สำหรับหมอหมาแล้ว สิ่งที่มักจะมาพร้อมกับพายุฝนก็คือ พายุเห็บ
แม้เวลาจะผ่านมานานนับ 10 ปี...หมอก็ยังไม่มีวันลืม ..."พายุเห็บ"ที่พัดกระหน่ำทำเอาเสียกระบวนท่า
เรียนจบยังไม่ทันรับปริญญา เพื่อนแม่ก็โทร.มาบอกว่า "ช่วยไปฉีดยากันเห็บที่บ้านพี่ชายลุงหน่อย มีหมา 3 ตัว เขาแก่แล้ว แล้วก็ไม่ค่อยชอบหมา แต่ลูกๆ เอามาทิ้งไว้ให้ ก็ให้แม่บ้านดูแล"
ฟังแล้วก็งงๆ แต่เอาเถอะ...แค่ฉีดยากำจัดเห็บให้หมา 3 ตัว...เรื่องจิ๊บๆ ถึงจะเป็นหมอใหม่ถอดด้าม ภารกิจนี้ไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็เสร็จ ...เป็นใครก็ต้องคิดอย่างนี้
แต่พอไปเห็นหน้า "เป้าหมาย" ทั้ง 3 ตัวแล้ว หมอก็แทบหงายหลัง เพราะแต่ละใบหน้า(ของหมา) มีเห็บเต็มไปหมด ดำเหมือนเกสรดอกทานตะวัน และที่สยองจนขนลุกคือ ในรูหู และอุ้งเท้า มีแต่เห็บเกาะเป็นกระจุก บริเวณขอบของใบหูมีเห็บบางตัวแห้งตายเนื่องจากเบียดกันจนปากลงไปไม่ถึงผิวหนังหมา
สรุปว่าวันนั้น นอกจากฉีดยากำจัดเห็บที่เตรียมมาแล้ว ยังต้องช่วยกันดึงเห็บออกจากตัวหมาให้มากที่สุด เพราะหากรอให้เห็บตายเนื่องจากฤทธิ์ของยาฉีด คุณตูบทั้งสามจะต้องเสียเลือดอีกพอสมควร (แค่นี้ก็เสียเลือดไปมากจนเหงือกเริ่มซีดแล้ว ยังไม่รวมถึงโอกาสที่จะป่วยด้วยโรคพยาธิเม็ดเลือดซึ่งมาพร้อมกับเห็บอีก) พร้อมกันนั้นหมอได้เขียนชื่อตัวช่วยในการกำจัดเห็บ อันได้แก่สเปรย์สำหรับพ่นบนตัวสุนัข และยาสำหรับผสมน้ำเพื่อราดกรงและสนามหญ้า ทั้งหมดนี้ก็เพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เห็บให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ไม่อยากคิดว่าบนตัวหมายังเยอะขนาดนี้...แล้วที่แอบอยู่ในบริเวณบ้านกว้างๆนี้ รวมกันแล้วจะเยอะขนาดไหน !!!)
ระหว่างรอคุณลุงไปซื้อยาจากร้านสัตวแพทย์...หมอ และทีมพี่เลี้ยงของน้องหมาก็ช่วยกันจับเห็บออกให้มากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและหัว เนื่องจากเป็นบริเวณที่อาจใช้สเปรย์กำจัดได้ไม่ทั่วถึง เพราะต้องระวังสเปรย์เข้าตา นอกจากนี้ยังต้องห้ามเลือด และแต้มยาบริเวณที่เป็นแผลจากการถูกเห็บกัดและมีเลือดออกมาก (ปากของเห็บจะฝังอยู่ในผิวหนังน้องหมา เมื่อดึงเห็บออกจึงสามารถทำให้เกิดแผล เลือดออกได้) จากนั้นจึงลงมือพ่นสเปรย์กำจัดเห็บ โดยต้องระมัดระวังไม่ให้เข้าตา ไม่พ่นบริเวณที่มีแผล และใส่ปลอกคอกันเลียไว้เพื่อไม่ให้เลียยาเข้าไป
หลังพ่นนยา ประมาณ 1 ชั่วโมง เราก็พบลูกเห็บจำนวนมากร่วงอยู่ที่พื้น คุณพี่เลี้ยงชอบใจกันใหญ่เพราะเห็บตัวเล็กๆแบบนี้เห็นอยู่เยอะแต่จับออกยากมาก (เห็บตัวเมียสามารถวางไข่ได้ครั้งละ 2,000-4,000 ฟอง เมื่อลูกเห็บกลายเป็นตัว ย่อมหมายความว่ามีเห็บหลักพันนี้อยู่ในบ้าน เราจึงมักเห็นเป็นจุดเล็กๆจำนวนมาก คล้ายกับมีใครเอาปากกามาจุดไว้บนผิวหนังหมา) ส่วนการใช้ยาแบบผสมน้ำ ราดกรงและพื้นสนาม ให้ทำในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากจะต้องวางแผนย้ายหมาไปอยู่บริเวณอื่นในขณะใช้ยา (เช่น ถ้าราดกรงก็ต้องปล่อยหมาออกจากกรง เมื่อล้างน้ำยาออก รอจนกรงแห้งเรียบร้อยจึงจะให้หมาเข้าไปอยู่ในกรงได้)
วันนั้นนอกจาก "กำจัดเห็บ" หมอยังกำชับให้คุณลุงพาคุณตูบทั้งสามไปพบสัตวแพทย์ เพื่อตรวจเลือดประเมินภาวะโลหิตจางและการติดเชื้อพยาธิเม็ดเลือด จะได้รักษาได้ทันท่วงที นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันและกำจัดเห็บอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกโจมตีจากพายุเห็บอีก เพราะมีทางเลือกมากมายในการป้องกันเห็บ หากไม่สะดวกพาไปฉีดยา อาจเลือกใช้ปลอกคอ หรือยาหยดหลังก็ได้ (แต่ต้องระวังยาไม่มีทะเบียน เพราะอันตรายถึงตายได้เหมือนกัน)
ประสบการณ์ลืมไม่ลงจาก "พายุเห็บ " ทำให้หมอมักบอกใครต่อใครที่มาปรึกษาว่าจะหาหมามาเลี้ยงว่า คิดดีๆก่อนจะเลี้ยงน้องหมา เพราะต้องเลี้ยงดูเขาอย่างดีไปอีก 15 ปี ถ้าไม่มีเวลาเอาใจใส่ แค่เจอ "พายุเห็บ"ถล่ม น้องหมาอาจไม่ตายแต่ก็คางเหลือง
ปล. ทุกวันนี้ยังไม่เคยเจอ "พายุเห็บ" ที่ไหนสามารถทำลายสถิติที่หมอเคยเจอได้....ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจมาก
สพ.ญ. ณหทัย ศรีสุวรรณธัช
ปรึกษาปัญหาหมาแมวได้ที่
kaew.nahathai@gmail.com
ปรึกษาปัญหาหมาแมวได้ที่
kaew.nahathai@gmail.com