ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เหมือนยุคนายพลผ้าขะม้าแดง“จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์”หรือเมื่อ 58 ปีก่อนเดี๊ยะ !? ต่างกันที่สมัยนั้นบรรดาผู้กว้างขวางมีนักเลงยางฝิ่น แต่ปัจจุบันมีหัวคะแนน และอดีตขาใหญ่ “ตู้ม้าไฟฟ้า”แต่รัฐปราบเรียบไปก่อนหน้าแล้ว “ลุงตู่”กร้าวให้“ลุงป้อม”เป็นหัวหน้าทีมกวาดให้เรียบภายใน 6 เดือน จับตาหัวคะแนน แกนนำคนเสื้อแดง
แม้บรรยากาศการเมืองไทยในเวลานี้จะยังไม่เข้มข้นเท่าปี 2500 หรือเมื่อกว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศมีท่วงทำนองใกล้เคียง คล้ายเป็นโครงสร้างของการปฏิวัติ-ยึดอำนาจโดยทหาร ย้อนไปเมื่อ 58 ปีก่อน มีการชิงไหวชิงพริบระหว่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อย่างถึงพริกถึงขิง หลังรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชนะการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2500 เกิดการประท้วงโดยกลุ่มนักศึกษา และประชาชน กล่าวหาว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ของจอมพล ป. โกงการเลือกตั้ง ซึ่งความจริงประวัติศาสตร์ได้บันทึกถึง กลโกงทุกรูปแบบ จนเป็นที่มาของ “บัตรผี -พลร่ม-ไพ่ไฟ” กล่าวคือใช้บัตรปลอมและการเวียนเทียนลงคะแนน โดยผู้ไม่มีสิทธิ์
กลเม็ดเด็ดพราย ยังอยู่ที่แผนของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ มีการนิรโทษบรรดานักโทษ แล้วใช้พวกนี้ร่วมกับนักเลงหัวไม้ อันธพาลยาฝิ่น ที่รู้กันในนาม “ผู้กว้างขวาง”กดดันฝ่ายตรงข้าม บังคับให้เลือกพรรคเสรีมนังคศิลา จนได้คะแนนชนะพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ นายควง อภัยวงศ์ อย่างท่วมท้น
การเดินขบวนประท้วง มีประชาชนออกมาร่วมจำนวนมาก มีการเรียกร้องให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ คู่บารมี ลาออก ในจังหวะบ้านเมืองเกิดความระส่ำระสาย รัฐบาลตัดสินใจแต่งตั้ง จอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพโดยคิดว่า จอมพลสฤษดิ์ จะใช้บารมีทางการทหารปราบปรามผู้ประท้วง และรักษาเสถียรภาพรัฐบาลไว้ได้ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเข้าจังหวะ “ถึงพริกถึงขิง”กลุ่มผู้ประท้วงเข้ามาประชิดปิดล้อมถึงสะพานมัฆวานฯ รัฐบาลออกคำสั่งให้ทหารใช้กำลังออกปราบปราม แต่จอมพลสฤษดิ์ ไม่เอาด้วยทำให้ประชาชนโห่ร้องด้วยความยินดีปรีดา สถานการณ์สร้างวีรบุรุษขึ้นมาในทันใด โดยต่างยกให้ท่านผู้นำ 3 เหล่าทัพ เป็น “วีระบุรุษมัฆวานฯ”ขวัญใจมหาชนในห้วงนั้น
หลังจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่ในสภาพรัฐล้มเหลว จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ายึดอำนาจ และต่อไปนี้คือบางช่วงบางตอนของการบริหารประเทศที่คนไทยยังไม่เคยลืมกลิ่นอายของเผด็จการ ซึ่งแม้จะมีข้อเสียตามมาอยากมากมายภายหลัง แต่ข้อดีในการจัดระเบียบประเทศ ประชาชนจำนวนไม่น้อยต่างยอมรับ และเป็นเรื่องเล่าขานมาถึงทุกวันนี้
มีบันทึกศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย ระบุว่า ในช่วงการบริหารประเทศ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศยกเลิกสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคการเมือง และได้สร้างผลงานทั้งทางด้านการปรับปรุงการบริหาร และการพัฒนาประเทศไว้มากมาย ผลงานที่สำคัญ ได้แก่ การออกกฎหมายเลิกการเสพ และจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด กฎหมายปราบปรามพวกนักเลง อันธพาล กฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ทำการศึกษา ค้นคว้า วิจัย จนกระทั่งได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 - พ.ศ. 2509) ซึ่งแผนดังกล่าว เป็นแม่แบบของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่อๆ มา จนถึงปัจจุบัน มีการสร้างสาธารณูปโภคสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ให้กระจายไปทั่วทั้งในเมือง และชนบท ซึ่งเรียกว่า“น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก”
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีฉายาว่า“จอมพลผ้าขาวม้าแดง”นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำของคนไทย เพราะตลอดระยะเวลาที่ครองตำแหน่ง และมีบทบาท ได้ใช้มาตรการเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพื่อจัดการความสงบเรียบร้อยของประเทศ เช่น ประหารชีวิตเจ้าของบ้านทันที หลังจากบ้านใดเกิดเพลิงไหม้ เพราะถือว่าเป็นการก่อความไม่สงบ เครื่องมือสำคัญของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในการปกครองประเทศ คือ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งบทบัญญัติ 20 มาตรา
