รายงานการเมือง
เข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่สอง ในการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาถึงตอนนี้ กรธ. มีการตั้งคณะอนุกรรมการอย่างเป็นทางการแล้ว รวม 5 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ, คณะอนุกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายนิติบัญญัติ, คณะกรรมการศึกษาโครงสร้างฝ่ายบริหาร, คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และสำรวจความเห็นประชาชน และ คณะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ
นอกจากนี้ ก็มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาอีก 2 ชุด คือ 1. คณะทำงานศึกษาด้านการปฏิรูป และ 2. คณะทำงานศึกษาด้านการสร้างความปรองดอง โดยในส่วนของคณะทำงานด้านการปฏิรูป พบว่า ส่วนใหญ่มาจากนักวิชาการ และเป็นอดีต สปช. นางจุรี วิจิตรวาทการ - ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ขณะที่คณะทำงานเรื่องการสร้างความปรองดอง ก็มีเช่น อมร วาณิชวิวัฒน์, พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช, พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ, พล.ต.วิระ โรจนวาศ เป็นต้น
โดย กรธ. จะเริ่มรับฟังความเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ ในการเขียนร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่สัปดาห์นี้ ตามคิวที่วางไว้ก็มี 13 ต.ค. ประเดิมด้วย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) วันที่ 14 ต.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และวันที่ 15 ต.ค. เป็นคิวคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และก็จะมีการทำหนังสือให้ภาคเอกชน และกลุ่มวิชาชีพจัดทำความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญมาให้คณะ กรธ. ที่ กรธ. ก็จะนำความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ มาพิจารณาพร้อมกับความเห็นจากพรรคการเมือง - รัฐบาล - คสช.- สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
นั่นคือความคืบหน้าตามลำดับของการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้ กรธ. จะต้องยกร่างทั้งฉบับ แต่ดูแล้ว ก็คงยึดตามร่างของ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่แล้ว เป็นโครงหลัก แล้วปรับแก้บางส่วน เนื่องจากมีระยะเวลาในการพิจารณาไม่เกิน 180 วัน โดยหักวันหยุดราชการต่าง ๆ ก็มีแค่ไม่เกิน 120 วัน เท่านั้น
ประเด็นที่น่าติดตามในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็คือ ต้องติดตามดูว่าสุดท้าย กรธ. จะเอาอย่างไรกับเรื่องสำคัญ ๆ ในร่าง รธน. ที่จะเป็นตัวชี้ขาดว่าร่าง รธน. ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ จะ “ผ่าน - ไม่ผ่าน ประชามติ”
ที่ก็คือเรื่องหลัก ๆ ดังนี้ ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ที่ต้องดูว่า กรธ. จะเอาระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วนผสมแบบที่เยอรมันใช้ มาเขียนไว้ในร่าง รธน. อีกครั้งหรือไม่ - ที่มานายกฯ ก็ต้องจับตาดูว่า กรธ. จะเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจาก ส.ส. ตามรอยร่างของ กมธ. ยกร่างชุดที่แล้ว หรือไม่อย่างไร - เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา -โครงสร้างอำนาจขององค์กรอิสระ โดยเฉพาะองค์กรที่ดูแล้วอาจมีการถูกปรับรื้อพอสมควร นั่นก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง - การจะให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง หรือ คปป. โดยให้อำนาจพิเศษกับ คปป. แบบรัฐซ้อนรัฐ หรือไม่ ที่กลายเป็นจุดอ่อนสำคัญของร่างชุด ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านร่าง รธน. ขึ้นมา
ส่วนประเด็นปลีกย่อย เช่น เรื่องปฏิรูปอะไรต่าง ๆ เชื่อว่า ระดับ มีชัย ฤชุพันธุ์ นำทัพ คงไม่ลงรายละเอียดมากชนิดเอาทุกรายละเอียดปลีกย่อย มาเขียนไว้ในร่าง รธน. เหมือนชุด ดร.บวรศักดิ์ หากจะมีเรื่องพวกปฏิรูป - ปรองดอง ทาง กรธ. ก็คงเขียนกว้าง ๆ เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติได้จริงในเรื่องที่ควรปฏิรูป แล้วรายละเอียดก็ให้นำไปสู่ไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อไป
นั่นคือความเคลื่อนไหวของ “กรธ.” แต่สำหรับอีกหนึ่งแม่น้ำสายสำคัญของ คสช. ที่เกิดมาพร้อมกับ กรธ. คือ “สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ” (สปท.)
