xs
xsm
sm
md
lg

ทุกข์ของคนรวยจากการโกง : เป็นจำเลยสังคมและกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

สุขของคฤหัสถ์หรือคิหิสุขหรือกามโภคีสุข อันได้แก่สุขของชาวบ้านมีอยู่ 4 ประการคือ

1. อัตถิสุข คือสุขอันเกิดจากการมีทรัพย์ซึ่งก่อให้เกิดความเอิบอิ่มใจ ความภูมิใจว่าตนมีโภคทรัพย์ที่ได้มาด้วยน้ำพักน้ำแรง และความขยันหมั่นเพียรของตน

2. โภคสุข คือสุขอันเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ซึ่งก่อให้เกิดความภูมิใจ ความอิ่มเอิบใจว่าตนได้ใช้จ่ายทรัพย์ที่ได้มาด้วยความชอบนั้นเลี้ยงชีพ เลี้ยงผู้ควรเลี้ยง และบำเพ็ญประโยชน์

3. อนณสุข คือสุขอันเกิดจากการไม่เป็นหนี้ซึ่งก่อให้เกิดความภูมิใจ ความเอิบอิ่มใจว่าตนเป็นไท ไม่มีหนี้สินติดค้างใคร

4. อนวัชชสุข คือสุขอันเกิดจากความประพฤติไม่มีโทษ ซึ่งก่อให้เกิดความภูมิใจ เอิบอิ่มใจว่าตนมีความประพฤติสุจริต ไม่บกพร่องเสียหายใครๆ ติเตียนไม่ได้ ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ

ในบรรดาสุข 4 ประการนี้ สุขข้อที่ 4 คืออนวัชชสุขมีค่ามากที่สุด

ความสุข 4 ประการดังกล่าวข้างต้น เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งมีที่มาปรากฏในพระไตรปิฎกเล่ม 21 อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

โดยนัยแห่งคำสอนข้างต้น จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ได้เน้นความสุขทางใจ อันอาศัยวัตถุคือทรัพย์เกิดขึ้นจากการมีการใช้ การไม่มีหนี้เนื่องจากตนเองมีทรัพย์เพียงพอต่อการดำรงชีพโดยไม่ต้องเป็นหนี้ และสุดท้ายคือความสุขอันเกิดจากการที่ตนเองไม่เป็นจำเลยสังคมถูกผู้คนดูหมิ่นดูแคลนว่าเป็นคนทุจริต ทั้งไม่ต้องถูกกฎหมายบ้านเมืองลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมด้วย

ดังนั้น ความสุข 4 ประการนี้จึงเกิดขึ้นได้เฉพาะผู้ที่ประกอบสัมมาชีพมีรายได้ และใช้ทรัพย์เป็นเท่านั้น แต่จะไม่เกิดขึ้นกับผู้มีทรัพย์จากการแสวงหาด้วยวิธีการทุจริต คดโกง ก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. คนรอบข้างในสังคมซึ่งตนเองสังกัดอยู่ ทุกคนต่างก็รู้ว่ามีทรัพย์สินมาได้อย่างไร และที่สำคัญยิ่งกว่านี้ตนเองย่อมรู้ดีว่า การมีทรัพย์สินของตนเองเกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น ความสุขจากการมีเงินจึงไม่เกิดขึ้น ในทำนองเดียวกันกับผู้ที่มีทรัพย์โดยการได้มาจากการประกอบสัมมาชีพ

2. ในการใช้ทรัพย์ก็ทำนองเดียวกัน คือไม่เกิดความภูมิใจและเอิบอิ่มใจว่าทรัพย์ที่กำลังใช้ไปนั้นเป็นผลของการทำมาหากินโดยสุจริต

3. ถึงแม้จะไม่เป็นหนี้การเงินกับใครๆ แต่ก็เป็นหนี้แผ่นดินในกรณีของการทุจริตจากเงินงบประมาณ และเป็นหนี้บุคคลในกรณีของการโกงบุคคลทั่วๆ ไป และตกเป็นจำเลยสังคมตลอดกาล