โดยมาตราที่ 17 ได้ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี สั่งลงโทษได้อย่างกว้างขวาง และรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิต โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการศาลยุติธรรม การใช้มาตราที่ 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ได้ส่งผลดีต่อสังคมไทย คือ การใช้อำนาจที่เฉียบขาดดังกล่าว ทำให้อาชญากรรมลดลง โดยมีการกวาดล้างนักเลง อันธพาล ผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด ทำให้สังคมเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนั้นยังเป็นการปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์อีกด้วย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลเสียแล้ว พบว่า การนำมาตรา 17 มาใช้ เพื่อกวาดล้างทำลายศัตรูทางการเมือง เป็นการปิดหู ปิดตา ปิดปาก ประชาชน ไม่ให้สามารถตรวจสอบกลุ่มผู้กุมอำนาจการปกครอง ตลอดจนการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยต้องหยุดการพัฒนาอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นการปกครองแบบเผด็จการเต็มรูปแบบ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมโดยภาพรวมในการปกครอง และการบริหารประเทศ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศว่า “ข้าพเจ้าขอรับผิดแต่ผู้เดียว”ซึ่งนักประวัติศาสตร์ทางการเมืองถือว่าเป็นสมัยเผด็จการ เพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่มีกลไกควบคุมรัฐบาล นายกรัฐมนตรี มีอำนาจเบ็ดเสร็จตาม มาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 หรือฉบับที่ 7 สามารถใช้อำนาจในทางนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ได้เอง รัฐบาลได้ออกแถลงการณ์อยู่ โดยใช้ข้อความว่า“คณะปฏิวัติและรัฐบาลนี้”ควบคู่กันไป และได้ใช้มาตรา 17 แทรกแซงอำนาจทางตุลาการ โดยสั่งประหารชีวิตผู้ต้องหาในหลายคดี เช่น คดีเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และบ่อนทำลายประเทศชาติ คดีวางเพลิง คดียาเสพติด รวมทั้งคดี “ผีบุญ”หรือผู้ที่ตั้งตนเป็นผู้วิเศษ ได้แก่ นายศิลา วงศ์สิน หรือ ลาดละคร เป็นต้น
ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บริหารประเทศ บรรดาพ่อค้านายทุน ไม่มีใครกล้ากักตุน หรือขึ้นราคาสินค้า เพราะกลัวมาตรการขั้นเด็ดขาด ซึ่งไม่ถูกจำคุกก็อาจถึงขั้นประหารชีวิต ส่วนในทางอำนาจบริหารนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้าดำรงตำแหน่ง“อธิบดีกรมตำรวจ”อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย
การบริหารประเทศของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยภาพรวมถือว่าประเทศมีการพัฒนามากขึ้น เช่น มีการกระจายความเจริญออกไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยมีการตั้งมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด มีการตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ออกพระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศขยายการศึกษาของชาติ ในวันที่ 1 เมษายน 2504 โดยเป็นการขยายการศึกษาภาคบังคับ จากชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 ประกาศใช้แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีการออกกฎหมายเลิกการเสพ และจำหน่ายฝิ่นโดยเด็ดขาด โดยรัฐบาลได้ทำการเผาฝิ่น เครื่องมือ และอุปกรณ์การเสพที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2502
นอกจากนี้ยังมีการออกกฎหมายปราบปรามพวกนักเลงอันธพาล กฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ฉบับที่ 1 ระหว่างปี พ.ศ. 2504 - 2509 ซึ่งแผนดังกล่าวเป็นแม่บทของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่อ ๆ มาจนถึงปัจจุบัน นับว่าได้สร้างผลงานทั้งทางด้านการปรับปรุง บริหารและการพัฒนาประเทศไว้อย่างมากมาย
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังเป็นผู้รื้อฟื้นกิจกรรมที่แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น จัดงานเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพ การสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ การประดับไฟบนถนนราชดำเนินในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น ...
แทบไม่น่าเชื่อว่า เหตุบ้านการเมืองที่ผ่านมานานกว่าครึงร้อยปี จะกลับมามีเหตุการณ์ “ล้อ”กันอีก เช่นรัฐบาลที่ผ่านมา ได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นโดยใช้ตำรวจ (มะเขือเทศ) ส่วนหนึ่ง และบรรดา “ผู้กว้างขวาง” แต่มิใช่นักเลงยาฝิ่นเหมือนก่อน กลายเป็นหัวคะแนน จากผู้ทำอาชีพผิดกฎหมาย เช่นเจ้ามือหวยเถื่อนบ้าง ตู้ม้าไฟฟ้าบ้าง บ่อนพนันบ้าง ยังรวมไปถึงแก๊ง “ผีบุญ” ที่อาศัยศาสนา และศรัทธาโอบอุ้มจนได้อำนาจรัฐ ก่อนจะถูกโค่นล้มโดยประชาชน ซึ่งในระหว่างเกิดการปะทะ แม้ไม่มี “วีรบุรุษมัฆวานฯ”แต่ก็มี “ฮีโร่” มือปืนป๊อปคอร์น โผล่ออกมาช่วยประชาชนอีกฝากหนึ่งอย่างทันท่วงที
การยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 หรือ 1 ปี 5 เดือนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยอาวุธพิเศษ คือ มาตรา 44 พยายามเดินหน้าอย่างสุดตัวที่จะจัดระเบียบ และรักษาความสงบเรียบร้อยรวมทั้งความปรองดองให้เกิดขึ้น ผลการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายเริ่มจากจุดเล็กๆ แต่เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมเช่น การปราบปรามตู้ม้าไฟฟ้า บ่อนพนัน วินรถตู้ รถ จยย. สถานบันเทิงมอมเมายาวชน ขบวนการค้ามนุษย์ โสเภณี การบุกรุกที่สาธารณะ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปราบได้อย่างราบคาบ
อีกทั้งบรรดาแกนนำขั้วอำนาจเก่า และผู้สนับสนุน นายบ่อน เจ้าของกิจการสีเทาต่างถูกขึ้นบัญชี และเรียกตัวไปปรับทัศนคติเป็นที่เรียบร้อย เรียกว่าแม้จะไม่แรงเท่าสมัยจอมพลสฤษดิ์ เพราะยังมีความหวังเรื่องปรองดอง จึงหวังการเจรจา พูดคุยให้รู้เรื่อง แต่ปัญหาของประเทศชาติ มิได้อยู่เพียงผู้มีอิทธิพล หัวคะแนน หรือเจ้าของบ่อนเจ้าของซ่อง !?
สิ่งที่รัฐพยามอย่างยิ่งยวด แต่ยังแก้ไม่ได้ก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจ และเรื่องปรองดองสมานฉันท์ โดยเฉพาะปัญหาการเคลื่อนไหวของขั้วการเมืองเก่า ที่เริ่มถี่ขึ้น ท้าทายมากขึ้น มาตราการปราบปรามผู้มีอิทธิพลทั่วประเทศที่รัฐบาลฮึ่มๆ เตรียมออกมาใช้ จึงมีประกาศอย่างเป็นทางการจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. โดยมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง กวดขันไม่ให้มีอิทธิพลในท้องถิ่นให้เรียบร้อยภายในเวลา 6 เดือน ไม่ว่าจะเป็นใคร ทั้งนักการเมือง ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน เรื่องการใช้อาวุธโดยฝากเน้นกลุ่มอิทธิพลนายทุนเงินกู้นอกระบบ เช่น ข่าวกราดยิงใส่ชาวบ้าน หากไม่มีคนสนับสนุนเบื้องหลังคงทำไม่ได้ และขอให้ประชาชนที่เดือดร้อน หรือทราบข้อมูล แจ้งต่อศูนย์ดำรงธรรม
นี่คืออีกขั้นตอนหนึ่งของการกระชับอำนาจ แม้ปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ลีลาการเมืองหากพิจารณากันจริงๆแล้วมันก็คือ บทภาพยนตร์เรื่องเก่า ที่มาดัดแปลงสร้างเป็นเรื่องใหม่ เหลือเพียงแต่ว่าตอนจบจะจบกันอย่างไร
เพราะอดีตเจ้าของวลี “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” มีฉากสุดท้ายที่ไม่สวยงามนัก ฝ่ายหนึ่งเมือจบชีวิตลง ต้องถูกยึดทรัพย์ อีกฝ่ายลี้ภัยการเมืองไปตายที่ญี่ปุ่น
การปราบปรามผู้มีอิทธิพล พ.ศ.นี้ จึงไม่น่าต่างอะไรกับยุคอันธพาลครองเมือง 2499 -2500 เพราะล้วนแต่ “หมกเม็ด” มีเรื่องของความได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมืองตามมาด้วยเสมอ