xs
xsm
sm
md
lg

1+1+18สูตรทำงาน สปท. จ่อตั้ง คกก.ปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงสูตรการทำงานของ สปท. 1+1+18 ภายใต้การทำงาน 20 เดือน ว่า ระยะแรก 1 เดือนนับจากวันที่ 19 ต.ค.เป็นต้นไป คือการยกร่างกลไก ทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุม และตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน ซึ่งจะใช้เวลา 1 เดือน โดยในวันที่ 20 ต.ค.นี้ เวลา 09.00 น. จะเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะการสร้างความปรองดอง ซึ่งคาดว่าจะนำข้อสรุปเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมแม่น้ำ 5 สายในวันที่ 28 ต.ค.นี้ตามแนวทางที่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เคยดำเนินการมา นอกจากนี้ ในวันที่ 20 ต.ค. จะมีการเปิดศูนย์สื่อสาร สปท. ที่รัฐสภา เพื่อเปิดช่องทางให้ประชาชนได้ส่งวิธีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ส่วนระยะที่ 2 สปท.จะใช้เวลา 1 เดือน กลั่นกรอง 37 วาระการปฏิรูป และ 8 วาระการพัฒนา ของ สปช. เพื่อจัดลำดับความสำคัญ ก่อนจะใช้เวลา 18 เดือน ดำเนินการสรุปวิธีการปฏิรูปทั้งหมดส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ขณะที่การร่างกฎหมายก็จะส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

** ตั้ง คกก.ปรองดองสานต่อ สปช.
สำหรับแนวทางการสร้างความปรองดองนั้น นายอลงกรณ์กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับข้อบังคับการประชุมที่จะร่างขึ้น และนโยบายของ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. แต่จากการหารือร่วมกันระหว่างประธาน และรองประธาน เห็นว่าประเด็นดังกล่าวมีความสำคัญและมีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสร้างความปรองดอง สานต่อแนวทางของคณะกรรมการชุดของนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีตประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ของ สปช.ที่ได้ทำไว้
นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมบรรยากาศการประชุม สปท.ได้ แม้ว่าส่วนประกอบของ สปท.จะมีทั้งพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองคู่ขัดแย้งร่วมด้วย โดยจะทำให้ สปท.เป็นสัญลักษณ์ และจุดเริ่มต้นของการปรองดอง ทั้งนี้ยอมรับว่าอาจเป็นเรื่องลำบาก ที่จะประสานแนวคิดทุกกลุ่มให้เป็นเอกภาพ แต่ยังมั่นใจว่าทุกฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยนอกรอบระหว่างสมาชิกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สปท.จะไม่มีการจัดสรรโควตาในตำแหน่งประธานและรองประธานแต่ละคณะกรรมาธิการอย่างเด็ดขาด เพราะทุกตำแหน่งจะมีคณะกรรมการกลั่นกรองบุคคลที่เหมาะสมเข้าทำหน้าที่ ซึ่งจะไม่เหมือนกับสภาการเมือง ดังนั้นขอให้ลืมรูปแบบเดิมเรื่องการจับจองโควต้าในอดีต

** จี้ คสช.เอาจริงปฏิรูป-อย่าเสียเวลาอีก
ด้าน นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ส่วนตัวต้องการให้การประชุมแม่น้ำ 5 สายในวันที่ 28 ต.ค.นี้กระชับทิศทางและเนื้อหาของการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นว่าจะปฏิรูปเรื่องใดก่อนหรือหลัง ต้องจัดลำดับความสำคัญไม่ต้องทำทุกเรื่องพร้อมกัน เพราะการปฏิรูปมีส่วนทั้งที่เป็นงานร้อนและงานเย็น บางเรื่องต้องรอกฎหมาย รอรัฐธรรมนูญ แต่บางเรื่องก็ทำได้โดยฝ่ายบริหารหรือ มติ ครม. เพราะที่ผ่านมา เราเห็นแต่สูตรของการทำงานไม่ว่าจะเป็น 6+4 6+4 ของ คสช.หรือล่าสุดสูตร 1+1+18 ของ สปท. ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นกรอบเวลาในการทำงาน แต่ยังไม่เห็นประเด็นหรือเรื่องที่จะปฏิรูปว่าแม่น้ำทั้ง 5 สายจะตกผลึกร่วมกันที่เรื่องใดก่อน เพราะถ้าไม่ตกผลึกไม่จัดลำดับความสำคัญร่วมกันก็จะโยนกันไปกันมา นับหนึ่งไม่ได้เสียทีและสุดท้ายก็ได้แค่รัฐธรรมนูญ แล้วปล่อยให้รัฐบาลหน้ามาเป็นคนปฏิรูปซึ่งก็คาดหวังได้ยาก แต่ยังดีที่ในขณะนี้มีพิมพ์เขียวปฏิรูป 37 วาระที่ สปช.ได้ส่งมอบให้ คสช.กับ ครม.ไว้ก่อนยุติบทบาท ก็เท่ากับว่าแม่น้ำทั้ง 5 สายไม่ต้องไปเสียเวลานับหนึ่งศึกษากันใหม่ สามารถสังเคราะห์ต่อยอดและลงมือทำให้เห็นผลในทางปฏิบัติได้เลย ถึงตอนนี้ คสช.จะผลักภาระปฏิรูปไปอยู่ในมือ สปท.หรือ กรธ.เหมือนช่วงที่ผ่านมาไม่ได้แล้ว เพราะใครๆ ก็รู้ดีว่าอำนาจนำในการกำหนดทิศทางและเนื้อหาปฏิรูปยังอยู่ในมือ คสช.
“คสช.ในฐานะที่เป็นแม่น้ำสายหลักต้องประกาศทิศทางและโรดแมปการปฏิรูปให้ชัดกว่าที่ผ่านมา ไม่เช่นนั้นก็จะมีปัญหาเดิมๆที่แต่ละสายมีเป้าหมายต่างกันแต่ไม่เปิดใจไม่คุยกันแบบตรงไปตรงมา จนทำให้เสียเวลาไปกว่าปี” นายสุริยะใส กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น