xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติยางพาราไทย...ทางรอดใหม่ชาวสวนยาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แม่โจ้โพลล์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ปลูกยางพาราในภาคใต้ พบว่า เกษตรส่วนใหญ่เชื่อราคายางพาราจะตกต่ำลงอีก ส่งผลให้รายได้ลด หนี้สินเพิาม คุณภาพชีวิตแย่ลง

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคใต้ จำนวนทั้งสิ้น 549 ราย ระหว่างวันที่ 10 - 30 กรกฎาคม 2558 ในหัวข้อ “วิกฤติยางพาราไทย...ทางรอดทางเลือกใหม่ชาวสวนยาง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราต่อสถานการณ์ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา และแนวทางการปรับตัวของเกษตรกร

ผลการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.75 คิดว่าราคายางพาราในอนาคตจะลดต่ำลงอีก รองลงมา ร้อยละ 19.49 ไม่แน่ใจ มีเพียงร้อยละ 11.76 คิดว่าราคาจะสูงขึ้น และเมื่อสอบถามถึงผลกระทบจากราคายางพาราตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราส่วนใหญ่ ร้อยละ 97.81 ได้รับผลกระทบ โดยอันดับ 1 คือ ส่งผลให้รายได้ลดลง อันดับ 2 คือ ประสบปัญหาภาระหนี้สินเพิ่มพูน และอันดับ 3 คือ คุณภาพชีวิตแย่ลง มีเพียงร้อยละ 2.19 ที่ไม่ได้รับผลกระทบ

ด้านความคิดเห็นต่อปัจจัยที่ส่งผลให้ราคายางพาราตกต่ำนั้น พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 55.19 เกิดจากปริมาณผลผลิตยางพารามีจำนวนมากเกินความต้องการของตลาด อันดับ 2 ร้อยละ 45.54 เกิดจากการที่โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราของประเทศไทยมีจำนวนน้อย และอันดับ 3 ร้อยละ 39.71 เกิดจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ

จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำดังกล่าว เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา ส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.88 มีการปรับตัว คือ อันดับ 1 หาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ อันดับ 2 ลดต้นทุนการผลิตลง เช่น ลดการจ้างงาน ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยและสารเคมีต่างๆ ลง อันดับ 3 นำผลผลิตไปแปรรูปเพื่อชะลอการขาย ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 3.12 ที่ไม่มีการปรับตัวใดๆ

สำหรับข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำของประเทศไทยนั้น เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา อันดับ 1 ควรมีมาตรการกระตุ้นราคายางพาราหรือช่วยเหลือเกษตรกรด้านราคายางพารา เช่น การประกันราคายางพารา อันดับ 2 ควรมีการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (โซนนิ่ง) เพื่อจำกัดปริมาณผลผลิตยางพาราให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด อันดับ 3 ควรเร่งส่งเสริมให้มีการนำยางพาราไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า

แม้ในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐจะมีมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา รวมถึงเกษตรกรส่วนใหญ่จะหาแนวทางการปรับตัวแก้ไขปัญหาโดยการหาอาชีพเสริม แต่อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร การเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราจึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยยกระดับราคายางพาราให้สูงขึ้น ในขณะที่มาตรการในระยะยาวที่จำเป็นคือต้องดำเนินการกำหนดเขตพื้นที่เหมาะสมในการปลูกยางพารา หรือการโซนนิ่ง เพื่อสามารถควบคุมยางพาราทั้งด้านคุณภาพและปริมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่อไป

ยางพาราถือเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีมูลค่าส่งออกเป็นอับดับ 1 ของสินค้าเกษตรทั้งหมด แต่เดิมยางพาราถือเป็นพืชที่นิยมปลูกกันมากในภาคใต้ของประเทศไทย แต่ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา จากแผนพัฒนาเกี่ยวกับยางพาราของประเทศไทยที่มียุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก (สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล, 2554) จึงทำให้ภาครัฐได้มีการส่งเสริมให้ขยายพื้นที่การปลูกยางพาราไปยังภูมิภาคอื่นๆ

โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศจีนก็มีการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นจำนวนมากเช่นกัน จากแนวโน้มการขยายพื้นที่อย่างต่อเนื่องนี้ส่งผลให้ราคายางพาราลดลงตลอดช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา ราคายางพาราที่ลดลงดังกล่าว กระทบต่อรายได้ของประเทศและเกษตรกรค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ จากข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ประเทศไทยได้สูญเสียรายได้จากการส่งออกยางพาราไปแล้วกว่า 4.2 แสนล้านบาท รายได้ของเกษตรกรลงลดเฉลี่ย 132,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น