xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางใต้ถกปัญหาราคายางทรุด เตรียมยื่นหนังสือผ่าน ผวจ.14 จังหวัดให้รัฐแก้ไข

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พัทลุง - เครือข่ายสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราเพื่อเสนอไปยังรัฐบาล โดยการยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 14 จังหวัด 

วันนี้ (31 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 14 จังหวัดภาคใต้ ประมาณ 40 คน นำโดย นายประทบ สุขสนาน ประธานเครือข่ายชาวสวนยาง จ.ตรัง นายไพรัช เจ้ยชุม ประธานเครือข่ายชาวสวนยาง จ.พัทลุง นายธนพล ทองหวาน ประธานเครือข่ายชาวสวนยาง และชาวสวนปาล์ม จ.สงขลา/รองนายก อบต.ทุ่งหมอ อ.สะเดา จ.สงขลา ได้จัดประชุมหารือร่วมกัน ณ ห้องประชุมร้านอาหารครัวสังข์หยด ต.ท่ามิหรำ อ.เมือง จ.พัทลุง
 

 
วัตถุประสงค์เพื่อหาเเนวทางเเก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ หารือแนวทางเสนอไปยังรัฐบาลโดยการยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้ จากที่เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เน้นให้เกษตรกรมีความมั่นคง และยั่งยืนในการประกอบอาชีพ โดยหลังจากหารือจะกำหนดวันยื่นหนังสืออีกครั้งหนึ่ง

นายไพรัฐ เจ้ยชุม กล่าวว่า ตนต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาเรื่องยางพาราอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เมื่อได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรก็ใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า เอาเงินมาจ่ายชดเชยให้แก่เกษตรกร หรือให้สถาบันการเงินนำเงินมาปล่อยให้เกษตรกรกู้ เมื่อราคายางพาราตกต่ำเกษตรกรไม่สามารถนำเงินมาจ่ายคืนได้ จึงเกิดปัญหาเป็นลูกโซ่ ส่วนการจ่ายเงินชดเชยเมื่อได้เงินก้อนมาก็ใช้จ่ายหมดไปในการใช้ชีวิตประจำวันเพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบัน
 

 
ดังนั้น รัฐบาลควรเข้ามาแก้ปัญหาโดยการมุ่งเน้นให้เกษตรกรมีความยั่งยืน และมั่นคงในอาชีพ และการดำรงชีพ โดยการส่งเสริมให้มีการแปรรูปยางพาราในประเทศอย่างจริงจัง โดยเน้นสถาบันเกษตรกรที่มีความพร้อมในการจัดตั้งโรงงานแปรรูป และรัฐเข้ามาสนับสนุนด้านการตลาด ซึ่งหากกระบวนการผลิต การแปรรูป และใช้ในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้สามารถลดปริมาณการส่งออกได้ในระดับหนึ่ง และเป็นการเพิ่มมูลค่ายางพารา ทำให้เกษตรกรในประเทศสามารถขายยางพาราได้ในราคาที่เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ

สำหรับราคาน้ำยางสดในภาคใต้ วันที่ 31 ส.ค.58 อยู่ที่กิโลกรัมละ 40-45 บาท ในขณะที่ราคายางพาราแผ่นรมควัน ชั้น 1-3 อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 47 บาท และยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตยางพาราที่กิโลกรัมละ 63 บาท และปัจจุบันในพื้นที่ภาคใต้กำลังเข้าสู่ช่วงหน้าฝน เกษตรกรไม่สามารถกรีดยางพาราได้ เกษตรกรชาวสวนยางพาราจึงเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่สามารถเก็บเงินไว้สำรองเพื่อใช้จ่ายในช่วงหน้าฝนได้เหมือนในอดีต
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น