xs
xsm
sm
md
lg

โพลมั่นใจ “มีชัย” ร่าง รธน.ฉลุย เชื่อมือ21กรธ. ขอเข้าใจง่าย-ไม่ต้องตีความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (18 ต.ค.) "สวนดุสิตโพล" มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,274 คน ระหว่างวันที่ 12-17 ต.ค.ที่ผ่านมา ถึงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน โดยพบว่า สิ่งที่ประชาชนเห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 85.56 เขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความมาก รองลงมาร้อยละ 83.99 ระบุคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นสากล ร้อยละ 82.97 เขียนให้สั้นกระชับแต่ครอบคลุม

** เชื่อมือ “มีชัย” และทีม กรธ.
เมื่อถามสิ่งที่ประชาชน "มั่นใจ/สบายใจ" ในการร่างรัฐธรรมนูญ ณ วันนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 84.22 ระบุ กรธ.ทั้ง 21 คน โดยเฉพาะนายมีชัย ประธาน กรธ.จะช่วยแก้ปัญหาของบ้านเมืองให้ดีขึ้นได้ รองลงมาร้อยละ 70.80 การทำประชามติ เปิดโอกาสและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้น และร้อยละ 63.58 ระบุการร่างรัฐธรรมนูญที่เน้นเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วนสิ่งที่ประชาชน "กังวลใจ/ไม่สบายใจ" ในการร่างรัฐธรรมนูญ ณ วันนี้ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.63 คือ การทะเลาะเบาะแว้ง ความขัดแย้งที่เกิดจากความเห็นที่ไม่ตรงกัน ร้อยละ 75.67 ระบุการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ผ่านการเห็นชอบจากมติที่ประชุม และร้อยละ 71.66 เนื้อหาบางส่วนอาจเขียนขึ้นมาเพื่อปกป้องหรือเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง.

** เชียร์ยัด 12 ค่านิยมฯใส่ รธน.
วันเดียวกัน นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ และประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพล เรื่องประชาชนคิดอย่างไรต่อการร่างรัฐธรรมนูญ การชุมนุมทางการเมือง และประโยชน์ของนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันเปรียบเทียบกับ รัฐบาลนักการเมืองในอดีต โดยศึกษาตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,142 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 15 - 17 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 64.7 เชื่อมั่นต่อความสำเร็จในการร่างรัฐธรรมนูญโดย กรธ.ทั้ง 21 คน และเห็นว่าควรนำนิยมหลัก 12 ประการใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ส่วนสาระสำคัญอื่นๆ ที่ควรมีในรัฐธรรมนูญ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.5 ระบุการรักษาเอกลักษณ์แบบไทย ความเป็นหนึ่งเดียวกัน จงรักภักดีต่อสถาบันหลัก รองลงมา ร้อยละ 91.2 ระบุ การเสริมสร้างกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 89.4 ระบุ การเสริมสร้างความซื่อสัตย์สุจริต ขจัดคนโกงชาติบ้านเมือง

** 91.3% ชี้ม๊อบการเมืองไร้ประโยชน์
เมื่อถามถึงประสบการณ์เคยได้รับประโยชน์จากการชุมนุมทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.3 ไม่เคยได้รับประโยชน์จากการชุมนุมทางการเมืองเลย มีเพียงร้อยละ 8.7 เคยได้รับประโยชน์ โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.6 ระบุ กลุ่มแกนนำผู้ชุมนุม ได้รับประโยชน์มากกว่า มีเพียงร้อยละ 9.4 ที่ระบุประชาชนได้ประโยชน์จากการชุมนุมทางการเมือง ส่วนประโยชน์ด้านนโยบายที่เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ได้ทำสำเร็จมากกว่า รัฐบาลนักการเมืองในอดีต ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.9 ระบุ คุมราคาหวยได้ รองลงมาร้อยละ 54.3 ระบุ จัดระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ ร้อยละ 47.2 ระบุ ช่วยผู้มีรายได้น้อย ซื้อบ้าน แก้ปากท้อง ร้อยละ 45.5 ระบุ ดำเนินคดีกับนักการเมืองที่ทุจริต และร้อยละ 43.2 ระบุจัดระเบียบชายหาด แผงลอยทางเท้า.

