ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ราคายางพาราที่ตกต่ำลงเกือบ 70% จากช่วงปีที่เคยรุ่งโจน์ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องปรับกันอย่างเจ็บปวดไปตามทางของใครมัน ทั้งผู้ปลูก ผู้ผลิต และผู้ส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวสวนยาง ซึ่งที่ผ่านมา ได้ตัดต้นยางทิ้งไปแล้วอย่างมากมาย พบจังหวัดเดียวเหี้ยนเตียนไปแล้วกว่า 11,000 ไร่ โรงงานยางแผ่นหลายแห่งปิดลง ทำให้เกิดปัญหาคนว่างงานติดตามมา และทุกฝ่ายยังไม่มีทางออกในขณะนี้
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ หนังสือพิมพ์ขายดีที่สุดที่พิมพ์จำหน่ายในนครโฮจิมินห์ ปัจจุบันเกษตรกรที่หันไปปลูกยางกันมากมายในช่วงหลายปีมานี้ ต้องกันไปปลูกพืชเดิมๆ ที่เคยทำกันมาเมื่อก่อน เพราะไม่มีความหวังใดๆ ต่อราคายางในปัจจุบัน จึงต้องตัดต้นทิ้งเพื่อลดค่าใช้จ่าย และพลิกผืนดินใหม่ปลูกพืชชนิดอื่นแทน
เมื่อปี 2554 ราคายางส่งออกสูงถึง 5,000 ดอลลาร์ต่อตัน (5 ดอลลาร์/กก.) แต่ราคาในเดือน ก.ย.ปีนี้เหลือเพียงตันละ 1,580 ดอลลาร์ (1.58 ดอลลาร์/กก.) ทั้งนี้ เป็นตัวเลขของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ซึ่งหมายความว่า เกษตรกรทั่วไปต่างขาดทุนกันทั่วหน้า หลายคนบอกว่าราคานี้ไม่คุ้มต่อค่าปุ๋ย และค่าจ้างคนงานกรีดยางเสียด้วยซ้ำ
เกษตรกรใน จ.บี่งเฟื้อก (Binh Phuoc) ผู้หนึ่งกล่าวว่า ขณะนี้กำลังเป็นฤดูกรีดยางที่สวนของเขา แต่ก็ต้องปล่อยมันทิ้งไปเพราะไม่รู้จะกรีดมาทำไม ซึ่งชาวสวนยางคนอื่นๆ ในจังหวัดนี้ก็ไม่ได้ต่างกัน ในขณะที่เพื่อนบ้านของเขาตัดต้นยางทิ้งไปแล้วทั้งสวน เริ่มพลิกดินใหม่เตรียมปลูกมันสำปะหลัง
นายหวูวันเบือง (Vu Van Buong) เกษตรกร จ.บี่งเฟื้อก อีกคนหนึ่ง บอกหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ว่า ครอบครัวมีสวนยางอยู่ 12 เฮกตาร์ (75 ไร่) ต้นยางอายุ 12 ปี ตอนนี้ตัดทิ้งไปหมดแล้ว เตรียมปลูกมะม่วงหิมพานต์
บี่งเฟื้อก ได้ชื่อเป็นศูนย์กลางสวนยางในภาคใต้เวียดนาม แต่ในปัจจุบันเกษตรกรตัดต้นยางทิ้งไปแล้วรวมกันเป็นจำนวนกว่า 1,800 เฮกตาร์ (กว่า 11,250 ไร่) เพื่อปลูกพืชอย่างอื่น หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋อ้างตัวเลขสำนักงานเกษตรจังหวัด
ราษฎรจังหวัดนี้พากันหันไปปลูกยางพารา หลังจากราคาพุ่งขึ้นสูงในช่วงปี 2554 ซึ่งทำให้มียางออกสู่ตลาดมากมายก่ายกองในประเทศ จนเหลือต้องสต๊อกเก็บเอาไว้เฉยๆ ยางที่สะสมอยู่ในสต๊อกมากมายทำให้ราคาในประเทศเริ่มดิ่งลงตั้งแต่่ปี 2556 เป็นต้นมา
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคายางดิ่งลงสู่หายนะก็คือ ความต้องการในตลาดโลกที่ค่อยๆ ลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ จีน ซึ่งเป็นลูกค้ายางธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลก ทั้งนี้ เป็นรายงานของสภาธุรกิจยางแห่งอาเซียน (ASEAN Rubber Business Council) หรือ ARBC
“ปัจจัยอื่นๆ นอกจากนี้ ยังรวมทั้งความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องทางโซนยุโรป และในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก รวมทั้งราคาน้ำมันดิบที่ตกวูบลง กับผลกระทบต่อสินค้าอื่น เช่น ยางดิบ” ARBC ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งเมื่อวันที่ 10 ก.ย.
สภาดังกล่าวเป็นองค์กรรวมของสมาคมค้ายางจากไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งประเทศเหล่านี้ผลิตยางรวมกันได้ ราว 76.2% ของปริมาณที่ผลิตได้ทั่วโลก
ARBC กล่าวว่า ราคายางตกต่ำลากยาวเช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่น่าห่วง และเป็นไปได้ว่าเกษตรกรรายย่อยจะต้องหยุดกรีดยาง ปล่อยยางทั้งสวนทิ้งไป หันไปหากิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจมากกว่า ขณะเดียวกัน ก็จะทำให้ปริมาณยางออกสู่ตลาดลดลงไม่พอต่อความต้องการของผู้ผลิตสินค้าในวันข้างหน้า
องค์กรนี้กล่าวอีกว่า ราคายางที่ตกลงสุดขีดขณะนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเกษตรกรทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่พึ่งพายางพาราเป็นรายได้หลัก และด้วยค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพสูงขึ้น คนเหล่านี้ยิ่งจะประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม.