xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ตบเท้ายื่นนายกฯ เบรกแก้2กม.ปิโตรเลียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-คปพ. ตบเท้ายื่นนายกรัฐมนตรีวันนี้ เบรกแผนการผลักดันร่างแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เหตุยังมีหลายประเด็นที่ไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งที่มีการศึกษาร่วมกันแล้ว ด้านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเผยยังไม่ได้มีการเสนอร่างพ.ร.บ.เข้าสู่ สนช. แต่รับกำลังหารือกันอยู่ ชี้หากจะทบทวน สามารถพิจารณาในขั้นตอนแปรญัตติได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (15 ต.ค.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล โดยขอให้รัฐบาลทบทวนการผลักดันเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... ของกระทรวงพลังงานเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากร่างกฏหมายทั้ง 2 ฉบับ ยังไม่สามารถตอบข้อสงสัยของภาคประชาชนในหลายประเด็น

ทั้งนี้ ยังจะขอให้นายกรัฐมนตรี สั่งการให้พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดโอกาสให้คปพ. ได้เข้าพบ เพื่อนำเสนอและให้ความเห็นการปฏิรูปพลังงานโดยตรง ก่อนผลักดันพ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับดังกล่าว

พ.ญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี เครือข่ายคปพ. และเลขาธิการเครือข่ายปกป้องประเทศ กล่าวว่า นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำคปพ. จะนำเครือข่ายเดินทางไปยื่นหนังสือนายกฯ เนื่องจากเห็นว่ามีกระแสข่าวการผลักดันพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณา สนช. ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเดินหน้าสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายกฯ มอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ของ สนช. เปิดเวทีฟังความคิดเห็น โดยตั้งคนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุดศึกษา แต่กลับไม่นำเอาผลสรุปดังกล่าวเข้ามาผนวกในร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับแต่อย่างใด

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังหารือกับรัฐบาลในการพิจารณาการนำเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... ก่อนที่จะนำเสนอสู่การพิจารณาของ สนช. แต่หากภาคประชาชนไม่เห็นด้วย หรือต้องการให้ทบวนกฏหมาย ก็สามารถไปพิจารณาในขั้นตอนการแปรญัตติของคณะกรรมาธิการยกร่างกฏหมายได้

ที่ผ่านมา พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับ ก็มีการเปิดทางเลือกตามข้อเสนอของภาคประชาชน โดยเฉพาะจากเดิมที่มีเพียงระบบสัมปทาน ก็เปิดให้มีระบบแบ่งปันผลประโยชน์หรือ PSC แล้ว ส่วนที่สุดการเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่จะมีทั้งหมด 29 แปลงสำรวจ จะใช้ระบบใด หรือเปิดให้เอกชนเลือกระบบเองว่าจะเป็นสัมปทานหรือ PSC อยู่ที่นโยบายรัฐบาลเป็นสำคัญ

"ส่วนตัวก็ยังมองว่าแบบเดิมที่เราเคยทำไว้ คือ เป็นระบบสัมปทานไทยแลนด์ทรีพลัส ส่วนอีก 3 แปลงในอ่าวไทยที่มีศักยภาพ ก็ให้เปิดทางเลือกเป็น PSC ได้"นายวีระศักดิ์กล่าว

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า หากร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ผ่านความเห็นจาก สนช. ขั้นต้นการเปิดให้มีการสำรวจก็จะใช้เวลาต่อจากนั้นอีก 3 เดือน หรือราวต้นปี 2559 ซึ่งเรื่องดังกล่าวยอมรับว่าหากมีการยืดเยื้อไป ไทยก็จะเสียโอกาสในการหาแหล่งพลังงานเป็นของตนเอง การผลิตและสำรวจก็จะไม่ต่อเนื่อง เพราะล่าสุดสัมปทานรอบ 21 จากรอบที่ 20 ที่เปิดให้สำรวจช่วงปี 2550 ก็ห่างกันมา 8 ปี ขณะที่ปกติทั่วไปการเปิดควรจะอยู่ระหว่าง 3-5 ปี

"ความไม่ต่อเนื่องของเรา ทำให้เราเสียโอกาส ทั้งด้านปริมาณสำรองที่ควรจะมีมากขึ้น และการลงทุนที่ขณะนี้บางบริษัทด้านการวัดคลื่นสั่นสะเทือน ก็ต้องย้ายฐานไปประเทศอื่น เพราะไม่มีงานรองรับ คนงานบางส่วนก็ต้องตกงานไป"นายวีระศักดิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น