โพลนิด้าสำรวจความเห็นประชาชนเรื่องคัดเลือก สปช. ส่วนใหญ่ไม่สนใจเสนอตัวเองเป็น สปช. เสียงเชื่อมั่นสรรหาระดับจังหวัดโปร่งใส สูสีกับเสียงที่ไม่เชื่อมั่น
วันนี้ (24 ส.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การคัดเลือกสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-21 สิงหาคม 2557 จากประชาชนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,248 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความสนใจการเสนอชื่อเข้าเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. และความเชื่อมั่นต่อความโปร่งใสของกระบวนการคัดเลือกผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกปฏิรูปแห่งชาติ ในระดับจังหวัด อาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยความน่าจะเป็นแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งภูมิภาคออกเป็น 5 ภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภาคสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.3
จากผลการสำรวจเมื่อถามถึงความสนใจของประชาชนต่อการเสนอชื่อตัวเองเพื่อรับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.12 ระบุว่า ไม่มีความสนใจที่จะเสนอชื่อตัวเองเพื่อรับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขณะที่ร้อยละ 11.14 ระบุว่ายังไม่แน่ใจ มีเพียงร้อยละ 10.26 ที่ระบุว่ามีความสนใจที่จะเสนอชื่อตัวเอง และร้อยละ 0.48 ระบุว่าไม่ระบุ/ไม่มีความคิดเห็น
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อความโปร่งใสในกระบวนการคัดเลือกผู้เข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในระดับจังหวัด พบว่า ประชาชนร้อยละ 21.40 ระบุว่ามีความเชื่อมั่นมากในความโปร่งใส ร้อยละ 30.21 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเชื่อมั่นในความโปร่งใส ร้อยละ 27.96 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นในความโปร่งใส ร้อยละ 12.26 ระบุว่า ไม่มีความเชื่อมั่นเลยในความโปร่งใส และ ร้อยละ 8.17 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 20.03 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 20.11 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 19.95 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 19.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ร้อยละ 20.11 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ร้อยละ 51.76 เป็นเพศชาย และร้อยละ 48.24 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 21.06 มีอายุ 35-39 ปี ร้อยละ 62.62 มีอายุ 40-59 ปี และ ร้อยละ 16.32 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
ตัวอย่างร้อยละ 94.31 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.63 นับถือศาสนาอิสลาม และ ร้อยละ 1.06 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่นๆ ตัวอย่างร้อยละ 13.13 สถานภาพโสด ร้อยละ 84.01 สถานภาพสมรสแล้ว และร้อยละ 2.85 สถานภาพหม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่างร้อยละ 34.13 ระบุว่าจบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.45 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.78 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 22.56 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.09 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 14.68 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.17 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 23.38ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 16.41 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 18.38 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป
และร้อยละ 16.98 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ตัวอย่าง ร้อยละ 11.70 ระบุว่าไม่มีรายได้ ร้อยละ 23.96 มีรายได้ต่อเดือน ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.00 มีรายได้ต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.90 มีรายได้ต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 6.89 มีรายได้ต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 9.38 มีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 12.18 ไม่ระบุรายได้