เอเอฟพี - ตำรวจอังกฤษได้จับกุมหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของรวันดา ตามหมายจับของสเปนที่กล่าวหาว่าเขามีส่วนในอาชญากรรมสงครามที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งการจับกุมครั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับประเทศรวันดา
ตำรวจระบุว่า คาเรนซี คาราคี อายุ 54 ปี ได้ถูกจับกุมที่สนามบินฮีทโธรว์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยจะถูกนำตัวไปขึ้นศาลในลอนดอนวันพฤหัสบดีนี้
รัฐมนตรีต่างประเทศของรวันดาได้กล่าวโจมตีการจับกุมครั้งนี้ ที่มีการเชื่อมโยงไปถึงข้อกล่าวหาที่ว่า คาราคีมีส่วนร่วมในการสังหารหมู่เพื่อล้างแค้นเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994
"การที่ชาวตะวันตกร่วมมือกันเพื่อสร้างความเสื่อมเสียให้ชาวแอฟริกันนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ มันช่างน่าโมโหที่มีการจับกุมเจ้าหน้าที่รวันดา ด้วยข้อมูลของพวกบ้าที่ชื่นชอบการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" หลุยส์ มูชิคิวาโบ รัฐมนตรีต่างประเทศรวันดา ระบุทางทวิตเตอร์
หนังสือพิมพ์ นิว ไทม์ ของรวันดา รายงานคำพูดของ จอห์นสตัน บูซิงเย รัฐมนตรียุติธรรมที่บอกว่า เขาต้องการคำอธิบายจากทางการอังกฤษ โดยมีการบอกด้วยว่า คาราคีไปปฏิบัติหน้าที่ในลอนดอนเป็นเวลา 1 สัปดาห์
ด้านโฆษกตำรวจอังกฤษ เปิดเผยว่า คาราคีถูกจับกุมตามหมายจับของยุโรป โดยตัวแทนของทางการสเปน ซึ่งที่นั่นต้องการตัวเขาเพราะมีความเชื่อมโยงกับการก่ออาชญากรรมสงครามต่อพลเรือน
เมื่อ 7 ปีก่อน ศาลแห่งหนึ่งของสเปนได้ใส่ชื่อคาราคีไว้ในหมายเรียก 40 เจ้าหน้าที่ของกองทัพ ที่จะฟ้องร้องในคดีอาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ในรวันดาช่วงยุคปี 90
สถานีโทรทัศน์บีบีซีรายงานว่า รัฐบาลรวันดาค่อนข้างมึนงงกับการจับกุมคาราคีในครั้งนี้ เนื่องจากเขาเคยเดินทางไปอังกฤษมาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่มีการฟ้องร้องครั้งนั้น
การตัดสินใจของศาลในตอนนั้น เกิดขึ้นหลังจากมีการสืบสวนคดีฆาตกรรมชาวสเปน 9 รายที่ทำงานกับผู้ลี้ภัยในรวันดา ช่วงปี 1994 - 2000
เอกสารข้อกล่าวหาในปี 2008 ระบุว่า คาราคีสั่งให้มีการสังหารหมู่ในบริเวณที่มีพลเรือนสเปน 3 รายเสียชีวิตขณะทำงานให้กับองค์กรการกุศล เมดิคอส เดล มุนโด
อย่างไรก็ตาม บูซิงเย ไม่สนใจเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานทางกฏหมายของหมายจับฉบับดังกล่าว โดยบอกด้วยว่า เขาคงจะแปลกใจ หากอังกฤษเข้ามาดำเนินการในเรื่องนี้ พร้อมย้ำจะทำการต่อสู้คดีในชั้นศาล
คาราคีเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง ของอดีตกลุ่มกบฏแนวร่วมผู้รักชาติรวันดา (อาร์พีเอฟ) ที่ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994 โดยในตอนนั้นกองกำลังกบฏอาร์พีเอฟ ซึ่งเป็นชาวทุตซี ต้องหยุดยั้งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวฮูตูหัวรุนแรง โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 800,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวทุตซี