xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งคือทั้งหมด

เผยแพร่:   โดย: ไพรัตน์ แย้มโกสุม

ภาพสวยๆ จากเพื่อนเฟซ เพื่อนไลน์ที่ส่งมาให้ ด้วยความรักและคิดถึง ทำให้เกิดความสุขอย่างอัศจรรย์ แต่ไม่นานความสุขนั้นก็หายไป เพราะภาพที่เพื่อนส่งมาหายไป

ความคิดผุดขึ้นว่า... “อยากมีความสุข ต้องสุขกับสิ่งที่มี”

ฉันมีอะไรพอประมาณในบ้านและในสวน เจอหนังสือเก่าๆ ในตู้ เปิดอ่านดูก็วางไม่ลง มีความสุขมาก ฉันเพลิดเพลินกับการเดินรอบบ้าน เป็นการออกกำลังกายเบาๆ ที่ปลอดภัย ฉันชอบนั่งที่ม้าหินอ่อนข้างกำแพงในสวน รับลมเย็นแลแสงตะวันยามรุ่งอรุณ บางวันฉันชอบนั่งหน้าบ้านดูใบปาล์มพลิ้วปลิวไสว เต้นระบำล้อสายลม ฯลฯ โอ...พระเจ้า มันเป็นความสุขอันบริสุทธิ์ที่ธรรมชาติมอบให้ เพราะความเป็นสัมพันธภาพที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอาศัยกัน จึงเป็น... “ดั่งกันและกัน”

หนึ่งคือทั้งหมด

“ตานั่งดูอะไร” หลานถาม

“ดูโต๊ะ” ตาตอบ

“ดูโต๊ะอะไร ทำไมไม่มองมาที่โต๊ะ แต่เงยหน้ามองดูฟ้า” หลานสงสัย

“การมองดูทุกสิ่งทุกอย่าง เรามองดูได้ทั้งตานอกและตาใน” ตาขานไข

“ยังไม่เข้าใจ ตาช่วยอธิบายขยายความหน่อย” หลานไม่ลดละ เพราะอยากรู้อยากเห็น
ตาสบโอกาส ก็เลยร่ายยาว...

ฉันชอบดูโต๊ะที่อยู่ข้างๆ ม้าหินอ่อนที่ฉันนั่ง โต๊ะอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ มันมิได้ดำรงอยู่ได้โดยตัวเองโดดๆ การดำรงอยู่ของมันต้องอาศัยการค้ำจุนจากปัจจัยต่างๆ

“ความเป็นโต๊ะ” เกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัย “สิ่งที่ไม่ใช่โต๊ะ” นั่นเอง ดังนั้นภายในโต๊ะตัวหนึ่ง เราจะแลเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่ โต๊ะมิได้ประกอบขึ้นด้วยไม้กับตะปู โดยอาศัยช่างไม้เป็นผู้ประกอบขึ้นเท่านั้น

ภายในโต๊ะตัวหนึ่ง เรายังอาจมองเห็นถึงเมล็ดพืชเล็กๆ นกตัวน้อยๆ น้ำ แสงแดด อากาศ เกลือแร่ คนงานตัดไม้ ตะปู แร่เหล็ก คนงานขุดแร่ ไฟ ทั้งยังมีช่างไม้ ข้าว และอาหารต่างๆ ที่เขากินเข้าไป มีเสื้อผ้า ยารักษาโรค มีพ่อแม่ของช่างไม้ พ่อแม่ของคนงานตัดไม้ และคนงานขุดแร่ มีปู่ ย่า ตา ยาย ทวด และเชื้อสายอันสืบขึ้นไปได้ยาวไกล ทั้งของช่างไม้ คนงานตัดไม้ และคนงานขุดแร่ และ ฯลฯ

หากเรามองโต๊ะ แต่เพียงรูปภายนอก มันก็เป็นเพียงโต๊ะธรรมดาตัวหนึ่ง แต่หากเราเลิกมองมันด้วยตา แต่มองมันด้วยชีวิตจิตใจของเราทั้งหมด เพ่งลงลึกซึ้งถึงการดำรงอยู่ของมัน เราย่อมจะมองเห็นถึงสิ่งที่เป็นโต๊ะรวมอยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่โต๊ะนั่นเอง

