"มะลิ เดี๋ยวนี้เป็นคุณหนูไฮโซไปแล้ว" รุ่นพี่ของหมอ ปลาบปลื้มกับโชควาสนาของลูกสาวสี่ขาพันธุ์ Jack Russell ซึ่งมีเหตุให้ต้องย้ายบ้านไปอยู่กับเจ้าของใหม่ เนื่องจากลูกของรุ่นพี่แพ้ขนหมาอย่างรุนแรง ทำให้บรรดาลูกๆสี่ขา ซึ่งประกอบด้วย Golden Retriever 2 ตัว และ Jack Russell 1 ตัว ต้องแยกย้ายกันไปอยู่บ้านใหม่
ผู้ปกครองใหม่ของมะลิ เป็นลูกค้าของโรงพยาบาลสัตว์ ที่หมอทำงานอยู่ ตอนนี้มะลิมีชีวิตที่สุขสบาย จนน่าอิจฉา นอกจากจะกินอิ่ม นอนหลับ (บนเตียงอ่อนนุ่ม ในห้องแอร์) แล้วยังได้ไปเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ แต่กว่าจะถึงวันนี้ มะลิต้องเปลี่ยนเจ้าของมาแล้ว 4 ครั้ง!!
เจ้าของคนแรกของมะลิ เสียชีวิต จึงอพยพมาอยู่กับคนที่ 2 ต่อมาเจ้าของคนที่ 2 มีเหตุให้ต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศ จึงมาอยู่กับคุณแม่คนที่สาม ซึ่งเป็นรุ่นพี่ของหมอ
ต่อมาเมื่อแม่มีน้อง มะลิจึงต้องย้ายบ้านอีกครั้ง กว่าจะ Happy Ending ก็ยากพอสมควร เพราะมะลิ เป็น Jack Russell โดยนิสัยน้องหมาพันธุ์นี้ ส่วนใหญ่จะค่อนข้างซน แม้จะตัวเล็ก ไม่ต้องการพื้นที่ในการเลี้ยงมาก แต่ต้องมีเวลาพาออกไปวิ่งเล่น ไม่งั้นพลังงานที่เหลือเฟือนี้ จะถูกนำมาใช้ก่อความเสียหายในบ้านแทน เช่น ขุดสนาม กัดรองเท้า พังประตู สำหรับมะลิ มีความเฟี้ยวที่ต่างจากคนอื่น คือ สามารถปีนรั้วออกไปเที่ยวนอกบ้าน!!
โจทย์ในการหาบ้านใหม่ให้มะลิ จึงต้องเป็นบ้านที่มีบริเวณกว้าง มีรั้วรอบขอบชิด (เป็นพิเศษ) และที่สำคัญต้องเป็นคนที่รัก และเข้าใจนิสัยของแจ็ค รัสเซลล์
ดวงดี เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของชะตาชีวิตที่พลิกผัน เดิมเป็นหมาจร วิ่งอยู่ตามไร่อ้อยที่กาญจนบุรี ไปบ้านใครก็ถูกไล่ตี เพราะเขากลัวไปเกาะกินเป็นภาระ วันหนึ่งโชคชะตาดลใจ ให้วิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถหมอ หลังจากชนกัน หมอนำรถจอดเข้าข้างทาง และลงไปตามหา พบว่านอนกระดิกหางอยู่ ไม่มีท่าทีจะขู่ หรือกัด จึงตัดสินใจอุ้มขึ้นรถพาไปรักษา ถามจากผู้อยู่ในจุดเกิดเหตุ ได้ความว่าเป็นหมาจร จึงนำกลับมาเลี้ยงที่บ้าน ตั้งชื่อให้ว่าดวงดี มีฐานันดรเป็นลูกรัก อีกตัวหนึ่งของบ้าน
หากมะลิไม่ใช่ Jack Russell หมาอารมณ์ดี ขี้เล่น หากดวงดี เป็น หมาขี้กลัว ดุ และกัด เรื่องคงจะยุ่งยาก และไม่ Happy Ending อย่างนี้
การเลือกหมาตัวหนึ่งเข้าบ้าน ต้องคิดหน้าคิดหลังสิบตลบ อย่างบ้านหมอ มีเด็กสี่ขา 3 ตัวเล็กๆ หลังจากที่เราเสียสมาชิกตัวหนึ่ง ของครอบครัวไปอย่างกะทันหัน จากการแตกของก้อนเนื้อในช่องท้อง ทำให้เสียเลือดจำนวนมาก และเราไม่สามารถหาเลือดได้ทัน ทำให้เกิดความคิดจะเอา Golden Retriever มาเลี้ยง เพื่อเป็น "ธนาคารเลือด" ให้พี่ๆ เนื่องจากการหาสุนัข ที่จะเป็นตัวให้เลือดนั้น ค่อนข้างยาก เพราะคุณสมบัติเบื้องต้นของน้องหมา ที่จะเป็นตัวให้เลือดได้นั้น จะต้องมีน้ำหนัก 20 กิโลขึ้นไป อายุไม่เกิน 6 ปี มีประวัติวัคซีนครบ และไม่เคยป่วยเป็นโรคพยาธิเม็ดเลือด (ข้อนี้แหละที่ยากมาก) หลังจากผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นแล้ว จึงนำตัวให้เลือดมาตรวจเลือด เพื่อตรวจสุขภาพอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่าตัวให้เลือดไม่อยู่ในภาวะโลหิตจาง ภาวะติดเชื้อ หรือเกล็ดเลือดต่ำ และมีค่าเคมีในเลือดที่เกี่ยวกับการทำงานของตับ และไตอยู่ในเกณฑ์ปกติ จากนั้นจึงตรวจความเข้ากันได้ของเลือด ระหว่างตัวให้เลือด และตัวรับเลือด ถ้าผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ จึงจะสามารถให้ และรับเลือดได้อย่างปลอดภัย
"ไหนๆจะเลี้ยงหมาใหญ่แล้ว น่าจะเลี้ยงร็อตไวเลอร์ จะได้พึ่งให้เฝ้าบ้านได้ แค่ยืนจังก้า ใครเห็นหน้าก็กลัวแล้ว" หลานชายหมอเกิดไอเดียอยากใช้หมาเป็นยาม
ไอเดียนี้เป็นที่พอใจของสมาชิก อีกมากกว่าสองคน หมอกลัวโหวตแล้วแพ้ หมาที่เอามาเลี้ยงจะตกที่นั่งลำบาก จึงต้องถกกันในรายละเอียด จึงพบว่าเรามีความไม่พร้อมหลายอย่าง สมาชิกหนุ่มอายุน้อย ยังมีภารกิจต้องไปเรียนต่อ สาวน้อยเรียนจบแล้ว ต้องไปใช้ทุนต่างจังหวัด คนที่จะต้องอยู่กับหมาประจำ คือแม่หมอซึ่งอายุเกินหกสิบ คงสู้แรงหมาใหญ่ไม่ไหว (ไม่ว่าจะเป็นโกลเด้นฯ หรือร็อตไวเลอร์ก็ตาม)1
"ใครจะเลี้ยงหมาดุๆได้ ต้องไม่ตายก่อนหมา "....หมอเอาคำของอาจารย์มาเป็นประเด็น ปิดการโต้แย้ง ร็อตไวเลอร์ ที่นิสัยน่ารัก และไม่ดุก็มี แต่คนที่ไม่เคยเลี้ยงพันธุ์นี้ ก็อาจขยาดไม่กล้ารับเป็นเจ้าของมือสองของหมา ที่ได้ชื่อว่าเป็นพันธุ์ดุ คนที่เคยเลี้ยงร็อต อาจจะไม่กลัว แต่ยังมีปัญหาเรื่องสถานที่ ต้องเลี้ยงในบ้านที่มีบริเวณ และค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู ก็ค่อนข้างสูงเพราะตัวโต กินจุ
"ถ้าจะเอาหมามาเลี้ยง ต้องแน่ใจว่า เราพร้อมจะรับผิดชอบชีวิตเขาไปอีก 15 ปี จึงต้องคิดให้รอบคอบ"
ด้วยสารพัดเหตุผลของหมอ มติที่ประชุม จึงต้องพับโครงการเลี้ยงหมาตัวโต ไว้เพื่อให้เลือดไป ส่วนโครงการเลี้ยงหมาตัวโต และดุไว้เฝ้าบ้าน ก็เปลี่ยนเป็นการไปติดต่อสถานีตำรวจในท้องที่ ร้องขอ "ตู้แดง" มาติดที่เสาไฟฟ้าหน้าบ้าน ซึ่งสถานีตำรวจ ก็ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี มีค่าใช้จ่ายให้ทางราชการบ้างพอเป็นธรรมเนียม เพราะตำรวจ (บอกว่า) ยินดีเป็นที่พึ่งของประชาชนอยู่แล้ว
เมื่อไรเราไม่อยู่ ก็แจ้งเลิก "ตู้แดง" ได้ ไม่ต้องพกพา เป็นความรับผิดชอบติดตัวไปอีก 15 ปี
วิธีนี้ อุ่นใจ ไร้กังวล ใครสนใจ โทรไปสอบถามที่สถานีตำรวจ ใกล้บ้านได้เลยค่ะ
สพ.ญ. ณหทัย ศรีสุวรรณธัช
ปรึกษาปัญหาหมาแมวได้ที่
kaew.nahathai@gmail.com
ปรึกษาปัญหาหมาแมวได้ที่
kaew.nahathai@gmail.com