หมาหน้าตาไม่เป็นมิตร และมีข่าวทำร้ายคน เช่น Rottweiler, Doberman, Pit bull คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า จะต้องดุ และอันตราย ซึ่งไม่จริงเสมอไป หมาก็เหมือนคน ที่แต่ละตัวมีนิสัยแตกต่างกัน สายพันธุ์เป็นปัจจัยเพียงหนึ่งในการกำหนดนิสัย อีกปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเลี้ยงดู
บ่อยครั้งที่หมอเจอ Rottweiler หรือ Pit bull สายแบ๊ว อย่างบิ๊ก หนุ่มหล่อ (ใส่แว่นตาดำในเรื่องนี้) คุณหมอเจ้าของ รับบิ๊กมาเลี้ยงตอนอายุ 5 เดือน เพราะเจ้าของเดิมงานยุ่งมากไม่มีเวลา เจ้าของใหม่มืออาชีพ สมกับเป็นสัตวแพทย์ บิ๊กจึงเป็นพิทบูลสายแบ๊ว ที่ใครเห็นใครรัก (แต่ก็ยังดุกับหมาด้วยกัน)
หมอเคยเลี้ยงโดเบอร์แมนชื่อ "แรมโบ้" ที่กลายเป็น "โดเบอร์แมว" โดนดัชชุนชื่อ "ขนุน" ซึ่งตัวเล็กกว่า 3 เท่า กัดจมูกเลือดไหล แรมโบ้ไม่กัดตอบ กลับวิ่งน้ำตาไหลไปฟ้องแม่ !!
ที่พบบ่อยในทางตรงข้าม คือ ชิซิลล่า (ชิวาว่า+ก็อซซิลล่า) Pomeranian, Golden Retriever และ Labrador สายกัด (กัดแม้กระทั่งเจ้าของ!!)
ขอยืนยันว่า สายพันธุ์ไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่จะกำหนดนิสัยน้องหมา สายพันธุ์ดุ ถ้าเจ้าของเลี้ยงเป็น และเข้าใจ ก็สามารถเลี้ยงให้ไม่ดุได้ ขณะที่สายพันธุ์ที่ไม่ดุ ก็สามารถโหดได้ เช่นกัน
เป็นธรรมดาเพราะรักจึงมักตามใจ แต่ควรกำหนดฐานันดรของหมาไว้ที่ "ลูกรัก" อย่าตามใจจน "เสียหมา" กลายเป็น "ทูนหัวของบ่าว" ยิ่งไปกว่านั้น บางตัวขั้นทำร้ายเจ้าของ เมื่อถูกขัดใจ
หมา เป็นสัตว์สังคม เดิมอยู่รวมกันเป็นฝูง มี "ลำดับภายในฝูง" มีจ่าฝูงเป็นหัวหน้า ลูกฝูงจะมีลำดับรองๆลงมา จนถึงลำดับต่ำสุด เรียกง่ายๆว่า "เบ๊"
เมื่อมาอยู่กับคน หมาจะจัดลำดับฝูงโดยอัตโนมัติ และมักไม่ยอมให้ตัวเองเป็นเบ๊ การจัดลำดับฝูงมักเกิดขึ้นเรื่อยๆจนกว่าหมาจะยอมรับ สถานภาพของตัวเอง (บ้านที่มีหมาหลายตัว อาจเคยเห็นว่าหมาเด็กถูกหมาโตข่ม พอหมาเด็กโตเต็มที่ และหมาโตกลายเป็นหมาแก่ จะถึงช่วงเวลาเอาคืน และเกิดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งขึ้น) ถ้าไม่ระวังให้ดี ความรักที่มากเกินไป ทำให้ไม่เคยขัดใจ อาจทำให้หมาเข้าใจว่าตัวเองเป็นจ่าฝูงได้
เมื่อโดนหมา(ลูกรัก)ข่ม...ด้วยความรักท่วมท้น เจ้าของจึงมักปล่อยเลยตามเลย อย่าให้ถึงขั้นป้อนยาไม่ได้เลยนนะคะ เพราะเกิดปัญหาแน่!
ปีที่แล้วหมอเพิ่งพบ "ปุกปุย" พุดเดิ้ลผสมเทอร์เรีย น้ำหนัก 10 กิโลกรัม ปุกปุยในวัย 13 ปี เป็นโรคหัวใจ ซึ่งเป็นอีกโรคที่พบบ่อย ในหมาแก่ การรักษามักเป็นการ "ประคองอาการ" โดยใช้ยากินต่อเนื่องไปตลอดชีวิต สำหรับหมอ และคนอื่นๆ ปุกปุยน่ารักมาก ให้ความร่วมมือในการตรวจรักษาเป็นอย่างดี ป้อนยาก็ง่าย แต่กับเจ้าของ และทุกคนในบ้านกลับตรงกันข้าม!
