xs
xsm
sm
md
lg

สตง.ลุยสอบสำนักข่าวอิศราฯ เหตุรับงบฯ”สสส.” ส่อผิดวัตถุประสงค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สตง.จ่อลุยสอบ "สถาบันอิศรา" รับทุน สสส. ส่อผิดวัตถุประสงค์ ระบุเช็คยิบทุกโครงการ ชี้หากพบมีความผิด คนอนุมัติงบใน สสส.ต้องรับผิดชอบ สวดผลาญงบเกินเรื่องสุขภาพอื้อ ทั้งด้านรัฐศาสตร์-วันสำคัญ “นิด้าโพล” เผยคนหนุนออกกฎหมาย ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อทุกชนิด 24 ชม.

วานนี้ (18 ต.ค.) นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวถึงกรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อ สตง.เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรณีสนับสนุนสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย หรือสำนักข่าวอิศรา เนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณไม่ตรงกับวัตถุประสงค์กองทุนว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือ แต่ก็ต้องมีการตรวจสอบต่อไป โดยดูตามวัตถุประสงค์เป็นหลัก ดูข้อเท็จจริงว่าโครงการต่างๆ ที่สถาบันอิศราทำนั้น เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพโดยตรงหรือโดยอ้อมอย่างไร ทั้งนี้ หากพบว่าใช้งบไม่ถูกต้อง แม้จะเรียกเงินคืนไม่ได้ แต่คนอนุมัติการจ่ายงบประมาณต้องรับผิดชอบ เพราะก่อนอนุมัติต้องมีหน้าที่ต้องรักษากฎหมาย ดูโครงการต่างๆว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือไม่ ถ้าตรวจสอบแล้วไม่อยู่ในขอบข่ายวัตถุประสงค์ที่จะอนุญาต แต่กลับอนุมัติ ก็ต้องรับผิดชอบ มิเช่นนั้นจะจ้างมาเป็นผู้จัดการ สสส.ทำไม ถึงแม้ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ จะลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการ สสส.ไปแล้วก็เป็นเพียงการลาออกจากการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น แต่จำเป็นต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป”

“ต้องดูว่า จะผิดอาญา หรือแพ่ง และต้องดูว่ากรณีดังกล่าวดำเนินการคนเดียว หรือดำเนินการในระบบองค์กรกลุ่ม ถ้าเป็นมติบอร์ดก็ต้องรับผิดชอบทั้งคณะ ส่วนผู้ขอรับทุนนั้นถือว่าไม่รู้เรื่องกฎระเบียบ" ผู้ว่าการ สตง. กล่าว

** ลั่นสอบ สสส.ไม่ช้าแน่นอน

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการตรวจสอบของ สตง.ก็ใช้หลักการเช่นเดียวกับคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบ ซึ่งพบว่า มีการตีความวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพกว้างไกลมาก ไม่มีขอบเขต บางอย่างก็ยากที่จะบอกว่าเกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างไร และพบหลายโครงการใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เช่น สนับสนุนการจัดงานครบรอบวันสำคัญของบุคคลต่างๆ ซึ่งเป็นโครงการทางด้านรัฐศาสตร์ ไม่เกี่ยวกับสุขภาพเลย ซึ่งไม่น่าจะตรงกับวัตถุประสงค์ของ สสส. เรื่องนี้ได้นำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการหาข้อสรุป
“เรื่องนี้ไม่ช้า เพราะ คตร.กำลังสรุป และทาง ศอตช. (ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ) คือ ท่านประธาน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ก็เรียกประชุมคู่ขนาน เรื่องการจัดการการใช้จ่ายเงินให้ถูกต้องนั้น เป็นส่วนหนึ่งของแนวนโยบายของรัฐบาล ศอตช.ก็จะดูอย่างรอบคอบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีหน้าที่ไปให้ข้อมูล ซึ่งรวมถึง คตร. และ สตง.ด้วยที่ต้องไปประชุมร่วมกัน” นายพิศิษฐ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายเรืองไกร ได้ระบุว่า ในวันที่ 19 ต.ค. เวลา 09.30 น.จะเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้ สตง.ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สสส.ที่สนับสนุนแก่ สถาบันอิศราฯ กว่า 100 ล้านบาท และนำเงินไปจัดกิจกรรมอบรมนักข่าวรุ่นต่างๆ จึงอยากให้ สตง.ตรวจสอบเพื่อความกระจ่าง และอยากให้สำนักข่าวอิศราเปิดเผยบัญชีต่างๆด้วย

** โพลชี้ดาราโพสต์เบียร์สิทธิส่วนตัว

วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การโพสต์ภาพโชว์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียล” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14 - 15 ต.ค.ที่ผ่านมา จากประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.44 ระบุเพิ่งทราบว่าอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เมื่อมีข่าวกรณีดาราและคนดังในสังคมโพสต์ภาพโชว์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียล อาทิ อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก รองลงมา ร้อยละ 33.12 ระบุว่า ไม่เคยทราบเลย และร้อยละ 27.04 ระบุว่า ทราบมานานแล้ว

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกรณีดาราและคนดังในสังคมโพสต์ภาพโชว์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียล อาทิ อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 29.36 เชื่อว่าเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ตราบใดที่ไม่เมาแล้วขับ หรือก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่น รองลงมา ร้อยละ 24.88 เชื่อว่าเป็นการโฆษณาแฝงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 20.88 เชื่อว่าเป็นไลฟ์สไตล์ส่วนตัวและทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และร้อยละ 14.56 ระบุว่า เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กและเยาวชน

** หนุนออก กม.เข้มห้ามโฆษณาทุกสื่อ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการออกกฎหมาย ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อทุกชนิด ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาทางตรง ทางอ้อม หรือโฆษณาแฝง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.44 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ เป็นเรื่องที่ไม่ควรส่งเสริม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กและเยาวชน ทำให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ ทำให้คนรู้จักและให้ความสนใจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดน้อยลง ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ การทะเลาะวิวาท และการก่อเหตุอาชญากรรมให้น้อยลงในทางอ้อม ขณะที่ ร้อยละ 28.08 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะสินค้าทุกชิ้นต้องมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าอยู่แล้ว เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการค้ามากเกินไป ปกติมีการโฆษณาในช่วงเวลาที่เหมาะสมอยู่แล้ว ประชาชนสามารถแยกแยะได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีโฆษณา ถ้าคนจะดื่มก็สามารถหาซื้อมาดื่มได้อยู่ดี ควรหันไปเข้มงวดกับการเมาแล้วขับมากกว่า.
กำลังโหลดความคิดเห็น