สัปดาห์นี้ก็จะได้ ผู้นำกันเสียที เพราะจะมีการประชุม สปท. นัดแรก 13 ต.ค. นี้ เพื่อเลือกประธาน - รองประธาน สปท. ข่าวจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ พบว่า จากเดิมที่มีชื่อ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานป.ป.ช. เป็นตัวเต็ง มาถึงตอนนี้ พบว่า กระแสเริ่มตก และตกเป็นรอง ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร วัย 81 ปี ค่อนข้างมาก เพราะพบว่ามีการส่งสัญญาณไปยังสมาชิก สปท. กันแล้วว่า ให้เลือก ร.อ.ทินพันธุ์ เป็นประธาน สปท. โดยมีการอ้างถึงคำสั่งผู้ใหญ่ใน คสช. ว่าส่งสัญญาณมา
ส่งผลให้พวก สปท. ที่เป็นสายอดีต สปช. ที่ลงมติ รับร่าง รธน. ฉบับ ดร.บวรศักดิ์ ที่กลับเข้ามาเป็น สปท. ประมาณ 20 คน รวมถึง สปท. สายวิชาการ ภาคประชาสังคม อีกบางส่วน ที่เคยมีแนวคิดจะสนับสนุน ปานเทพ เริ่มถอยแล้ว เพราะท่าทีของ ร.อ.ทินพันธุ์ ก็บอกว่า หากได้รับเลือกก็พร้อมทำหน้าที่ เลยทำให้จนถึงช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชื่อของ ร.อ.ทินพันธุ์ ยังแรงไม่มีตก แม้อาจจะมี สปท. บางคนเสนอตัวออกมาเลยว่าพร้อมจะเป็นประธาน แต่ดูแล้ว หากสัญญาณจาก คสช. ชัดขึ้นเท่าใด ในช่วง 12 - 13 ต.ค. พวกที่อยากเป็นประธาน สปท. แต่ไม่มีแรงหนุนจาก คสช. ก็คงหลบกันหมด
ส่วนเก้าอี้รองประธาน สปท. พบว่า เริ่มมีกระแสข่าวมีคนรอเบียดกันบ้างแล้ว จากเดิมที่มีข่าวว่า คสช. วางตัว พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ สปท. เป็นรองประธาน สปท. คนที่ 1 และ น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ อดีตผู้บริหารสำนักงบประมาณ เป็นรองประธาน สปท. คนที่ 2
โดยมีการอ้างกันในหมู่ สปท. บางส่วน ที่ส่งสัญญาณให้เลือกทั้ง ร.อ.ทินพันธุ์ - พล.อ.จิระ - วลัยรัตน์ ว่า ทั้ง 3 คน มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ที่เป็นคนทำโผ สปท. ส่งไปให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อมีสัญญาณออกมาแบบนี้ เลยทำให้ สปท. จำนวนมาก เกรงใจ ไม่มีใครกล้าคิดลงมติแหกโผ
อย่างไรก็ตาม เริ่มมี สปท. บางคนเห็นว่า การที่จะดัน ร.อ.ทินพันธุ์ เป็นประธาน สปท. ทั้งที่ โดยชื่อเสียงแล้วตกเป็นรอง “ปานเทพ - ประธาน ป.ป.ช.” ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนรองประธาน ก็ควรให้ สปท. ได้เลือกกันเองบ้าง ไม่ใช่เลือกตามที่ คสช. ต้องการทั้งหมด ต้องทำตามสัญญาณจาก บิ๊กป้อม ทุกเรื่อง ไม่อย่างนั้น ภาพจะออกมาไม่ดี กลายเป็นว่าสภาขับเคลื่อนฯ ยังไม่ทันเริ่มทำงาน ก็โดนคสช. ครอบงำไว้หมดแล้ว
แม้กระแสนี้จะเป็นแค่ความรู้สึกของ สปท. บางคน ที่หลายคนมองว่า บ่นกันไปก็เท่านั้น เพราะสุดท้ายก็ต้องแล้วแต่ คสช. แต่ก็ทำให้เริ่มมีข่าวว่า อาจมี สปท. บางคน คิดอยากลงชิงเก้าอี้รองประธาน สปท. เช่นกัน เลยมีข่าวว่า อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ - อดีตเลขานุการวิป สปช. อาจจะลงชิงเก้าอี้รองประธาน คนที่ 1 สู้กับ พล.อ.จิระ แต่ตามข่าวก็พบว่า เจ้าตัวก็ยังไม่กล้าพูดชัดว่าจะเอาอย่างไร อาจเพราะรู้ดีว่าหากไม่มีเสียงหนุนมากพอ หากไปลงชิงกับคนของ คสช. ส่งมา สุดท้ายก็แพ้โหวตอยู่ดี
หากสุดท้าย สปท. ลงมติเลือก ร.อ.ทินพันธุ์ เป็นประธาน สปท. และ พล.อ.จิระ กับ วลัยรัตน์ ศรีอรุณ เป็นรองประธานคนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ตามโผที่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มันก็คือการเริ่มต้นของสภาขับเคลื่อนฯ ที่แสดงให้เห็นว่า สภาขับเคลื่อนฯที่เกิดจาก คสช. ก็คือ เครื่องมือทางการเมืองของคสช. ชนิดที่สมาชิก สปท. ปฏิเสธความจริงข้อนี้ไม่ได้
ส่วน สปท. จะเป็นเครื่องมือให้ คสช. ไปทำเรื่องอะไรบ้างนั้น ผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป