xs
xsm
sm
md
lg

การมีส่วนร่วมรับผิดชอบของเกษตรกรชาวสวนยาง ต่อเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร

ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังสนใจการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย โดยใช้ข้อมูลส่วนต่างของราคายางมาร่วมพิจารณา มุ่งช่วยเหลือให้เกษตรกรรายย่อยสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ราคายางลดลง อันไม่ให้เป็นการแทรกแซงราคายางพาราที่บิดเบือนกลไกตลาด อันทำให้ระบบยางพาราของไทยเสียหายในระยะยาว

แนวคิดการช่วยเหลือนี้จะมุ่งไปที่การช่วยเหลือเกษตรกรที่มีพื้นที่ถือครองไม่เกิน 10 - 15 ไร่ และใช้ส่วนต่างของราคายางแผ่นดิบระหว่างราคาซื้อขายและต้นทุน นำมาบวกกำไรที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าประมาณ 15% - 30% และเมื่อคิดตัวเลขรวมทั้งหมดแล้ว คาดว่าเป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งหากรัฐบาลมีการพิจารณาจ่ายจริงก็คงต้องกู้เงินมาจ่าย และก่อเป็นหนี้สินของประเทศ ซึ่งอาจจะดูเหมือนจะไม่เป็นธรรมกับภาคส่วนอื่นๆ รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกพืชชนิดอื่น ซึ่งรัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณจ่ายคืนหนี้สินดังกล่าว และเป็นเงินภาษีรวมของทุกคนในประเทศ

บทเรียนในอดีตที่ผ่านมาหลายรัฐบาล แสดงให้เห็นว่าการจ่ายเงินอุดหนุนโดยตรงเหล่านี้ มิได้ทำให้เกษตรกรเข้มแข็งแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับอ่อนแอลง และมักจะเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่เสมอ ซึ่งผิดไปจากเกษตรกรพืชผลเกษตรชนิดอื่นๆ

ดังนั้น หากพิจารณาให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งในระยะยาว และดำรงอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างมีศักดิ์ศรี อาจจำเป็นต้องพิจารณาให้เกษตรกรมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการบริหารจัดการเงินช่วยเหลือดังกล่าว ซึ่งอาจดำเนินการได้ใน 3 แนวทาง คือ

1) เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือ และจ่ายคืนเงินกลับมาในอนาคต
หลักคิดนี้ถือว่า เงินจำนวนดังกล่าวมิใช่เป็นเงินให้เปล่า แต่เป็นเงินยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระยะสั้นแก่เกษตรกร และเมื่อเกษตรกรปรับตัวได้แล้วจะต้องคืนเงินกลับมาแก่ส่วนรวม เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียนในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มอื่นๆต่อไป ลักษณะเช่นนี้คล้ายกับการยืมเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่นักเรียนกู้ไปเรียนแล้วจะต้องใช้คืนตามกำหนด

แนวคิดนี้จะเป็นการกำหนดให้เกษตรกรมีการจ่ายเงินคืน 4 ปีๆ ละ 25% ของจำนวนเงินที่ได้รับความช่วยเหลือ (ในปีที่ราคายางปกติ หรือราคาสูง) ที่นี้ หากปีใดเกษตรกรประสบปัญหาราคาผลผลิตผันผวนตกต่ำ เกษตรกรก็ไม่ต้องจ่ายคืนเงินในปีนั้นๆ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นใน 1 ปี จากทั้งหมด 4 ปี เกษตรกรก็จ่ายคืนเพียง 75% ของเงินที่ได้รับไป โดยไม่มีดอกเบี้ย หากเกษตรกรไม่จ่ายคืนตามกำหนดก็จะเสียสิทธิ์การได้รับความช่วยเหลือในอนาคต


โดยการคำนวณว่าปีใดเป็นปีที่ราคาตกต่ำ [1] จะใช้วิธีการคำนวณจากราคาจริงย้อนหลังไป 12 เดือนแล้วหาร 12 เป็นราคาเฉลี่ยแต่ละเดือน เรียก “ราคาอ้างอิง” และนำราคาอ้างอิงนี้บวก 15% ได้เป็นราคาเส้นบน กับราคาอ้างอิงลบ 15% ได้เป็นราคาเส้นล่าง ในปีใดที่ราคาจริงสูงกว่าราคาบน เรียกว่า “ปีที่ราคาสูง” ปีไหนราคาจริงอยู่ต่ำกว่าราคาล่าง เรียกว่า “ปีที่ราคาตกต่ำ” ส่วนปีไหนที่ราคาเท่ากับหรืออยู่ระหว่างเส้นประทั้งสองนี้ เรียกว่า “ปีที่ราคาปกติ”

2) เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลือ และไม่ต้องคืนเงิน แต่ต้องฝากเงินสะสมในบัญชีตนเอง
แนวคิดนี้อยู่บนหลักคิดที่ว่า เกษตรกรควรจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงแก่ตนเอง โดยใช้วิธีการสะสมทรัพย์สิน ซึ่งในที่นี้เป็นรูปของการสะสมเงินฝาก

แนวคิดนี้จะเป็นการกำหนดให้เกษตรกรมีการฝากเงินในบัญชีของตนเอง 4 ปีๆละ 25% ของจำนวนเงินที่ได้รับความช่วยเหลือ (ในปีที่ราคายางปกติ หรือราคาสูง) ที่นี้ หากปีใดเกษตรกรประสบปัญหาราคาผลผลิตผันผวนตกต่ำ เกษตรกรก็ไม่ต้องฝากเงินในปีนั้นๆ และเงินจำนวนทั้งหมดถอนได้เมื่อครบระยะ 5 ปี


ที่นี้หากเกษตรกรชาวสวนยางรายใดมีการบิดพลิ้วไม่ฝากเงินเข้าบัญชีตนเองตามสัญญาก็จะเสียสิทธิ์ความช่วยเหลือในอนาคต โดยจะเห็นว่าเกษตรกรที่รักษาสัญญาจะเป็นกลุ่มที่พยายามช่วยเหลือตนเอง และรัฐบาลควรช่วยเหลือเป็นลำดับแรก

3) เป็นการผสมผสานแนวทางที่ 1 และ 2
แนวทางนี้เป็นการผสมผสานระหว่าง 2 แนวทางแรก โดยรัฐบาลเก็บเงินคืนบางส่วนและเป็นเงินฝากบางส่วน เช่น เก็บคืน 10% เป็นเงินฝาก 15% เป็นต้น ทั้งนี้ สัดส่วนจำนวนดังกล่าวจำเป็นต้องพิจารณากันต่อไป อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้ยังคงพิจารณาถึงความผันผวนของราคาที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยหากปีใดเกิดสถานการณ์ราคาตกต่ำ ก็จะยกเว้นการเก็บคืนเงินและการฝากเงิน เช่นเดียวกัน

“แนวคิดนี้เป็นเรื่องที่ท้าทาย” เพราะไปสั่นคลอนกับความเชื่อในอดีต และสิ่งที่เคยชินคือ รัฐบาลมีหน้าที่ช่วยเหลือจ่ายเงินเพียงอย่างเดียว วิธีการนี้ไม่เพียงแต่ใช้งบประมาณยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เกษตรกรขาดการปรับตัวอย่างเหมาะสม และอ่อนแอลง

โดยส่วนตัวแล้วผมมีความเชื่อในแนวทางที่ 1 ซึ่งแนวทางใหม่เหล่านี้จะเป็นการปฏิรูปทำให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในระบบยางพาราไทย ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น มีการพัฒนาประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นทราบแล้วว่าต้นทุนการผลิตยางพาราของไทยสูงกว่าทุกประเทศรอบข้าง เกษตรกรจึงจำเป็นต้องปรับตัวลดต้นทุน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้

นอกจากนี้ ยังเป็นแนวการสร้างผลเชิงบวกแก่ทุกฝ่าย และเงินที่รับคืนจากเกษตรกรเหล่านี้จะนำมาจัดตั้งเป็นกองทุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอื่นๆ ต่อไป เป็นการปลดแอกเกษตรกรจากภาวะการพึ่งพา และสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกร และเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรประเภทอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการตามแนวทางเหล่านี้ แต่ก็ควรที่จะต้องมีเงื่อนไขอื่นๆในการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกร เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันในเงินงบประมาณดังกล่าว เพราะแม้แต่การที่นักเรียนไปกู้เงินรัฐบาล เพื่อเรียนหนังสือยังต้องจ่ายคืนเงินจำนวนดังกล่าวอย่างครบจำนวนพร้อมดอกเบี้ย

ความรุ่งเรืองและความมั่งคั่งของเกษตรกรนั้น เริ่มจากการพึ่งพาตนเอง ใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองใหม่ เรื่องนี้อาจจะไม่ถูกใจใครหลายๆคน และแม้ว่าจะเป็นยาขม แต่ผมก็เขียนเรื่องนี้ด้วยเจตนาที่ดี เต็มไปด้วยความจริงใจต่อพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางครับ

หมายเหตุ :
[1] จากแนวคิดในโครงการวิจัย “การศึกษานโยบายและมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของประเทศไทย ด้วยกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาและแนวทางที่เหมาะสมในการจัดตั้ง” โดย ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร และคณะ – สนับสนุนทุนวิจัยงบประมาณ ปี 2555 โครงการยางพาราแห่งชาติ สำนักงานกองทุนส่งเสริมงานวิจัย (สกว.)

กำลังโหลดความคิดเห็น