xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ยื่นผู้ตรวจฯ สอบพลังงานเล่นเล่ห์ชง 2 ร่าง กม. ซัดไม่เคยชี้แจงข้อคัดค้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คปพ.ยื่นผู้ตรวจฯ สอบร่าง พ.ร.บ.2 ฉบับ ก.พลังงาน ฉะ “ณรงค์ชัย” ให้ข้อมูลเท็จต่อนายกฯ อ้างชี้แจงผู้เห็นต่างจนได้ข้อยุติ เร่งดันเข้า ครม.จนผ่าน โวยไม่เคยได้คำชี้แจง แถมเมินผลศึกษา กมธ. พร้อมค้านแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า เหตุเกินกว่าความต้องการไปมาก อ้างเลขพยากรณ์เกินจริง ปูทางเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จี้สอบให้ถอนร่างออกไป



วันนี้ (22 ธ.ค.) เครือข่ายประชาชนปฎิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจการจัดทำและเสนอร่าง พ.ร.บ. (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ของกระทรวงพลัง และตรวจสอบการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 หรือแผนพีดีพี 2015 โดยนายปานเทพกล่าวว่า ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในการประชุม ครม.วันที่ 21 ก.ค. ให้กระทรวงพลังงานจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมของต่างประเทศ และพิจารณาแนวทางเกี่ยวกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และการบริหารจัดการสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุ โดยให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และกระทรวงพลังงานทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ให้เชิญกลุ่มผู้มีความเห็นต่างมาร่วมรับฟังความเห็น สร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ และศึกษาประเด็นข้อร้องเรียนของ คปพ.

ต่อมา นายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษา รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีหนังสือลงวันที่ 3 ส.ค.ถึงตนในฐานะตัวแทน คปพ.ที่ได้ยื่นหนังสือขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน โดยระบุว่า ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นควรให้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงยุติธรรม และให้ทุกกระทรวงได้รับคำสั่งของนายกฯ ไปพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว โดยให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ แต่กลับพบว่า หลังจากที่สำนักนายกฯ ได้ทำหนังสือแจ้ง คปพ.ทราบเพียงวันเดียว วันที่ 4 ส.ค. ครม.ก็กลับมีการประชุมและลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... รวม 2 ฉบับ ซึ่ง คปพ.เห็นว่ามติ ครม.ดังกล่าวตั้งอยู่บนฐานข้อมูลกระทรวงพลังงานที่เป็นเท็จ โดยเฉพาะการที่นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงานขณะนั้น ได้ทำหนังสือด่วนสุดลงวันที่ 3 ส.ค. ถึงเลขาฯ ครม.อ้างว่าข้อร้องเรียน เรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มผู้เห็นต่าง และคปพ. กระทรวงพลังงานได้เคยชี้แจงจนได้ข้อยุติแล้ว ซึ่งก็เป็นความเท็จ เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วยหน้าที่ในการเสนอข้อมูลต่อนายกฯ เพื่อให้หลงเชื่อและนำไปสู่การที่ ครม.มีมติเห็นชอบ

ทั้งที่ในข้อเท็จจริงแล้ว ภาคประชาชนเคยแถลงข่าวคัดค้าน ตั้งคำถามกับกระทรวงพลังงานมาตลอดซึ่งก็ไม่ได้เคยได้รับคำชี้แจงที่ตรงประเด็น อีกทั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ทำการศึกษา รับฟังความเห็นประชาชน และมีข้อสรุปถึงข้อบกพร่อง ข้อควรแก้ไขในกฎหมายทั้งสองฉบับกว่า 50 ประเด็น แต่กระทรวงพลังงานก็กลับเสนอร่างกฎหมายฉบับเป็นวาระจร ตัดหน้าผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ ทั้งที่กระทรวงพลังงานควรได้นำผลการศึกษาดังกล่าวไปพิจารณาเพื่อจะได้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายสองฉบับได้ครบทุกประเด็น

ขณะที่ในส่วนของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) ของกระทรวงพลังงานนั้น คปพ.พบว่า มีเพราะแผนฯ ดังกล่าวมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินกว่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด และเกินกว่ากำลังการผลิตสำรองมาตรฐานสากลไปอย่างมาก ทั้งๆ ที่กำลังผลิตสำรองมาตรฐานสากลควรจะมีมากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณร้อยละ 15 เท่านั้น และยังมีการอ้างอิงตัวตัวเลขพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินจริง ผิดหลักวิชาการ สุดท้ายจะทำให้ประเทศไทยผลิตกระแสไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น และประชาชนต้องจ่ายค่าไฟในอัตราที่สูง แผนดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเร่งรีบในการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21

ดังนั้น จึงเห็นว่าสมควรที่ผู้ตรวจฯ จะดำเนินการตรวจสอบและเสนอให้ ครม.พิจารณาให้มีการถอนร่างแก้ไขกฎหมายทั้งสองฉบับออกไปจนกว่าจะมีการนำประเด็นผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญมาปรับปรุงแก้ไขในร่างกฎหมายให้ครบถ้วนทุกประเด็นรวมถึงข้อเรียกร้องของ คปพ.ตามข้อสั่งการของนายกฯ โดยต้นเดือน ม.ค. 59 ทาง คปพ.ก็จะมีการยื่นโต้แย้งเรื่องดังกล่าวรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยืนยันว่า กรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นที่ยุติอย่างที่กระทรวงพลังงานระบุ และในส่วนของการจัดทำแผนพัฒนาฯหากเข้าข่ายเป็นคำสั่งทางปกครองที่มิชอบขอให้ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และหากพบว่ามีการทุจริตก็ขอให้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป

















กำลังโหลดความคิดเห็น