ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - บอร์ดกองสลากฯ มีมติไม่ต่อสัญญาจำหน่ายลอตเตอรี “5 เสือกองสลากฯ” ที่จะหมดสัญญาเดือนธันวาคมนี้ นำไปรวมไว้กับการจองซื้อผ่านธนาคารกรุงไทยแทน นับเป็นการปิดฉากผู้กุมลอตเตอรีรายใหญ่ จากทั้งหมด 46 ล้านฉบับ มีสายสัมพันธ์ทุกรัฐบาล ต้นตอทำหวยแพงกว่าหน้าสลาก 80 บาทต่อฉบับ ก่อน คสช. จัดระเบียบ
วันนี้ (20 ต.ค.) พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ว่า ที่ประชุมมีมติไม่ต่อสัญญาจำหน่ายสลาก ให้กับนิติบุคคลที่สัญญาจะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2558 ยกเว้นองค์กรการกุศล และองค์กรที่เกี่ยวข้องผู้พิการเท่านั้น เพื่อนำสลากจำนวนดังกล่าวไปจำหน่าย สร้างรายได้ นำสู่การใช้สาธารณประโยชน์ หรือช่วยเหลือองค์กรการกุศล องค์กรเกี่ยวกับคนพิการเป็นหลัก เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง ก็ไม่มีความจำเป็นต่อสัญญาอีก
อีกทั้งระบบที่ทำ ก็เพื่อกระจายสลากไปให้กับผู้ค้ารายย่อยให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้น ในช่วงต่อไปอัตราการกระจายสลากไปสู่รายย่อยจะต้องมีจำนวนสูงขึ้นเป็นธรรมดา ส่วนจะพอเพียงหรือไม่จะใช้เวลาติดตาม 3 - 6 เดือนก็จะทราบ ส่วนปัญหาการขายสลากเกินราคา จะตรวจสอบ ว่า ขายเกินฉบับละ 80 บาท หรือพบการร้องเรียนว่า ผู้รับสลากไปขายส่งให้ผู้ค้ารายย่อย ขายราคาสูงกว่าฉบับละ 70.40 บาท ก็จะดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับไปยังผู้ขาย และจะลงโทษด้วยการไม่ต่อสัญญาให้กับองค์กรนั้น ๆ อีกต่อไป
ด้าน พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า จากการที่สำนักงานสลากฯ ไม่ต่อสัญญาจำหน่ายสลากให้นิติบุคคล จะทำให้จำนวนสลากที่จะนำจัดสรรให้กลุ่มต่าง ๆ ในงวดวันที่ 17 ธ.ค. 2558 มีมากขึ้น โดยแบ่งเป็นรายย่อย รวมกับสมาคมองค์กรที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ มียอดได้รับการจัดสรรรวม 28 ล้านฉบับคู่ กลุ่มที่ 2 เป็นการจองซื้อผ่านธนาคารกรุงไทย จำนวน 20 ล้านฉบับคู่ และส่วนสุดท้ายอีก 2 ล้านฉบับคู่ เป็นนิติบุคคลที่สัญญายังไม่สิ้นสุดขณะนี้ แต่จะไปสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2558
ทั้งนี้ หลังจากสิ้นสุดสัญญาแล้ว จะนำสลากส่วนนี้ไปรวมไว้กับการจองซื้อผ่านธนาคารกรุงไทย ส่งผลให้ยอดการพิมพ์จะลดลงเท่ากัน ยอดเหลือจริงจะลดลงเหลือ 28 ล้านฉบับคู่ ที่เหลือจึงเป็นสลากจอง 22 รวมสลากทั้งสิ้น 50 ล้านฉบับคู่ ซึ่งสำนักงานสลากฯ เชื่อมั่นว่า 50 ล้านฉบับ เพียงพอกับความต้องการของตลาด แต่ถ้าสลากฯ ยังขายหมดแสดงว่า ความต้องการจริงมีสูงกว่านี้ ถึงตอนนั้น สำนักงานฯ จะเสนอให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลพิจารณาอีกครั้งในเดือนมกราคมปีหน้า
สำหรับมติคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ไม่ต่อสัญญาจำหน่ายสลาก ให้กับนิติบุคคลที่สัญญาจะสิ้นสุดลงในเดือนธันวาคม 2558 นับเป็นการปิดฉากตำนาน 5 เสือกองสลากฯ ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท สลากมหาลาภ จำกัด, บริษัท ปลื้มวัธนา จำกัด (ชื่อใหม่ บริษัท แอดวานซ์ เทคโนโลยี ซิสเต็มส์ จำกัด), บริษัท ไดมอนด์ ล็อตโต้ จำกัด ของ “เจ๊แดง” หรือ นางปลื้มจิตต์ กนิษฐ์สุด, บริษัท หยาดน้ำเพชร จำกัด และ บริษัท บีบี เมอร์ชานท์ จำกัด ของ “เจ๊สะเรียง” น.ส.สะเรียง อัศววุฒิพงศ์
โดย 5 บริษัทเป็นผู้กว้างขวางในวงการลอตเตอรี แนบแน่นกับฝ่ายการเมืองทุกรัฐบาลที่ผ่านมา เนื่องจากโควตาของผู้ว่าราชการจังหวัด และคลังจังหวัด ไม่มีคนจำหน่าย รวมถึงรายย่อยอื่น ๆ ที่ได้รับโควตา แต่ไม่ต้องการขายปลีก จึงเลือกขายให้รายใหญ่ทันที ส่งผลให้สลากฯ 46 ล้านฉบับอยู่ในมือของเครือข่าย 5 เสือกองสลากฯ เป็นส่วนใหญ่ ทำให้ราคาสลากฯ ที่จำหน่ายในท้องตลาดแพงกว่าราคาหน้าสลาก จาก 80 บาทต่อฉบับ เป็น 110 - 120 บาทต่อฉบับ หากเป็นกลุ่มเลขสวย เลขเรียง หรือที่เป็นหมวดหมู่ ราคาจะยิ่งสูงขึ้น ปัจจุบันเหลือเพียง 3 เสือ หรือนิติบุคคล 3 รายใหญ่ ประกอบด้วย บริษัท สลากมหาลาภ จำกัด บริษัท หยาดน้ำเพ็ชร จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี กระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าควบคุมอำนาจการปกครอง และแต่งตั้ง พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล นำไปสู่การจัดระเบียบดังกล่าว