีความจำเป็นต่อสัญญาอีก
นอกจากนี้ยังเพื่อกระจายสลากไปให้กับผู้ค้ารายย่อยให้ได้มากที่สุด ทำให้อัตราการกระจายสลากไปสู่รายย่อยมีจำนวนสูงขึ้น ส่วนจะพอเพียงหรือไม่จะใช้เวลาติดตาม 3 - 6 เดือน
ส่วนปัญหาการขายสลากเกินราคา จะตรวจสอบว่ามีการขายเกินฉบับละ 80 บาทหรือไม่ หรือมีผู้รับสลากไปขายส่งให้ผู้ค้ารายย่อยในราคาสูงกว่าฉบับละ 70.40 บาทหรือไม่ หากพบก็จะลงโทษด้วยการไม่ต่อสัญญาให้กับองค์กรนั้น ๆ อีกต่อไป
การไม่ต่อสัญญาให้นิติบุคคลนับเป็นการปิดฉากตำนาน 5 เสือกองสลากฯ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลรายใหญ่ 5 บริษัทที่เป็นผู้กว้างขวางในวงการลอตเตอรี แนบแน่นกับฝ่ายการเมืองทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ประกอบด้วย บริษัท สลากมหาลาภ จำกัด, บริษัท ปลื้มวัธนา จำกัด (ชื่อใหม่ บริษัท แอดวานซ์ เทคโนโลยี ซิสเต็มส์ จำกัด), บริษัท ไดมอนด์ ล็อตโต้ จำกัด ของ “เจ๊แดง” หรือ นางปลื้มจิตต์ กนิษฐ์สุด, บริษัท หยาดน้ำเพชร จำกัด และ บริษัท บีบี เมอร์ชานท์ จำกัด ของ “เจ๊สะเรียง” น.ส.สะเรียง อัศววุฒิพงศ์
เมื่อสำนักงานสลากฯ ยุติสัญญากับนิติบุคคล จะทำให้จำนวนสลากที่จะนำจัดสรรให้กลุ่มต่าง ๆ ในงวดวันที่ 16 ธันวาคม 2558 มีมากขึ้น โดยแบ่งเป็นรายย่อย รวมกับสมาคมองค์กรที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ มียอดได้รับการจัดสรรรวม 28 ล้านฉบับคู่ กลุ่มที่ 2 เป็นการจองซื้อผ่านธนาคารกรุงไทยจำนวน 20 ล้านฉบับคู่ และส่วนสุดท้ายอีก 2 ล้านฉบับคู่ เป็นนิติบุคคลที่สัญญายังไม่สิ้นสุดขณะนี้ แต่จะไปสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2558 หลังจากสิ้นสุดสัญญาแล้ว จะนำสลากส่วนนี้ไปรวมไว้กับการจองซื้อผ่านธนาคารกรุงไทย
อย่างไรก็ตาม หลังจากคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลมีมติที่จะไม่ต่อสัญญาให้นิติบุคคล กลับทำให้ปัญหาการขายสลากเกินราคากลับมาอีกครั้ง ตั้งแต่งวดวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อบรรดายี่ปั๊วได้ทิ้งทวนขูดราคาขายส่งจากต้นทางหน้าสำนักงานสลากฯ ในราคาถึงคู่ละ 78-83 บาท ทำให้ผู้ค้ารายย่อยต้องขายเกินราคาเป็นคู่ละ 90 บาท จึงจะพอมีกำไรให้อยู่ได้
ผู้ขายสลากฯ รายย่อยบางรายต้องหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม ด้วยการบอกคนซื้อว่าขายสลากในราคาคู่ละ 80 บาท แต่ขอเป็นค่าเดินทางอีกคู่ละ 10 บาท ส่วนสลากแบบรวมชุด 5 ใบ ก็ขายในราคารวมค่าเดินทางที่ชุดละ 500 บาท เป็นต้น
ขณะที่การจองซื้อสลากฯ ผ่านธนาคารกรุงไทยก็มีปัญหาสำหรับผู้ค้ารายย่อย หลังจากสำนักงานสลากประกาศให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ที่เคาน์เตอร์ NET Bank และตู้เอทีเอ็ม ของธนาคารกรุงไทย ทุกวันที่ 3-7 และ 18-22 ของทุกเดือน ก็ปรากฏว่า คนจน คนชรา คนพิการ ที่ไม่ถนัดในการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้สิทธิจองซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมาขาย และเปิดช่องให้เกิดการผูกขาดของนายทุนใหญ่ ที่ใช้กองทัพมดเข้าไปเอาโควตาแล้วนำกลับมาขายกินกำไรจากคนยากคนจนเหมือนเดิม
ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดพิจิตร ชาวบ้านบางคนเดินทางไกลกว่า 40-50 กิโลเมตร มาถึงธนาคารตั้งแต่ตี 5 หวังว่าจะได้คิวเป็นคนแรก แต่พอถึงเวลา 08.30 น. ซึ่งเป็นเวลาทำการเพียงแค่ 5 นาทีแรก ก็พบว่าโควตาถูกจองเต็มหมดแล้ว
