ประธาน สปท.เปิดใจสื่อ บอกเป็นทั้งนักฝันและนักปฏิบัติ การปฏิรูปจะทำเท่าที่จะทำได้ แค่ 1 เรื่องสำเร็จก็ถือว่าคุ้ม แต่ถ้าทำไม่ได้อย่าหวังจะมีโอกาสอีก เผยจะไม่ให้สัมภาษณ์พร่ำเพรื่อ ขอพูดเฉพาะสิ่งที่เป็นมติที่ประชุม ชี้ สปท.ไม่มีอำนาจใดๆ ทำได้แค่ศึกษา วิจัย กำหนดมาตรการแต่ละด้านเพื่อส่งให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ยืนยันไม่มีใครสั่งได้
ที่รัฐสภา วันนี้ (16 ต.ค.) มีการประชุมพบปะสื่อมวลชนเป็นครั้งแรกของ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 และ น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานคนที่ 2 โดย ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวถึงวิสัยทัศน์ว่า ตนเป็นผู้ที่ไม่มีวิสัยทัศน์เนื่องจากวิสัยทัศน์เป็นเรื่องของความฝัน ไม่ใช่โลกของความเป็นจริง โดยตนเป็นคนที่อยู่ในโลก 2 โลก คือ นักฝันและนักปฏิบัติ ต้องรู้ว่าสิ่งใดปฏิบัติได้หรือไม่ได้ การปฏิรูปในครั้งนี้ก็ต้องปฏิรูปเท่าที่ทำได้ หากปฏิรูปได้เป็นรูปธรรมเพียง 1 เรื่องก็ถือคุ้มแล้ว แต่หากปฏิรูปได้ 2-10 เรื่องจะยิ่งประเสริฐ แต่ถ้าครั้งนี้ปฏิรูปไม่สำเร็จก็อย่าหวังว่าจะมีโอกาสอีก ทั้งนี้เวลาจะปฏิรูปสิ่งใดควรเริ่มต้นจากการปฏิรูปตนเองเสียก่อน
ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวว่า ตั้งแต่รับหน้าที่เป็นประธาน สปท.จะเห็นว่าตนหลีกเลี่ยงที่จะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เนื่องจากถ้าสัมภาษณ์ทีละรายคงไม่รอด อีกทั้งเมื่อได้รับหน้าที่เป็นประธานอย่างเป็นทางการแล้วตนก็ไม่มีสิทธิ์ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวในการให้สัมภาษณ์ ความเห็นส่วนตัวต้องเก็บที่บ้านซึ่งถือว่าเป็นมารยาท เพราะตนเป็นเสมือนตัวแทนของสมาชิกทั้ง 200 คน การเป็นประธานจะต้องพูดถึงมติของสมาชิก สปท.เท่านั้น ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ชี้นำ ต้องเคารพในความคิดเห็นของสมาชิก ทั้งนี้ไม่เคยคิดว่าการเป็นประธานแล้วต้องเป็นคนที่สำคัญ ตนเป็นคนตัวเล็ก ต้องเข้าใจว่า สปท.เป็นสภาวิชาการ ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจว่าจะทำเรื่องใดบ้าง แต่มีหน้าที่ศึกษา วิจัย ค้นหาข้อมูลแต่ละด้าน และกำหนดแผนมาตรการเพื่อมอบให้แก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าเห็นด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ สปท.เป็นเหมือนที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีในการช่วยเหลือการปฏิรูปประเทศ
ประธาน สปท.กล่าวว่า ขณะนี้มีการศึกษาการปฏิรูปที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ทำไว้ทั้ง 37 วาระ สมาชิก สปท.จะได้รับแจกพิมพ์เขียวของ สปช.เพื่อนำไปพิจารณาว่าจะนำเรื่องใดมาปฏิรูปก่อนหลัง โดยในวันที่ 19-20 นี้จะมีการนัดประชุมเพื่อเริ่มการทำงาน ศึกษาพิมพ์เขียว ิสปช.และตัดสินใจว่าจะขับเคลื่อนเรื่องใดไปในทิศทางไหน อาจจะเสนอให้จัดทำเป็น พ.ร.บ.ก็ได้ ทั้งนี้สื่อต้องเข้าใจว่าผู้มีอำนาจก็ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินเท่าที่ควร เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการที่ไม่สามารถตัดสินใจได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะปฏิรูปเรื่องใดเป็นเรื่องแรก ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวว่า 1. ประธานไม่สามารถแสดงความคิดเห็นส่วนตัวได้และยังไม่เห็นเนื้องาน 2. สมาชิกยังไม่ลงมติ ต้องประชุมเพื่อจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่จะปฏิรูปกับสมาชิกสปท.ก่อน ซึ่งทุกเรื่องจะต้องนำให้กรรมาธิการทั้ง 11 ด้านศึกษา ตนไม่คาดหวังให้มีผลงานเลิศ ทั้งนี้ สปท.ต้องการพบสื่อทุกๆ 1 เดือนเพื่อมาพูดคุยเกี่ยวกับการทำงานของ สปท.
เมื่อถามว่า สปท.จะมีส่วนร่วมในการปรองดองอย่างไร ประธาน สปท.กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหน้าที่หลักในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ และแม่น้ำทั้ง 5 สายก็ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาตามความสำคัญของแต่ละองค์กร อย่างไรก็ดีการปรองดองเป็นเรื่องที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแก้ปัญหาไม่ได้ จึงเป็นโอกาสทองของรัฐบาลปัจจุบันที่จะทำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำงานของ สปท.สามารถสั่งได้หรือไม่ ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวว่า ตนมีอาชีพเป็นนักวิชาการเต็มตัว ไม่มีใครสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ตนมีจุดยืนไม่มีใครสั่งได้
ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรมจะเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดองหรือไม่นั้น ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวว่า ไม่ทราบเพราะตนหายจากการเมืองไป 30 ปี เนื่องจากติดตามแล้วเครียดมาก ส่วนเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้ศึกษามาโดยตลอด ทำวิจัยมา 3 เรื่อง เมื่อถามว่าอะไรทำให้ต้องมาเกี่ยวข้องกับการเมืองอีก ร.อ.ทินพันธุ์กล่าวว่า ตนเป็นคนมีเกียรติ แต่เห็นอย่างนี้ชีวิตส่วนตัวยากจน บางวันไม่มีเงินซื้อขนมกลางวันกิน แต่มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีอุดมการณ์ แต่ถ้าต้องการให้กลับมารับใช้บ้านเมืองก็ต้องกลับมา