4. ผู้ที่คดโกงถึงแม้จะมีทรัพย์และมีโอกาสใช้ทรัพย์แสวงหาความสุขทางกายได้ แต่ความสุขทางใจก็หาได้ยาก และที่ยากยิ่งกว่านี้คือการแสวงหาการยอมรับจากคนดี และมีศีลธรรมได้ยาก

ดังนั้น โดยรวมแล้วคนโกงคงจะหาความสุขทางใจ 4 ประการนี้ไม่ได้ จะได้ก็แค่ความสุขจากความอยาก อันเป็นความสุขภายนอกหรือเรียกได้ว่าเป็นความสุขจอมปลอมเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่าคนโกงย่อมหาความสุขจากการมีทรัพย์ใช้ทรัพย์ และจากการไม่เป็นหนี้ไม่ได้ ตามนัยแห่งความสุข 4 ประการตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้า

แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมของประเทศด้อยพัฒนาหรือแม้ในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมไปถึงประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งถูกครอบงำด้วยวัตถุนิยม และบริโภคนิยมก็ยังแสวงหาทรัพย์ด้วยวิธีทุจริตในหลายๆ รูปแบบ โดยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป ทั้งแบบเนียนไปจนถึงการโกงแบบดื้อด้าน และที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุปัจจัยทางสังคมดังต่อไปนี้

1. ยังมีผู้คนในสังคมยอมรับนับถือคนมีทรัพย์สิน โดยไม่คำนึงว่าเขาได้มาอย่างไร ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องจึงกลายเป็นโอกาสให้คนเลวฟอกตัวเองให้เป็นคนดีโดยการใช้เงินเปลี่ยนชื่อเสียให้เป็นชื่อเสียงโดยการใช้ ง.ตัวเดียว ตัวอย่างเห็นได้ชัดเจนในทางการเมือง คนโกงหลายคนใช้เงินเป็นทุนในการเลือกตั้งโดยการซื้อเสียง และได้รับการเลือกตั้งหรือการใช้ แม้กระทั่งได้รับตำแหน่งบริหารประเทศก็สามารถทำได้

2. เมื่อคนเลวสามารถฟอกตัวเองให้เป็นคนดีได้โดยการใช้เงิน จึงทำให้ผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นหลังถือเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต และนี่เองคือจุดเริ่มต้นให้เกิดทายาทของการโกงต่อๆ กันมารุ่นสู่รุ่น

ด้วยเหตุ 2 ประการนี้ คนโกงจึงไม่หมดไปจากสังคม และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้จะเห็นได้จากการแสดงทัศนคติเกี่ยวกับการทุจริตที่ปรากฏทางสื่อ ในทำนองที่ว่าโกงบ้างไม่เป็นไร แต่ขอให้ทำงานเป็น เป็นต้น

ในขณะนี้ประเทศไทยถือได้ว่าปัญหาทุจริต คอร์รัปชันเป็นปัญหาร้ายแรงที่บั่นทอนความไม่มั่นคงของประเทศ และรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังต่อสู้กับปัญหานี้อย่างจริงจัง ทั้งนี้จะเห็นได้จากผลงานดังต่อไปนี้

1. เร่งรัดดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดในข้อหาทุจริต คอร์รัปชันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีสำคัญ เช่น คดีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และคดีบุกรุกป่า เป็นต้น

2. กำลังจะจัดการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีกระบวนการป้องกันการทุจริตบัญญัติไว้เป็นส่วนหนึ่ง และน่าจะเป็นส่วนสำคัญด้วย

ด้วยผลงานเพียง 2 ประการที่ยกมาเป็นตัวอย่าง น่าจะทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลชุดนี้จริงจังกับการแก้ไข และป้องกันปัญหาทุจริตอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งกว่ารัฐบาลใดๆ ในการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

ดังนั้น จึงน่าจะทำให้เชื่อได้ว่ายุคนี้คือยุคที่ทำให้คนโกงเป็นทุกข์ ด้วยการเป็นจำเลยสังคม และจำเลยในกระบวนการยุติธรรมโดยแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น