xs
xsm
sm
md
lg

โคกหนองนาไตร

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

สมัยเป็นเด็กประถมและมัธยมที่บ้านทำนาทุ่ง และนาโคก ผมไม่ชอบไปนาทุ่ง น้ำเยอะ กลัวปลิง แต่ชอบไปนาโคก น้ำน้อย ไม่มีปลิง มีที่เล่นที่กินเยอะ เช่น ปีนต้นไม้ ผลไม้ป่า หน่อไม้ ไข่มดแดง แย้ เห็ด ฯลฯ อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ขากลับยังได้อาหารป่ามาเป็นอาหารเย็น และอาหารเช้าอีกด้วย สมัยโน้นเงินแทบไม่มีความจำเป็น ข้าวเต็มยุ้ง อาหารหาปลาที่นาทุ่ง หาของป่าที่นาโคก โอ้...สวรรค์บนดินจริงๆ

โคกหนองนาไตร

ตรงนาโคกแต่เก่าก่อนเป็นป่าเป็นดง ต้นไม้หนาทึบ น่ากลัว มีเสือมีช้าง เป็นต้น เป็นป่าสาธารณะ ยังไม่มีใครมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของตามกฎหมายที่ดิน ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ก็ถางป่าทำไร่พอประมาณ ทำคันนาขึ้นมีน้ำขัง จนไร่กลายเป็นนา ก็ขยับขยายไปเรื่อยๆ ประมาณไม่เกิน 10 ไร่เป็นที่ทำไร่ทำนา ต่อมาก็มีกรรมสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายที่ดิน ส่วนป่าดงส่วนใหญ่หลายร้อยไร่ก็ยังอยู่เป็นที่สาธารณะ เป็นอู่อาหารป่าของชาวบ้านตราบเท่าทุกวันนี้

ลักษณะของโคกจะเป็นที่ดอนหรือเนินสูง เมื่อทำนาก็จำเป็นต้องมีน้ำ จำเป็นต้องขุดบ่อ หรือหนอง หรือสระ เพื่อเก็บน้ำฝนระบายใส่ต้นข้าว ปลูกผัก เลี้ยงปลา ฯลฯ

นาแต่ก่อนมีคันนา (อีสานเรียกคันแท) เป็นแนวดินที่พูนสูงเพื่อกักน้ำในนา หรือแบ่งนาเป็นแปลงๆ นาใครมีคันนาใหญ่สูง แสดงว่าขยัน นอกจากจะเก็บน้ำแล้ว ยังเป็นทางเดินปลูกต้นไม้ผล และพืชผักได้อีกด้วย สมัยนี้เขาทำลายคันนาหมดเพื่อสะดวกใช้รถไถ อะไรที่ไม่เสียเงินจะถูกทำลายหมด และมีสิ่งใหม่มาทดแทนที่ต้องเสียเงิน

ขณะที่ต้นข้าวเขียวขจี น้ำเต็มหนองนา ก็มีปลา กบ เขียด เกิดขึ้น พอหลังฤดูเก็บเกี่ยวน้ำลด ปลาก็ย้ายที่อยู่จากนาไปอยู่หนอง พอถึงฤดูแล้ง น้ำเหลืออยู่เฉพาะในหนอง ก็มีการจับปลาในหนองครั้งใหญ่เหลือกินเหลือขายก็ทำปลาแห้งปลาร้า เก็บไว้เป็นปีๆ ได้กินของบริสุทธิ์ปลอดสารพิษ

“โคกหนองนา” จึงเป็น “ไตร” หรือ “สามสิ่ง” ที่เป็นธรรมชาติดั้งเดิม และธรรมชาติสร้างสรรค์ เป็นความจริง ที่ให้ผู้คนดำรงอยู่ได้ แม้กระแสวัตถุนิยม กระแสบริโภคนิยมจะรุนแรงขนาดไหน ถ้าเราอยู่กับความเป็นจริง คือ โคก หนอง นา เราก็จะพึ่งตนเองได้อย่างดีมีสุข โดยไม่ตกเป็นเหยื่อเป็นทาสใคร ดังเช่นทุกวันนี้ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ถูกทำลายโดยใคร? เบิ่งตาให้ชัดๆ การเอาคนไม่รู้จริงหรือนักทำลายเข้าไปแก้ปัญหาและพัฒนานั้น เท่ากับไม่ได้แก้ปัญหาอะไร มีแต่จะซ้ำเติมและเพิ่มปัญหาให้ย่อยยับเร็วขึ้นเท่านั้น

เกรียงไกรชีวิต

“วิถีชีวิตแบบพอเพียง ไม่เห็นจะเกรียงไกร หรือยิ่งใหญ่ตรงไหน” นั่นคือคำถามจากผู้คนสมัยนี้

คำตอบมีว่า...คนสมัยนี้เป็นคนแบบไหน? ถ้าเป็นคนแบบธรรมะ มีความพอเพียง มีความสันโดษ จึงจะเป็นความเกรียงไกรหรือใหญ่ยิ่งจริงแท้ แต่ถ้าเป็นคนแบบสามานย์ เขาย่อมมองไม่เห็น เขามองเห็นแต่โง่ งั่ง และกระจอกเท่านั้น นั่นคือความแตกต่างของคนสองแบบ เห็นสิ่งเดียวกัน ไม่เหมือนกัน สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวแพรว เป็นเรื่องธรรม

บางคนมีความปรารถนาดี อยากให้คนสองแบบมีความคิดความเห็นเหมือนกัน ขนาดจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่รู้ว่าความคิดเยี่ยงนี้ออกมาจากส่วนไหน น้ำขุ่นหรือน้ำใสหรือ?

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ปรมาจารย์พระวัดป่ายุคปัจจุบัน สอนว่า... “ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ คือชีวิตที่อยู่ด้วยทาน ศีล เมตตา และกตัญญู”

นี่คือความเกรียงไกรใหญ่ยิ่งแท้จริง!

ลองเปรียบเทียบ คนรู้จักพอมีวิถีชีวิตแบบพอเพียง คือ คนแบบธรรมะกับคนไม่รู้จักพอ เอาเปรียบคน หาเหยื่อหาทาสตลอดเวลา คือคนแบบสามานย์ระหว่างคนสองประเภท ประเภทไหนจะมีทาน ศีล เมตตา และกตัญญูมากกว่ากัน ประเภทไหนจะมีสันติสุข และสันติภาพมากกว่ากัน

ไม่ต้องหาคำตอบจากนักวิจัย นักวิชาการ คณะกรรมการชุดต่างๆ ร้อยแปดพันเก้าหรอก เพราะคำตอบมีอยู่แล้วจากพฤติกรรมที่เห็น และเล่นกันอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับว่าไม่รู้สึกรู้สาอายฟ้าอายดินบ้างเลย?!

ตนเองลิขิต

“ลิขิต” แปลว่า “เขียน” และเขียนเป็นองค์ประกอบหนึ่งของคาถาหัวใจนักปราชญ์ คือ... สุ. (สุตะ-ฟัง) จิ. (จิตตะ-คิด) ปุ. (ปุจฉา-ถาม) ลิ. (ลิขิต-เขียน)

คนที่รู้จักตัวเองเป็นตัวของตัวเอง พึ่งตัวเองได้ เป็นที่พึ่งของส่วนรวมได้ คือคนที่มีใจใหญ่ ใจแข็ง คือหัวใจนักปราชญ์ดังกล่าวมา

คนแกร่งเยี่ยงนี้ ก็ไปตรงกับพุทธสุภาษิตที่ว่า “อตฺตา หิ อตฺตาโน นาโถ-ตนแลเป็นที่พึ่งของตน” คาถานี้เด็กๆ อนุบาลถึงด็อกเตอร์ รัฐมนตรี ผู้นำทั้งหลายต่างก็รู้ดี แต่ทำไม่ค่อยได้ เพราะเหตุใดฤา รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ น่าจะตอบโจทย์ได้ตรงประเด็น

