xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพลชี้ ปชช.หนุนพรรคการเมืองร่วมเป็นสมาชิก สปช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง "การมีส่วนร่วมใน สปช. ของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 – 5 สิงหาคม 2557 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค
จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4 จากผลการสำรวจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเสนอชื่อสมาชิกของพรรคการเมืองหลักของประเทศ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.00 ระบุว่า ควรเสนอชื่อ เพราะ สมาชิกของพรรคการเมืองมีประสบการณ์ทำงานและทราบถึงปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ควรเข้ามาช่วยกันแก้ไขและปฏิรูปประเทศ
ขณะที่ร้อยละ 40.61 ระบุว่า ไม่ควรเสนอชื่อ เพราะ ไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะหากเข้ามาก็จะเกิดความขัดแย้งกัน สภาปฏิรูปควรมีความเป็นกลาง ควรให้นักวิชาการ หรือผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเข้ามาจะดีกว่า และ ร้อยละ 12.39ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
ท้ายสุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ของแกนนำหรือกลุ่มแนวร่วม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พบว่า ประชาชนร้อยละ 38.13 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม แสดงจุดยืนหรือสิ่งที่ต้องการ ทำให้ได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย และเกิดการโต้แย้งกันจากหลายๆ ฝ่าย จนนำไปสู่แนวทางในการปฏิรูปประเทศ และหากมีโอกาส ทำงานร่วมกัน อาจทำให้เกิดความสามัคคี ปรองดองสมานฉันท์เพิ่มขึ้น
ขณะที่ร้อยละ 52.44 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่ต้องการให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้เข้ามา ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีความขัดแย้งกันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเข้ามาก็ทะเลาะกันอีก ทำให้เกิดความวุ่นวายที่ไม่จบสิ้น และ ร้อยละ 9.43 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น