ไม่มีใครป้อนยาปุกปุยได้เลย เพราะปุกปุยกัด ตั้งแต่จะจับอ้าปาก ครั้นยัดยาใส่กับอาหารปุกปุยก็แสนรู้ บ้วนยาออกมาทุกครั้ง
ทุกวันนี้เจ้าของต้องขับรถพาปุกปุย ไปคลินิคใกล้บ้านทุกวัน วันละ 2 รอบ เพื่อให้หมอหรือช่างตัดขนป้อนยาให้ และจะต้องเป็นอย่างนี้ไปตลอดชีวิตของปุกปุย!!!
ไม่เฉพาะน้องหมา การเลี้ยงดูผิดวิธี ก็ทำให้แมวเสียแมวได้เหมือนกัน อย่าง "เหมียวลาย" ที่ถูกตามใจจนกลายเป็น "ทูนหัวของบ่าว" ปกติหมอไปฉีดวัคซีนที่บ้านนี้ เพราะมีแมวหลายตัว การจับเหมียวลายฉีดยา ถือเป็นภารกิจดุเดือดระดับเสียเลือดเนื้อ (ของเจ้าของ) ทุกครั้ง
วันหนึ่ง แม่พาเหมียวลายมาทำหมัน และฝากไว้ 7 วัน เพื่อรอตัดไหมแล้วจึงรับกลับ หมอนึกหวั่นใจว่าหลังผ่าตัดจะดูแลแผลกันอย่างไร ให้ปลอดภัยกันทุกฝ่าย (ทั้งคนและแมว) แต่ผิดคาดเพราะเหมียวลายให้ความร่วมมือในการทำแผล และฉีดยาเป็นอย่างดี จนย่างเข้าวันที่ 6 เจ้าของทนคิดถึงไม่ไหว(ทั้งที่มาเยี่ยมทุกวัน) มารับกลับไปนอนด้วย และพามาวันตัดไหมในวันรุ่งขึ้น
เพียงคืนเดียวที่กลับบ้าน เหมียวลายกลับเป็นแมวขาโหดตัวเดิม ทั้งขู่ ข่วน กัด ครบทุกกระบวนท่า กว่าจะตัดไหมได้เล่นเอาแขนลายไปตามๆกัน
สันนิษฐานว่า ตลอดเวลาที่เหมียวลาย มาอยู่กับหมอ อาจเข้าใจว่าถูกทิ้ง และคลินิคเป็นบ้านใหม่ เมื่อไม่มีคนตามใจ เหมียวลายจึงปรับตัวให้เข้ากับทุกคน แต่พอเจ้าของรับกลับบ้าน ความมั่นใจในตำแหน่งจ่าฝูงกลับมา เหมียวลายจึงกลายเป็นเหมียวโหดเหมือนเดิม
เลี้ยงหมา หรือแมว ก็เหมือนเลี้ยงเด็ก ต้องไม่ตามใจจนเกินไป ลองนึกดูว่า น้องหมาของเราไม่ดุ หรือเราไม่เคยขัดใจ !!!
ถ้ารักต้องหัดขัดใจ เพราะสำคัญในการดูแลระยะยาว เช่น ขัดจังหวะขณะกินข้าว เลื่อนชาม หรือดึงชามออก (บางตัวหวงชามข้าวมาก ถ้ากำลังกินใครก็เข้าใกล้ไม่ได้) ลองจับอ้าปาก (สมมติเกิดกรณีกินสิ่งแปลกปลอม ก็สามารถล้วงออกจากปากได้ หรือจับเพื่อป้อนยาได้) แปรงขน (สำคัญมาก โดยเฉพาะในน้องหมาน้องแมวขนยาว) เช็ดหู (กรณีหูอักเสบเจ้าของอาจต้องเช็ดหูให้ทุกวัน)
ทางที่ดีหัดขัดใจในเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ยังเด็ก เพราะไม้อ่อนดัดง่าย...ลูกคนกับลูกหมาก็ไม่ต่างกันหรอกค่ะ
สพ.ญ. ณหทัย ศรีสุวรรณธัช
ปรึกษาปัญหาหมาแมวได้ที่
kaew.nahathai@gmail.com
ปรึกษาปัญหาหมาแมวได้ที่
kaew.nahathai@gmail.com