นิมิตชีวัน

เพลงหนูตั๊กแตน-ชลดา ทองจุลกลาง “ไม่ใช่แฟนทำแทนไม่ได้” แค่ชื่อเพลงก็อินแล้ว ใช่เลย...ทุกสิ่งทุกอย่างทำแทนกันไม่ได้หรอก อยากได้อะไร อยากเป็นอะไร ต้องทำเอง อยากมีอยู่มีกิน อยากอยู่ดีมีสุข คิดเองทำเองทั้งนั้น

คิดผิด ทำผิด ก็ทุกข์

คิดถูก ทำถูก ก็สุข

เหตุอย่างไร ผลอย่างนั้น

ทำสิ่งใด ได้สิ่งนั้น


อยากมีอิสรภาพต้องกล้าออกนอกกรอบ กล้าสลัดเครื่องพันธนาการ กล้าติดปีกโบยบินสู่โลกกว้าง อยากเป็นเหยื่อเป็นทาส ก็เป็นนกแก้วนกขุนทอง ร้องเยสเซ่อร์ๆๆ อยู่ในกรงต่อไป

สมัยเป็นหนุ่ม ผมเป็นนักกิจกรรมประเภทสังคมสงเคราะห์ อยู่ที่ไหนก็หาทางช่วยเหลือสังคมตลอด มีโครงการต่างๆ มากมายไม่ได้ใช้งบหลวง ใช้งบส่วนตัว และผู้มีจิตศรัทธา

ผมเลยกลายเป็นคนจนผู้ยิ่งใหญ่ ตามรอยพ่อแม่ครูอาจารย์ที่สั่งสอน... “ทาน” ศีล เมตตา และกตัญญู” ทานที่ชอบทำ และทำเป็นประจำตราบเท่าทุกวันนี้ คือ...

“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ-การให้ธรรม ชำนะการให้ทั้งปวง”

คนเราหากอยู่ในที่มืด อาจเดินหลงทาง หากได้แสงสว่าง แม้เพียงเล็กน้อย ก็พอจะเดินทางถูกได้

ลุถึงยามเฒ่าชะแรแก่ชรา ค่อยคิดขึ้นได้ อยากมีที่ดินสัก 10 ไร่ จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ทำ 3 สิ่งคือ “โคก หนอง นา”

ขุดหนองให้กว้างและลึก เอาดินไปถมทำเป็นโคก บริเวณลุ่มทำแปลงนา ทำคันนาขนาดใหญ่เดินได้สบาย บนโคกปลูกต้นไม้ใหญ่ ไม้ผล ผักสวนครัว สร้างบ้าน ยุ้งเก็บข้าว โรงเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู เป็ด ไก่ ฯลฯ หนองเลี้ยงปลาริมหนองปลูกผัก ไม้ผล พืชสมุนไพร คันนาปลูกสารพัดผัก ไม้ผล ตอนขุดหนองใช้คนขุด (ชาวบ้านจะได้มีรายได้) ไถนาใช้ควายไถ ดำนา เกี่ยวข้าว ใช้คนทำ

หนองมี 3 หนอง นามี 3 ทุ่ง โคกมี 3 โคก แต่ละโคกมีบ้านโคกละหลัง หลังหนึ่งเป็นที่อยู่อาศัย หลังหนึ่งต้อนรับแขก อีกหลังปฏิบัติธรรม

ประมาณ 2-3 ปีที่ตรงนี้จะมีทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ ณ ที่ตรงนี้ จะมีอาหารบริสุทธิ์ อากาศบริสุทธิ์ ได้ออกกำลังกายทุกวัน (ทำงานในนาในสวน)

ปัจจัย 4 เครื่องยังชีพที่จำเป็นแก่ชีวิต ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย มีครบ แล้วจะไปเดือดร้อนอะไรกับกระแสบริโภคนิยมที่ใช้เงินเป็นพระเจ้า

ที่นี่ไม่มีเงินก็อยู่ได้ อาหารการกินเหลือแจกเพื่อนบ้านมากเกินขายราคามิตรภาพ

วิถีชีวิตอย่างนี้จะเรียกอย่างไรก็ได้ เพราะที่นี่ไม่ค่อยเสพติดอารมณ์ อยู่เป็นด้วยจิตว่าง

หรือจะเรียก... “โคกหนองนาไตร” ก็ได้ เพราะชอบคำว่า “ไตร” หรือ “สาม” มันคือธรรมะง่ายๆ แต่ลึกซึ้งเกินกว่าผู้ตื้นเขินจะเข้าใจ

ขอเทศน์ให้ “โคกหนองนาไตร” ฟังหน่อยนะครับ...