โต๊ะตัวนั้นตั้งอยู่ที่นั่น หากมิได้ตั้งอยู่อย่างโดดๆ อยู่นิ่งๆ อย่างเฉื่อยชาไร้ชีวิต โต๊ะตั้งอยู่ที่นั่นสัมพันธ์กับสรรพวัตถุ สัมพันธ์กับสรรพชีวิต เคลื่อนคล้อยไป ไม่แข็งกระด้างและตายตัว หากอ่อนไหว มีพลังและมีชีวิต

โต๊ะไม้ธรรมดาๆ ตัวหนึ่ง ได้รวมเอาจักรวาลทั้งหมดไว้ในนั้น โต๊ะไม้สามัญๆ ตัวหนึ่งซึ่งเป็นที่ซ่อนเร้นพักผ่อนของสรรพสิ่งอย่างเงียบงันและสุขสงบ นั่นคือ... “หนึ่งคือทั้งหมด”

ทั้งหมดคือหนึ่ง

ความเป็น “ตัวฉัน” ที่เติบใหญ่ขึ้นมาได้ ก็โดยอาศัยการบำรุงเลี้ยงจากสรรพสิ่ง อาหารและน้ำที่แปรเปลี่ยนมาเป็นเนื้อหนัง เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มช่วยห่อหุ้มป้องกัน ยารักษาโรคช่วยบำบัดความไข้ ความรักและความงามช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจ

ความเป็น “ตัวฉัน” ดำรงอยู่ได้ก็เพราะสิ่งเหล่านี้ หากแยกสลายสิ่งต่างๆ ออกจากตัวฉัน... “ตัวฉัน” ก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้อีกต่อไป

ธรรมชาติของ “ตัวฉัน” จึงเป็นอนัตตาโดยสมบูรณ์

“ตัวฉัน” คือความว่างเปล่า “ตัวฉัน” เป็นเพียงการที่สิ่งต่างๆ มารวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่ง เมื่อไม่มี “ตัวฉัน” ย่อมปราศจาก “ของฉัน”

ด้วยสิ่งทั้งมวลที่มีอยู่ในตัวเรา เป็นเพียงสิ่งที่หยิบยืมมาจากธรรมชาติ เรายืมมาและจะต้องคืนกลับไปเมื่อถึงเวลา หากแต่การยืมนั้น คือปรากฏการณ์ของการรวมเข้าเป็นหนึ่ง ปรากฏขึ้นเป็น “ตัวฉัน” ซึ่งมิได้มีเพียงวัตถุธาตุ หากแต่มีชีวิตด้วย

“การรวมเป็นหนึ่ง” จึงเป็นปรากฏการณ์อันมหัศจรรย์ของธรรมชาติ

ทัศนะเช่นนี้ ย่อมช่วยเราในการดำรงชีวิต เราจะเรียนรู้ในการลดอัตตาของตนเองลง เราเรียนรู้ที่จะสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ด้วยความสุภาพอ่อนน้อม ไม่หยิ่ง ทระนง ก้าวร้าว และโหดร้าย เหมือนเมื่อก่อน

เพราะเราย่อมมองเห็นมนุษย์ทุกคนเหมือนพี่น้องครอบครัวเดียวกัน เราย่อมเรียนรู้ที่จะสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รอบตัวเรา เรารู้ว่าจะสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไร จะสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างไร

เราจะรักและแลเห็นคุณค่าในสรรพสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำค้างบนยอดหญ้า จักจั่นบนปลายเถาไม้เลื้อย หรือแม้แต่หมู หมา กา ไก่ แมว ฯลฯ

เมื่อญาณทัศนะของเรากระจ่างจ้าขึ้น เราย่อมแลเห็นจักรวาลทั้งหมดอยู่ในตัวเอง ชีวิตของเราจะเข้าถึงความมหัศจรรย์ จะเข้าถึงความลี้ลับ จะเข้าถึงอมตะที่ปราศจากกาลเวลา

จักรวาลอยู่ในตัวเรา ทั้งหมดอยู่ในตัวเรา และเราก็อยู่ในทั้งหมด

เราดำรงความเป็นปัจเจกชนอย่างสมบูรณ์ที่สุด เราเป็นหนึ่งที่สมบูรณ์ และในขณะเดียวกันก็เป็นอนันตภาพที่สูงส่ง เมื่อเรามองเห็นตัวเอง และได้เห็นจักรวาลทั้งหมดที่ดำรงอยู่ในนั้น ความลี้ลับจะไม่ดำรงอยู่อีกต่อไป ดังบทกวีของ “วิลเลียม เบลค” ที่ว่า...

