xs
xsm
sm
md
lg

ขอวัดใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีพลังงานอีกสักครั้ง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

การอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2015 อนุมัติแผนปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ได้เกิดคำถามสำคัญว่า เหตุใดการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นในอดีตไปแล้ว กลับสูงเกินความเป็นจริงอย่างมาก?

กล่าวคือ ปี 2557 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 ที่ 26,942 เมกะวัตต์ แต่ในแผน PDP 2015 ที่เพิ่งอนุมัติแผนปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 ซึ่งควรจะรู้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2557 แล้ว แต่กลับพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดปี 2557 อยู่ที่ 27,633.5 เมกะวัตต์

เป็นการพยากรณ์ที่สูงเกินความเป็นจริงที่ผ่านไปแล้วประมาณ 691.5 เมกะวัตต์ ใช่หรือไม่?

การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกินความเป็นจริงในปี 2557 ไป 691.5 เมกะวัตต์ จะต้องทำให้สร้างโรงไฟฟ้าให้มีสำรองสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอีกไป 15% จะส่งผลต้องทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเกินความเป็นจริงไป 795.2 เมกะวัตต์ หรือเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ 1 โรง จริงหรือไม่?

แต่ในปี 2558 ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด"เกิดขึ้นจริงไปแล้ว" เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 อยู่ที่ 27,346 เมกะวัตต์ ซึ่งเอกสารการนำเสนอของในเว็บไซต์ของกระทรวงพลังงานหน้า 5 ในภาพนำเสนอในหัวข้อ "ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดสุทธิของระบบ กฟผ." ได้ให้เหตุผลว่า:

"ปี 2558 เกิด Peak ช่วงเดือนมิถุนายน เนื่องจากปีนี้มีสภาพอากาศที่ร้อนจัด และฝนแล้งต่อเนื่องยาวนาน"

จากข้อความที่กระทรวงพลังงานอธิบายนั้น แสดงให้เห็นว่าตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 27,346 เมกะวัตต์ นั้น คือสถานการณ์ที่กระทรวงพลังงานประเมินว่าเลวร้ายแล้วเพราะทั้งร้อนจัด และฝนแล้งต่อเนื่องยาวนานด้วย

แต่การทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าได้มีการปรับปรุงและอนุมัติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 กลับทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2015 พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดปี 2558 เอาไว้สูงกว่านั้นคือ สูงถึง 29,015 เมกะวัตต์

นั่นหมายถึงการพยากรณ์สูงเกินความเป็นจริงที่ผ่านไปแล้วถึง 1,705 เมกะวัตต์ ใช่หรือไม่?

การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเท่าไหร่ก็ตาม นั่นหมายถึงจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าให้เกินความต้องการไปอีก 15% เพื่อเป็นไฟฟ้าสำรอง ดังนั้นการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2558 มากเกินความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้วถึง 1,705 เมกะวัตต์แล้ว จะทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าสูงเกินจริงในปี 2558 เพียงปีเดียวไปถึง 1,960 เมกะวัตต์ จริงหรือไม่?

การพยากรณ์ในปี 2558 ที่สูงเกินจริง ทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเกินจริงในปี 2558 เพียงปีเดียวถึง 1,960 เมกะวัตต์นั้น เทียบเท่ากับการพยากรณ์สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ขนาด 800 เมกะวัตต์ ถึงประมาณ 2.45 โรง

ที่น่าตั้งคำถามคือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2015 ซึ่งจัดทำและอนุมัติแผนเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 แต่กลับพยากรณ์สูงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วถึง 2 ปีติดๆกัน ทั้งปี 2557 (23 เมษายน 2557) และปี 2558 (11 มิถุนายน 2558) ได้อย่างไร? ด้วยเหตุผลอะไร?


ลำพังการพยากรณ์สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ยังพอถกเถียงและตั้งสมมุติฐานแตกต่างกันได้ แต่การพยากรณ์สิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วสูงเกินจริงอย่างมากมายมหาศาลนั้น กระทรวงพลังงานควรจะต้องตอบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร? และมีเจตนาอย่างไร?

ถ้าฐานคำนวณปี 2558 นี้เองที่สูงเกินจริงได้ส่งผลทำให้แผน PDP 2015 สูงเกินจริงตลอด 20 ปีด้วย

จากฐานคำนวณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2558 ที่เกินความเป็นจริงเช่นนี้ หากจะลองสมมุติแก้เฉพาะปี 2558 ให้เป็นไปตามความเป็นจริง แล้วดำเนินรอยตาม % อัตราการเพิ่มขึ้นของแผน PDP 2015 ในปีที่เหลือจะพบว่า เมื่อถึงปี 2579 หรือปีที่ 20 ของแผนนี้ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะลดลงไปถึง 2,915 เมกะวัตต์

ถ้าการประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดสะสมมากเกินไปตลอด 20 ปี ถึง 2,915 เมกะวัตต์ ทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าสำรองให้เกินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดไปอีก 15%

นั่นหมายถึงการส่งผลทำให้ต้องวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าเกินจริงไปอีก 3,352 เมกะวัตต์ เทียบเท่ากับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ถึง 4.19 โรง หรือเทียบเท่ากับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3.4 โรง ในช่วง 20 ปีจากนี้ จริงหรือไม่?

เมื่อมามองในมิติการพยากรณ์อัตราการเจริญเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ดูว่าแผน PDP 2015 ในปี 2558 พยากรณ์ว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดมากกว่าที่พยากรณ์เอาไว้ในปี 2557 ถึง 5.13%

ลำพังตัวเลขนี้ก็ถือว่าน่าจะมากเกินความเป็นจริงอยู่แล้ว เพราะไม่ว่าจะเทียบกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง ไม่มีวี่แววเลยว่าปี 2558 จะมีอัตราการเจริญเติบโตได้ถึง 5.13% เพราะแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ประเมินว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2558 จะอยู่เพียง 2.7%-3.0% เท่านั้น

แต่ตัวเลขที่ว่ามากนั้นก็ยังเป็นการเปรียบเทียบการพยากรณ์ปี 2557 กับการพยากรณ์ ปี 2558 ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากเกินไปทั้งคู่

แต่เมื่อนำการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2558 เทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจริงในปี 2557 จะยิ่งหนักกว่านั้น

ลองตั้งคำถามว่าทำไมตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจริงของปี 2557 ที่เกิดขึ้นไปแล้วกลับไม่ถูกนำมาประเมินทบทวนใหม่ในแผน PDP 2015?

เพราะการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2557 นั้นอยู่ที่ 27,633.5 เมกะวัตต์ แต่ความเป็นจริง ปี 2557 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดสุทธิของระบบ กฟผ. เพียง 26,942 เมกะวัตต์ เท่านั้น

ถ้าเราใช้ตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดตามที่เกิดขึ้นจริงในปี 2557 อยู่ที่ 26,942 เมกะวัตต์ เป็นฐานคำนวณ เพื่อดูว่าการพยากรณ์ในปี 2558 สูงเกินกว่าที่เกิดขึ้นจริงจากปี 2557 เท่าไหร่?

เราก็จะพบว่าการพยากรณ์ในปี 2558 ที่ตั้งเอาไว้สูงถึง 29,015 เมกะวัตต์ นั่นหมายถึง "การพยากรณ์"ปี 2558 นั้นสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด"ที่เกิดขึ้นจริง" ปี 2557 ถึง 2,073 เมกะวัตต์
นั่นหมายถึงการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2558 มากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจริงในปี 2557 ถึง 7.69%

ถ้าการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดโตขึ้น 7.69% ภายในปีเดียว นั่นอัปลักษณ์และน่าเกลียดหรือมหัศจรรย์หนักกว่าเดิมหรือไม่? เพราะเป็นตัวเลขที่มีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปถึง 2.5-2.84 เท่าตัว

เพราะไม่ว่าจะพิจารณาในมิติการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นจริง การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2558 นั้นไม่มีทางเกิดขึ้นจริงได้ และในความเป็นจริงก็ไม่ได้เกิดมากขนาดนั้นด้วย จริงหรือไม่?

และอาจจะอัปลักษณ์มากขึ้นไปอีกหรือไม่ เมื่อพบว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2015 มีการเร่งติดตั้งโรงไฟฟ้าสูงเกินสำรองมาตรฐานเกินกว่า 15% ของการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดขึ้นไปอีกอย่างมหาศาล

และไม่ว่ากระทรวงพลังงานจะอ้างหลักวิชาการคำนวณพยากรณ์ค่าเฉลี่ยอย่างไรก็ตาม การใช้วิธีถ่วงน้ำหนักใน 6 ปีแรกให้มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงๆ ได้ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมอย่างมากว่ามีเจตนาทำไปเพื่ออะไร? และทำไปเพื่อเร่งสร้างโรงไฟฟ้าก่อนเวลาอันสมควรหรือไม่? หรือเพื่อหาความชอบธรรมในการเร่งแก้กฎหมายปิโตรเลียมแบบลวกๆ เพื่อจะได้เร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หรือไม่?

ที่ต้องตั้งคำถามนี้ก็เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าที่มากเกินจริง ย่อมเป็นภาระค่าไฟฟ้าให้สูงเพิ่มขึ้นเกินจริงไปด้วย อีกทั้งการประเมินการใช้ไฟฟ้าเกินจริงมักถูกใช้เป็นข้ออ้างในการเร่งรัดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมเพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าด้วยคำขู่ว่าไฟฟ้าจะดับและไม่พอใช้เสมอๆ เพียงเพื่อจะหลบเลี่ยงในการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมให้เกิดความรัดกุม รอบคอบ และเกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน จริงหรือไม่?

ถึงเวลาที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงความจริงใจและแสดงความบริสุทธิ์ ทำความจริงในเรื่องเหล่านี้ให้เกิดความชัดเจนต่อประชาชน




กำลังโหลดความคิดเห็น