xs
xsm
sm
md
lg

ปชช.หนุน รธน.ชั่วคราวห้ามผู้ดำรงตำแหน่งนักการเมืองนั่ง สนช.71%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สำรวจระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,248 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของนิด้าโพลด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมือง เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.31 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นการขจัดอิทธิพลของนักการเมืองที่ใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ อันจะเกิดประโยชน์แก่ส่วนตนหรือพวกพ้องมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ ขณะที่ ร้อยละ 22.04 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะนักการเมืองมีประสบการณ์ทำงานและทราบถึงปัญหาที่จะต้องแก้ไขควรเปิดโอกาสให้นักการเมืองที่เก่งและมีประสบการณ์เข้ามาช่วยในการบริหารประเทศด้วย ควรมองที่ผลงานมากกว่าตำแหน่งของพรรคการเมือง และ ร้อยละ 6.65 ไม่แน่ใจและไม่ระบุ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ให้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้มีการลงมติปลดนายกรัฐมนตรี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.70 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะหากเห็นว่านายกรัฐมนตรีมีความพกพร่องต่อหน้าที่ไม่สามารถบริหารประเทศได้ก็สามารถเสนอได้ทันที เป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรี ขณะที่ ร้อยละ 31.57 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะดูเป็นการใช้อำนาจมากเกินไปและไม่เป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตย ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาในการตัดสินใจด้วย และ ร้อยละ 6.73 ไม่แน่ใจและไม่ระบุ
ท้ายสุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สามารถเปิดอภิปรายคณะรัฐมนตรีได้ แต่ห้ามลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.77 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้คณะรัฐมนตรีได้ชี้แจงการทำงาน และประชาชนได้ทราบถึงความชัดเจนการทำงานของคณะรัฐมนตรี ว่าเหมาะสมหรือมีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด ขณะที่ ร้อยละ 31.89 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะหากมีการเปิดอภิปรายแล้ว ควรให้มีการลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจได้ด้วย และ ร้อยละ 10.34 ไม่แน่ใจและไม่ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น