xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางพิษณุโลกยังดันเปิดตลาดกลาง ชี้มีคนโค่นยางทิ้งปลูกมะนาวแทนรายเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - สกย.สองแควถือฤกษ์วันพืชมงคลจับมือชาววังทองขุดลอกคูลำน้ำและตัดหญ้าริมถนนสายเอเชียรับหน้าฝน ก่อนตั้งโต๊ะหารือแนวทางดันเปิดตลาดกลางยางพารา เผยจนถึงขณะนี้มีชาวสวนโค่นยางทิ้งปลูกมะนาวแทนเพียงรายเดียว

วันนี้ (13 พ.ค.) นายถวิล คงเคว็จ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) พิษณุโลก พร้อมพนักงาน สกย. ร่วมกับชาวบ้านหมู่ 1 ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง ถือฤกษ์วันพืชมงคล ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ด้วยการตัดหญ้ารกชัน ริมถนนสายเอเชียหมายเลข 12 บริเวณหน้าสำนักงานฯ และขุดลอกคูน้ำก่อนฤดูฝนอันใกล้นี้

จากนั้น ผอ.สกย.พิษณุโลกได้ร่วมประชุมสัมมนาคณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางจังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 2/2558 ซึ่งนำโดยนายศิลา ปัญจรี นายฉลอง อุ่นวงค์ และตัวแทนกลุ่มเกษตรปลูกยางพาราบ้านแยง, ไผ่ใหญ่, น้ำริน ฯลฯ เพื่อหารือแนวทางสนับสนุนตลาดกลางยางพาราเกิดขึ้นในจังหวัด และสนันสนุนการผลิตยางแผ่นแทนยางก้นถ้วย และการลดต้นทุนการผลิตช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงราคายางตกต่ำ

นายศิลา ปัญจรี ประธานเครือข่ายชาวสวนยางระดับจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ผลผลิตยางพาราในตลาดยางพิษณุโลกส่วนใหญ่หรือ 90% เป็นยางก้นถ้วย หรือขี้ยาง ที่มีราคาต่ำเพียง 23-25 ราคา ขณะที่ราคายางแผ่นที่ผลิตกันน้อยมาก มีราคาถึง 54 บาทต่อกิโลกรัม

จึงอยากสนับสนุนให้เกษตรกรทำยางแผ่นแทนยางก้นถ้วย และอยากให้ก่อตั้งตลาดกลางขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อสามารถอ้างอิงราคายางพาราแท้จริงและสูงกว่าปัจจุบัน ซึ่งสภาเกษตรได้นำเสนอไปยังกรมวิชาการเกษตรสนับหนุนแล้ว

จังหวัดพิษณุโลกถือว่ามีความพร้อมที่จะผลักดันให้เกิดตลาดกลางยาพารา เพราะนอกจากจะมีสวนยางพาราเปิดกรีดแล้ว 124,365 ไร่ ยังสามารถรองรับปริมาณยางจากจังหวัดเลยและเพชรบูรณ์อีกด้วย

นายศิลาเปิดเผยอีกว่า กรณีนโยบายของกรมป่าไม้ตัดโค่นยางทิ้ง 2 หมื่นไร่ในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แถบ ต.บ้านแยง และหนองกระท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบแล้ว โดยชาวบ้านเตรียมยื่นเรื่องกับสภาเกษตรให้ช่วยเหลือ โดยเสนอให้กันออกระหว่างเกษตรกรแท้จริงกับนายทุนให้ชัดเจน

นายถวิล คงเคว็จ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) พิษณุโลก เปิดเผยว่า พื้นที่พิษณุโลกมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนกับเกษตรปลูกยางพาราทั้งหมด 170,399 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมกับ สกย. จำนวน 35,932 ไร่ (มีเอกสารสิทธิเป็นของตนเอง)

โดยมีเกษตรกรโค่นต้นยางพาราตามนโยบายลดพื้นที่ปลูกยางพาราของรัฐบาลจำนวน 4 แสนไร่ทั่วประเทศ และรับทุนสงเคราะห์จากสำนักงานกองทุนฯ จำนวน 9 ราย รวม 88 ไร่ มีเพียงรายเดียวที่ขอโค่นต้นยางพาราแล้วเปลี่ยนเป็นสวนมะนาวแทน



กำลังโหลดความคิดเห็น