ไตรสรณะ คือที่พึ่งที่ระลึกหมายถึง พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ไตรสิกขา คือข้อที่จะต้องศึกษา หรือข้อปฏิบัติที่เป็นหลักสำหรับศึกษา คือฝึกหัดอบรมกาย วาจา จิตใจ และสติปัญญาให้ยิ่งขึ้นไปจนบรรลุจุดหมายสูงสุด คือพระนิพพาน ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

ไตรลักษณ์ คือลักษณะ 3 หรืออาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมาย 3 อย่างอันให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมัน ได้แก่...

1. อนิจจตา คือความเป็นของไม่เที่ยง

2. ทุกขตา คือความเป็นทุกข์

3. อนัตตา คือความเป็นของไม่ใช่ตน

หลักธรรม 3 อย่าง 9 หัวข้อได้แก่ (ไตรสรณะ) พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ (ไตรสิกขา) ศีล สมาธิ ปัญญา (ไตรลักษณ์) อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือยอดสุด-หลุดโลก หมายความว่า อยู่เป็นเช่นโลก แต่ไม่ติดโลก หรือเหนือโลกนั่นเอง

หลักธรรม 3 อย่าง 9 หัวข้อจะบังเกิดผลได้ จะต้องไม่ลืมสัทธรรม 3 คือ ธรรมอันดี ธรรมที่แท้ ธรรมของสัตบุรุษ หลักหรือแก่นศาสนา ได้แก่ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

ทำไมประเทศไทยของเรามีรัฐธรรมนูญมากฉบับที่สุดในโลก...เขียน-ใช้-ฉีก...เขียน-ใช้-ฉีก...เขียน-ใช้-ฉีก...อยู่นั่นแหละ บ้าหรือเปล่า? “ความวิปลาสคือการทำสิ่งเดิมซ้ำๆ แต่กลับหวังผลลัพธ์ที่แตกต่าง” (อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าว)

ที่มีรัฐธรรมนูญมากสุด เนื่องเพราะ...เรามีแต่ปริยัติ แต่เราไม่เคยปฏิบัติจริงจัง แล้วปฏิเวธหรือผลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร? ทำอยู่ เอาอยู่ ลูบหน้าปะจมูก ค้าฝีปากไปเรื่อยๆ แห่งเดียวในโลกกระมัง?

“โคกหนองนาไตร

เกรียงไกรชีวิต

ตนเองลิขิต

นิมิตชีวัน”


เพียงแค่ 3 ไตร แถมอีก 1 สัทธรรม 3 ก็พอรู้ว่า ธรรมะเกรียงไกรใหญ่ยิ่งจริงๆ ได้มาด้วยใจ ไม่ใช่ได้มาด้วยเงิน หรืออำนาจอธรรมใดๆ

เออ...มาคิดได้ยามเฒ่าชะแรแก่ชรา ถ้าคิดได้ตอนหนุ่มๆ วัยทำงาน ป่านนี้ก็คงนอนตีพุง ฟังกบ เขียด อึ่ง จิ้งหรีด จักจั่น ร้องเพลงประสานเสียงให้ฟัง ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย แมกไม้เต้นระบำ ดื่มน้ำมะพร้าวอ่อนหวานหอมบริสุทธิ์ สุดจะออนซอน นอนหลับฝันดี มีที่ไหนจะสุขกายสบายใจเท่าที่นี้ ณ “โคกหนองนาไตร”

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงสอนว่า... “ชีวิตนี้น้อยนัก แต่ชีวิตนี้สำคัญนัก เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ เป็นทางแยก จะไปสูงไปต่ำ จะไปดีไปร้าย เลือกได้ในชีวิตนี้เท่านั้น พึงสำนึกข้อนี้ให้จงดี แล้วจงเลือกเถิด เลือกให้ดีเถิด”

กราบอนุโมทนา สาธุๆๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น