xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนากุ้งเมืองน้ำดำร้องรัฐช่วย หลังกุ้งน็อกตายซ้ำซาก เผยถูกเมินทั้งที่เป็นสินค้าเด่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาอากาศที่แปรปรวนร้อนแล้ง ประกอบกับโครงการบำรุงและรักษาเขื่อนลำปาว ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการเลี้ยงกุ้งทำการปิดน้ำ ทำให้กุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงกันมาใน ต.บัวบาน ต.นาเชือก และ ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ น็อคตายจำนวนมาก เฉลี่ยรายละ 20-80 กิโลกรัม หรือรายละ 5,000 -19,000 บาท
กาฬสินธุ์ - ชาวนากุ้งก้ามกรามวอนหน่วยราชการช่วยเหลือ เพราะขณะนี้สภาพไม่ต่างจากคนชายขอบ ไม่ได้รับการเหลียวแลเยียวยาปัญหากุ้งน็อกตายซ้ำซากหลายสิบปี ทั้งที่เป็นสินค้าเกษตรสร้างรายได้ปีละหลายร้อยล้านบาท

วันนี้ (13 พ.ค.) จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกษตรกรใน จ.กาฬสินธุ์ เนื่องในวันพืชมงคล พบว่าเกษตรกรเริ่มไถนาเพื่อเตรียมดินไว้ทำการเพาะปลูกในฤดูการผลิตปี 2558 ขณะที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ยังคงปิดการส่งน้ำฤดูแล้งที่ปิดมาตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย. และจะเปิดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกในเขตชลประทานวันที่ 25 พ.ค.นี้

ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม จ.กาฬสินธุ์กลับตกอยู่ในภาวะย่ำแย่ เนื่องจากเช้าวันพืชมงคลกลับเป็นวันที่กุ้งก้ามกรามในพื้นที่ ต.บัวบาน ต.เขาพระนอน และ ต.นาเชือก อ.ยางตลาด น็อกตายจนเกิดความเสียหายจำนวนมาก

นายคำ ฉายช่วง อายุ 71 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม บ้านเลขที่ 187 หมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ช่วงเช้าตรู่วันนี้กุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงในบ่อดินพื้นที่ 5 ไร่ 3 บ่อ น็อกตายอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ บางรายเห็นแล้วน่าเศร้าใจ เนื่องจากตายเกลื่อนปากบ่อ ทั้งนี้ ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ รวมถึงน้ำที่ไม่มีเปลี่ยนถ่าย เพราะทางโครงการบำรุงและรักษาเขื่อนลำปาว ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการเลี้ยงกุ้งปิดการส่งน้ำ

“ปลูกข้าวก็ขาดทุน ถ้าไม่เลี้ยงกุ้งก็ยังไม่รู้จะไปทำอะไร เพราะทำนากุ้งมานานแล้ว จึงต้องยอมรับสภาพ แก้ไขไม่ได้ แม้ปีนี้จะลดปริมาณการเลี้ยงตามที่หน่วยงานราชการเตือนไว้ และติดตามข่าวสารสถานการณ์น้ำในเขื่อนอย่างใกล้ชิด แต่ก็ประสบกับเหตุสุดวิสัย ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากมานาน แต่ก็ต้องอดทนกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเลี้ยงกุ้งเป็นอาชีพหลักแล้ว”

นายคำกล่าวว่า สิ่งที่ผู้เลี้ยงกุ้งทำได้ตอนนี้คือ นำกุ้งวัย 2 เดือนขนาด 40-60 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม เร่ขายราคาถูกเพื่อเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ราคากิโลกรัมละ 100 บาทตามตลาดและหมู่บ้านข้างเคียง จากราคาปกติที่ปากบ่อกิโลกรัมละ 250 บาท นอกจากนี้ยังพบว่าวันนี้มีกุ้งก้ามกรามใน 3 ตำบลน็อกตายเสียหายอีกกว่า 50 ราย

“เพื่อลดความเสียหาย เกษตรกรต้องพึ่งตัวเองด้วยการขุดบ่อบาดาลเพื่อสูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อ ต้นทุนราคาบ่อละ 5,000-10,000 บาท ขณะที่การเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาช่วยเหลือกว่า 10 ปีแล้วยังไม่เกิดผล ทั้งที่จังหวัดชูกุ้งก้ามกรามเป็นสินค้าที่สร้างรายได้ให้แก่จังหวัด เพราะเป็นพื้นที่เลี้ยงกุ้งก้ามกรามแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่การดูแลเกษตรกรเปรียบได้กับกลุ่มคนชายขอบ เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด”



กำลังโหลดความคิดเห็น