xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนยางขอคุย “บิ๊กตู่” โดยตรง ฉะ “ไก่อู” กำลังจะตายรอโครงการระยาวไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แนวร่วมกู้ชีพสวนยางยื่นหนังสือรัฐ หลังประกาศเขตภัยพิบัติยางราคาตกต่ำเพื่อเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความเดือดร้อน จี้ชดเชยส่วนต่าง กก.60 บาท อนุมัติกองทุนข้าวสาร ชะลอโค่นต้นยาง จดทะเบียชาวสวนที่ไร้เอกสารสิทธิ ขอคุยนายกฯโดยตรง โวย “ไก่อู” บอกโครงการช่วยเหลือทำเกษตรกรเสียนิสัย ลั่นกำลังจะตายรอโครงการระยะยาวไม่ได้ ขู่เพิกเฉยเคลื่อนไหวแน่

วันนี้ (14 ต.ค.) ที่ศูนย์บริการประชาชน ฝั่งสำนักงาน ก.พ. นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางและตัวแทนแนวร่วมกู้ชีพ พร้อมนายกัมพล เพิงมาก ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ภาคกลาง และภาคตะวันออก เข้ายื่นหนังสือข้อเสนอและเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนพร้อมรายชื่อตัวแทนกู้ชีพชาวสวนยางจากทั่วประเทศ จำนวน 25 คนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ผ่านศูนย์บริการประชาชนฯ โดยนายสุนทรกล่าวว่า ตามที่แนวทางร่วมกู้ชีพชาวสวนยางประกาศเขตภัยพิบัติราคายางพาราตกต่ำตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมาที่ จ.สุราษฎร์ธานี จนถึงปัจจุบันแนวร่วมกู้ชีพฯ แต่ล่ะจังหวัดได้ทยอยประกาศเขตภัยพิบัติราคายางพาราตกต่ำในหลายพื้นที่ที่เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ให้เกษตรกรแสดงออกอย่างถูกกฎหมายเพื่อสะท้อนความเดือดร้อนจากราคายางตกต่ำให้รัฐบาลได้รับรู้ โดยขอให้รัฐบาลช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน คือ 1. ให้ชดเชยส่วนต่างของยางพาราที่กิโลละ 60 บาท เพื่อเป็นการชดเชยรายได้ ให้กับชาวสวนยางที่จดทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย 2. ให้อนุมัติกองทุนข้าวสาร ที่แนวร่วมกู้ชีพเคยเสนอต่อนายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ 3. ให้ชะลอการตัดโค่นยางพาราตามนโยบายทวงคืนพื้นป่า และตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองระดับจังหวัดโดยมีเกษตรกรเข้าร่วม เพื่อแยกพื้นที่สวนยางของคนจนและนายทุนตามคำสั่ง

4. ให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิและคนกรีดยางในที่ดินดังกล่าวสามารถจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ได้มีการยื่นรายชื่อตัวแทน แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางทั่วประเทศจำนวน 25 คน เพื่อขอพูดคุยโดยตรงกับนายกฯ ในการหาทางออกจากปัญหาครั้งนี้ ขณะเดียวกัน แนวร่วมกู้ชีพฯ ขอเสนอโครงการชดเชยส่วนต่างโครงการยางพาราซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือชาวสวนยางรายย่อยไม่เกิน 15 ไร่ เป็นการชดเชยรายได้แก่เกษตรที่คำนวณมาจากผลผลิตยางต่อปี คูณกับส่วนต่างราคา ตามที่คณะทำงานศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติการชดเชยส่วนต่างราคายางพาราแทนการรับซื้อผลผลิตเก็บเข้าสต๊อกกำหนด เพื่อให้ความช่วยเหลือนี้ครอบคลุมไปถึงคนกรีดยางด้วย

“ที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พูดชี้นำล่วงหน้าว่าโครงการช่วยเหลือเกษตรรายย่อยทำเกษตรกรเสียนิสัย และทำให้กลไกตลาดบิดเบือนนั้น การพูดเช่นนี้ พล.ต.สรรเสริญทราบหรือไม่ว่าไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล เกษตรกรกำลังจะตาย เลือดกำลังไหล ลูกต้องออกจากโรงเรียน บอกให้ใช้โครงการระยะยาว มันไม่ถูกต้อง วันนี้พี่น้องเขาเตรียมการเคลื่อนไหวทั่วประเทศวันที่ 15 ต.ค.นี้ ที่ จ.นครศรีธรรมราช แค่บอกว่ารัฐบาลไม่มีเงินก็พูดตรงๆ ไม่ต้องพูดลีลา อ้อมค้อม เอาแบบแมนๆ เราจะได้เดินหน้าได้ถูกต้องว่าต้องเดินหน้าอย่างไร ซึ่งรัฐบาลต้องไปคุยกับชาวสวนเอง หากรัฐบาลหรือนายกฯ เพิกเฉยมีการเคลื่อนไหวเร็วๆ นี้แน่นอน” นายสุนทรกล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น