“เมื่อเธอแลเห็นโลกทั้งโลก

บรรจุอยู่ในเม็ดทรายเม็ดหนึ่ง

เมื่อเธอแลเห็นสรวงสวรรค์

ดำรงอยู่ในดอกไม้ป่า

เมื่อนั้นอนันตภาพก็อยู่ในอุ้งหัตถ์ของเธอ

และนิรันดรภาพก็ธำรงอยู่ ณ บัดนี้”


...(พจนา จันทรสันติ, ปรัชญาแห่งนิกายเซน โพธิสัตวธรรม, มูลนิธิโกมลคีมทอง, 2521)
นั่นคือ...ทั้งหมดคือหนึ่ง

การเห็น “หนึ่งคือทั้งหมด” และ “ทั้งหมดคือหนึ่ง” ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนเรามีระดับจิตใจที่แตกต่างกัน

ท่าน “โอโช” ได้แบ่งจิตออกเป็น 4 ระดับได้แก่ จิตสำนึก จิตไร้สำนึก จิตไร้สำนึกร่วม และจิตไร้สำนึกแห่งจักรวาล

ท่านอธิบายว่า...ฉันแตกต่างจากเธอ ในฐานะคนคนหนึ่ง เธอแตกต่างจากฉัน ในฐานะคนอีกคนหนึ่งนั้น เกิดขึ้นตราบเท่าที่อยู่ในระดับจิตสำนึก แต่ถ้าเข้าไปลึกอีกหน่อย เราล้วนไม่แตกต่างกันในระดับจิตไร้สำนึก ถ้ายังลึกเข้าไปอีก เราก็ยิ่งใกล้ชิดกัน ในระดับจิตไร้สำนึกร่วม นักปฏิบัติทางจิตวิญญาณ บอกว่า...มียิ่งกว่าจิตไร้สำนึกร่วม พวกเขาเรียกมันว่า “จิตไร้สำนึกแห่งจักรวาล” ซึ่งเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง ที่ศูนย์กลางนี้ เราล้วนผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ความรู้ยิ่งใหญ่ทั้งหมด มาจากศูนย์กลางนี้ น่าเสียดายที่คนเราไม่ได้มองดูมัน จึงพลาดมันไป

เกิดดับลึกซึ้ง

“ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ” เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ ที่ตรงไปตรงมาที่สุด

เกิด-ดับ คือเหตุแห่งทุกข์ ดับเหตุเสีย ก็ไม่ทุกข์ หรือพ้นทุกข์นั่นเอง

คนเรามองการเกิดการดับ เพียงการ...ออกมาจากท้องแม่-มีชีวิตอยู่-แล้วก็ตายไปเพียงเท่านั้น แค่นั้นไม่พอ ยังมีการเกิด-ดับที่ยิ่งใหญ่ไพศาลวันละหลายครั้ง เป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง นั่นคือ...การเกิด-ดับของจิตที่ทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ วันหนึ่งๆ เราเกิด เราดับ เป็นนั่นเป็นนี่อย่างน่าสมเพช และเปรมปรีดิ์ เช่น...

1. เกิดเป็นผู้รับทุกข์ทรมานตกนรก เพราะโทสะ

2. เกิดเป็นเปรตอสุรกาย เพราะโลภะ

3. เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เพราะโมหะ

4. เกิดเป็นมนุษย์ เพราะมีศีลห้า และกุศลกรรมบถสิบ

5. เกิดเป็นเทวดาอยู่สวรรค์ เพราะมหากุศลแปด

6. เกิดเป็นพระพรหม อยู่พรหมโลก เพราะสมถกรรมฐาน

7. บรรลุนิพพาน เพราะวิปัสสนากรรมฐาน

เกิดอะไรบ่อยๆ ก็ถูกบันทึกหรือสั่งสมไว้ในจิต อันเป็นสมบัติส่วนตัวที่จะนำเราไปทุกภพชาติ ผู้มีสติ เมื่อรู้สิ่งไม่ดีก็จะละเลิก สกัดกั้น มิให้มันเป็นสันดานติดตัว สิ่งไหนดีก็จะเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป สั่งสมเป็นอริยทรัพย์ให้ตัวเอง

การที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ (ข้อ 4) ถือว่าโชคดี ที่โชคดีเพราะเรามีศีลห้าและกุศลกรรมบถสิบ ขณะดำรงชีวิตอยู่ก็พัฒนาตัวเอง คือเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป จากข้อ 4 เป็น 5, 6, 7 ตามลำดับ อย่างนี้จึงจะถือว่าไม่เสียชาติเกิด

ถ้าเกิดมาแล้วไม่สามารถรักษาข้อ 4 ไว้ได้ กลับร่วงหล่นลงไปเป็น 3, 2, 1 เดรัจฉาน เปรตนรกก็ถือว่าเสียชาติเกิด เกิดอีกกี่ชาติ จ้างก็ไม่ได้เป็นมนุษย์ จะเป็นอยู่แค่ 1, 2, 3 นรก เปรต เดรัจฉานนั่นแหละ เหมาะสมแล้วกับคนมืดบอดปัญญา คนกลัวแสงสว่าง

คนที่สำแดงเล่นบทโลภ โกรธ หลง จนเหิมเกริม โกงกินหมื่นล้านแสนล้านกระทั่งล้านล้านจนมันปาก อย่าได้ไปอิจฉาเขาเลย จงแผ่เมตตาให้เขา (ให้เขาถูกลงโทษเร็วๆ จะได้หยุดทำชั่วเร็วๆ) เพราะสิ่งที่เขาทำอยู่คืออาการหลง อาการโลภ อาการโกรธ เป็นการทำลายตัวเอง ทำลายวงศาคณาญาติ และพวกพ้องของเขาเอง แม้สื่ออันเป็นปากเสียงของประชาชนจะทำอะไรเขาไม่ได้ แต่จิตของเขาได้ทำหน้าที่แล้ว คือบันทึกและสั่งสมไว้อย่างมั่นคง เพื่อพิพากษาตัวเขาเอง

ดังนั้น...เรื่อง “เกิด-ดับ” มิใช่เรื่องล้อเล่น แต่เป็นเรื่อง “ลึกซึ้ง” ละเอียดอ่อน จะคิดจะทำอะไรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่าให้ “นรก เปรต เดรัจฉาน” ผุดเกิดขึ้นได้

ลุถึงว่างวาง

จุดหมายปลายทางของทุกสรรพชีวิต ทุกสรรพสัตว์ ทุกสรรพสิ่ง ก็คือ... “สุญญตา” หรือ “ความว่าง” เมื่อ “ว่าง” แล้วก็จะ “วาง”

“สุญญตา” มีไวพจน์ (คำที่ใช้แทนกันได้) มากมาย เช่น...อนัตตา ตถตา นิพพาน อมตธรรม วิสังขาร วิโมกข์ วิมุตติ นิโรธ บรมธรรม จิตเดิมแท้ อสังขตธรรม พุทธจิต ธรรมญาณ สัจธรรม สันติ ฯลฯ

นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ-สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบ ไม่มี

นิพพานํ ปรมํ สุขํ-นิพพานคือสุขอย่างยิ่ง

นิพาพานํ ปรมํ สุญฺญํ-นิพพานคือว่างอย่างยิ่ง

คาถา 3 บทหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ พ้นทุกข์ ศาสนาพุทธสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์หรือพ้นทุกข์ จะละเลยคาถา 3 บทนี้ได้อย่างไร!

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ท่านฝากธรรมวาทะของความถูกต้องไว้มากมาย เช่น...