ขณะที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ได้เกิดความวุ่นวายขึ้น เมื่อเวลา 06.30 น. วันที่ 4 พฤศจิกายน ผู้ค้าสลากฯ รายย่อยกว่า 500 คนได้นัดชุมนุมปิดถนนมะลิวัลย์-เลย กม.ที่ 21 ต.ศรีสงคราม อ.วังสะพุง หน้าตลาดนัดลอตเตอรี่ ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารตลาดขายส่งลอตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ทำให้รถบนถนนติดยาวไม่สามารถเคลื่อนตัวได้นานกว่า 3 ชั่วโมง
สาเหตุที่นัดชุมนุมปิดถนนครั้งนี้เนื่องจากผู้ค้ารายย่อยหลายพันคนในอำเภอวังสะพุงไม่พอใจกับระบบการจองซื้อลอตเตอรี่ผ่านตู้เอทีเอ็ม ธนาคารกรุงไทย ซึ่งมีปัญหาจองได้เพียง 2-3 คนแรก หลังจากนั้นระบบจองก็ล่มไม่สามารถทำรายการได้ เมื่อจองซื้อโดยตรงกับกองสลากไม่ได้ก็ต้องหันมาซื้อจากผู้ค้าคนกลางหรือยี่ปั๊วที่ตลาดสหกรณ์การเกษตรวังสะพุง และตลาดตระกูลเศรษฐีแทน ในราคาสูงฉบับละ 79.50 บาท
ขณะเดียวกัน ได้เกิดปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก เมื่อสำนักงานสลากกินแบ่งได้ออกประกาศให้มีการวางเงินค้ำประกันในการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ในอัตรา 100 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 8,000 บาทต่อเล่มคู่ ซึ่งทำให้เกิดความเดือดร้อนสำหรับผู้ค้ารายย่อย จากปกติที่ไปรับสลากฯ จะต้องจ่าย 7,040 บาทต่อเล่ม ถ้าให้จ่ายค่าประกันตามประกาศก็จะต้องจ่ายเพิ่มไปอีก 8,000 บาท เป็น 15,040 บาท
วันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เครือข่ายคนพิการผู้เดือดร้อนเรื่องเงินประกันสลาก นำโดย นายเดชา ปะทิเก ประธานเครือข่ายฯ และพวกประมาณ 60 คน จึงเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว สั่งชะลอประกาศของสำนักงานกินแบ่งรัฐบาลครั้งนี้ออกไปเสียก่อน
นายเดชา กล่าวว่า จากข้อกำหนดหลักเกณฑ์ในประกาศของสำนักงานสลากกินแบ่งฯ ที่ให้วางเงินประกัน 100 เปอร์เซ็นต์ องค์กรของคนพิการไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เพราะองค์กรได้รับส่วนต่างเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสลากให้กับสมาชิกในการบริหารจัดการสลากให้แต่ละงวด หากต้องวางเงินประกัน 100 เปอร์เซ็นต์ อาจจะต้องถูกตัดสิทธิ์ ทำให้ต้องไปรับสลากกินแบ่งมาจากนายทุนอีกที หรือไม่ก็ต้องกู้ยืมเงินจากนายทุนเพื่อวางเงินมัดจำ ซึ่งจะทำให้ส่งผลกระทบเกิดความเดือดร้อนเป็นวงกว้างทั่วประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงประเด็นนี้ว่า การวางเงินค้ำประกันก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเข้ามาจองซื้อสลากฯ จำนวนมากเพื่อนำไปขายต่อ
อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้วางเงินค้ำประกันกลับสร้างปัญหาให้ผู้ค้ารายย่อยเสียมากกว่า เพราะส่วนใหญ่ไม่มีเงินมากพอที่จะนำมาวางค้ำประกัน ตรงกันข้ามกับผู้ค้ารายใหญ่ที่เป็นเสือนอนกินในวงการค้าสลากกินแบ่งรัฐบาลมานาน การวางเงินค้ำประกันไม่ใช่ปัญหา แต่กลับจะเอื้อประโยชน์ให้นายทุนกลุ่มนี้เสียด้วยซ้ำ
คำถามจึงย้อนกลับไปถึงรัฐบาลว่า มีความเข้าใจในรากเหง้าของปัญหาในวงการค้าสลากกินแบ่งอย่างลึกซึ้งเพียงใด