** พท.ชู 5 หลักนำ รธน.สู่สากล
ด้าน นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้ยินทั้งผู้มีอำนาจและ กรธ.ระบุว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นสากลนั้น ถ้าทำได้จริงก็จะมีผลดีต่ออนาคตของประเทศ รัฐธรรมนูญที่เป็นสากลต้องเคารพและตั้งอยู่บนอย่างน้อย 5 เสาหลักคือ 1. หลักการประชาธิปไตยที่เคารพการตัดสินใจของคนไทยทั้งประเทศ 2. หลักการเคารพเสรีภาพพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนสากล 3. หลักการถ่วงดุลระหว่างสามอำนาจคือ อำนาจบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ 4. หลักนิติธรรม และ 5. หลักการที่รัฐธรรมนูญอาจแก้ไขได้เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการของประเทศ ดังนั้นถ้าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่สะท้อนหลักการต่างๆข้างต้นไว้ก็น่าจะได้รับการยอมรับและมีความเป็นสากลในระดับหนึ่ง และจะไม่เสียของ โดยเฉพาะเรื่องหลักนิติธรรมหรือ rule of law นั้นเราท่องเป็นคาถากันมานาน จึงต้องทำให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ เพราะหลักนี้ยังไม่หยั่งรากลึกในประเทศไทย ถ้ามีหลักนิติธรรมก็จะเกิดความยุติธรรม เมื่อมีความยุติธรรมก็จะนำสู่ความปรองดอง
"ตัวอย่างของการยึดหลักนิติธรรมในทางปฏิบัตินั้น เช่น การดำเนินคดีต่ออดีตนายกฯยิ่งลักษณ์หรือชาวบ้าน ต้องสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่าผิด ต้องมีสิทธิ์ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ต้องไม่มีการชี้นำสังคม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมต่อทุกคนไม่เลือกปฏิบัติ และต้องใช้กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนปกติเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่ คนไทยสามารถร่วมกันทำให้หลักนิติธรรมเกิดขึ้นได้ และจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย" นายนพดล กล่าว

** “สาธิต” แนะแก้ปมการเมืองก่อน
ขณะที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยระบุว่า เพื่อให้ประเทศไทยของเราพัฒนาขึ้นในทุกด้าน ประชาชนมีความสุขกินดีอยู่ดีและมีงานทำมีรายได้ ต้องจัดลำดับความสำคัญของปัญหา โดยต้องแก้ไขปัญหาเรื่องการเมืองก่อน เมื่อพรรคการเมืองดี สังคมดี เศรษฐกิจก็จะดีตาม ซึ่งขณะนี้สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เดินมานั้นถูกทางแล้ว คือ ใครทำผิดว่าไปตามผิด ใครทำถูกต้องชมเชย และยึดกฎหมายเป็นหลักไม่เลือกปฏิบัติ
“การแก้ไขปัญหาการเมืองที่สำคัญคือ ต้องติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกเสียก่อน ต่อไปก็จะสามารถค่อยๆ แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การเมืองไม่ได้แก้โดยการด่านักการเมือง หรือโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องชี้ให้ประชาชนเห็นว่า พฤติกรรมไหนผิด ชั่ว และไม่ควรอยู่ในแวดวงของตัวแทนประชาชน” นายสาธิต กล่าว

** ชงตีกรอบระบบอุปถัมภ์
นายสาธิต กล่าวด้วยว่า นายมีชัย และ กรธ.ต้องรับบทหนัก ในการสร้างกติกา หากกติกาดี ผู้คุมกติกาทำหน้าที่เข้มแข็งซื้อไม่ได้ กลไกลก็จะเดินต่ออย่างมีประสิทธิภาพ กติกาก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการที่จะควบคุมให้กระดุมเม็ดแรกติดได้ถูกต้อง โดยสิ่งที่นายมีชัยต้องทำโดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ นักการเมืองต้องไม่มีต้นทุนในระบบอุปถัมภ์ ถือว่าเป็นของไม่ดี หรือไขมันของร่างกาย หากเปรียบร่างกายเป็นประชาธิปไตย และต้องกำหนดกฎหมายลูก ห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น ส.ส. ส.ว.ให้หรือเสนอให้ซึ่งสิ่งของหรือทรัพย์สินใดอันมีค่ากับประชาชน กลุ่ม หรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น และห้ามมิให้ประชาชน บุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรใด เรียกรับหรือรับสิ่งของหรือทรัพย์สินใดอันมีค่าจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากผู้ใดฝ่าฝืนต้องได้รับโทษรุนแรงตามสมควร และมีผลทำให้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ซึ่งจะทำให้สังคมหรือประชาชนไม่ต้องพึ่งหวัง หรือคาดหวังผลประโยชน์ในระบบอุปถัมภ์จากนักการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป นักการเมืองก็จะเป็นผู้ที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง เป็นผู้สะท้อนปัญหาจากประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งอาจมีคนไม่เห็นด้วยในแง่ความสัมพันธ์ และประเพณีวัฒนธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับประชาชน แต่เราจำเป็นต้องเลือกเส้นทางที่ต้องแก้ไขปัญหาทางการเมืองให้ได้
“เมื่อนักการเมืองไม่มีต้นทุน ก็จะเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตอาสาจากภาคประชาชนเข้ามาตรวจสอบนักการเมือง และได้คนที่ไม่ต้องรวย ไม่ต้องเป็นทายาทนักการเมืองเดิมๆ เข้ามาสู่วงการการเมือง ทำให้ประชาชนได้มีตัวเลือกมากขึ้น และเกิดการแข่งขันภายในกติกาอย่างเป็นระบบ หากจะปฏิรูปประเทศกันอย่างจริงจัง นายกฯ ประธาน กรธ.และประธานทั้งสองสภา ก็ควรทำหน้าที่สร้างจิตสำนึกของคนในชาติ ให้เข้าใจเรื่องการเมืองที่ถูกต้อง ร่างกติกาให้เป็นธรรม และมีเป้าหมายชัดเจน พร้อมทั้งบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามที่ได้กำหนดใว้อย่างเด็ดขาด" นายสาธิต กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น