- ความถูกต้อง มีผลคือ ความสะอาด ความสว่าง ความสงบ

- สิ่งที่เป็นนิรันดรมีสาม คือ กฎของธรรมชาติ ความว่าง นิพพาน

- ความว่าง, จิตว่าง, ทำงานด้วยจิตว่าง, เห็นโลกด้วยความเป็นของว่าง, มีชีวิตด้วยความว่าง นี่คือทั้งหมดของพระพุทธศาสนา

- ความดับทุกข์ ก็คือสันติภาพ

- เมื่อคนไม่เป็นคนอย่างถูกต้อง อะไรที่คนจัดก็ไม่ถูกต้อง

“เมื่อจิตใจมีสันติภาพ โลกก็จะมีสันติสุข” นี่คือสัจจะวาทะอมตะนิรันดร ที่ผู้คนเรียกร้องมาทุกยุคทุกสมัย แต่ยังไม่เกิดขึ้นสักที เพราะระดับจิตใจแต่ละคนต่างกัน

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ได้แสดงทัศนะของสันติภาพในแง่มุมต่างๆ ดังนี้...

1. แง่ของวิทยาศาสตร์ : สันติภาพคือความสมดุลของทุกสิ่งที่ประกอบกันเป็นจักรวาล

2. แง่พุทธศาสตร์ : สันติภาพคือการหยุดการปรุงแต่ง

3. แง่ของไสยศาสตร์ : สันติภาพคือการจัดพิธีรีตอง

4. แง่ของการเมือง : สันติภาพคือการปลอดสงคราม

5. แง่ของการทหาร : สันติภาพคือการไม่รุกล้ำ ไม่ข่มเหง ไม่เอาเปรียบ

6. แง่ของเศรษฐศาสตร์ : สันติภาพคือความร่ำรวย

7. แง่ของคนทั่วไป : สันติภาพคือความสงบทางวัตถุ ไม่มีการประชุม เรียกร้องสิทธิประโยชน์

8. แง่ของภาษาธรรม : สันติภาพคือความสงบของจิต

9. แง่ของอันธพาล : สันติภาพคือความทำได้ดังใจต้องการ

10. แง่ของสัตบุรุษ : สันติภาพคือการยอมได้ทุกอย่าง

11. แง่ของเวลา : สันติภาพคือช่วงของเวลาปราศจากวิกฤตการณ์

...(สิริวรุณ, สัมมัตตานุภาพ ปาฏิหาริย์แห่งความถูกต้อง, ธรรมทานมูลนิธิ, สนพ.เอมี่ เอ็นเตอร์ไพรส์, 2543)

สิบเอ็ดแง่มุมสันติภาพ เพียงอาจารย์พุทธทาส ผู้เดียวก็ขนาดนี้ ถ้ารวมทั้งผู้รู้อื่นๆ ด้วย จะขนาดไหน นี่คือ...ผลของการปรุงแต่ง แล้วสันติภาพจะดับทุกข์ได้อย่างไร ในเมื่อวิสังขาร หาจุดที่จะยืนแทบไม่มี?!

“หนึ่งคือทั้งหมด

ทั้งหมดคือหนึ่ง

เกิดดับลึกซึ้ง

ลุถึงว่างวาง”


ดับได้...ถ้าเข้าใจและเข้าถึง “กวีสี่แถว” ดังที่กล่าวข้างต้น โลกียธรรม และโลกุตตรธรรมเป็นสองด้านของชีวิต เหมือนสองด้านของเหรียญอันเดียวกัน

“หนึ่งคือทั้งหมด-ทั้งหมดคือหนึ่ง”... “ฉันคือเธอ-เธอคือฉัน” นี่คือความรักอันบริสุทธิ์ที่เลื่อนไหลออกมาจากใจที่อยู่สุดลึก ส่งกลิ่นหอมขจรขจายไปทั่วจักรวาล ท่ามกลางความว่างเปล่าที่ไม่เปล่าดายอันไร้ขอบเขต

“สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย”... “สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นตัวฉัน-ของฉัน”...สรรพสิ่งทั้งมวล ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุเกิด-มันก็เกิด เหตุดับ-มันก็ดับ...ตถตา-เช่นนั้นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น