รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต แนะประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นัดแรกอังคารนี้ อย่าเพิ่งเลือกประธาน ชี้่ ควรสัมมนาละลายพฤติกรรมกันก่อน ระบุไม่ควรตั้งกรรมาธิการให้มากมาย เสนอ 5 กรอบทำงาน สร้างกลไกหนุน กรธ., ตั้ง กมธ. สังเคราะห์พิมพ์เขียว 37 ประเด็น 6 วาระพัฒนา เลือกตั้ง กมธ. ศึกษาเฉพาะเรื่องด่วน, ทบทวนกฎหมายโบราณไม่สอดคล้องยุค, มีกลไกรับเรื่องร้องทุกข์จากการบริหารของรัฐบาล
วันนี้ (11 ต.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าวว่า ตนเห็นว่า การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) นัดแรกในวันที่ 13 ตุลาคมนี้ ยังไม่ควรเลือกประธานและรองประธาน ควรจัดสัมมนาภายในเพื่อแลกเปลี่ยนแนะนำตัวกัน หรือการละลายพฤติกรรมในหมู่สมาชิกก่อน และในส่วนโครงสร้างการทำงานของ สปท. นั้น ไม่จำเป็นต้องไปตั้งกรรมาธิการขึ้นมามากมาย หรือไปนับหนึ่งใหม่ทุกเรื่อง หลายเรื่องสามารถต่อยอดจากข้อเสนอของ สปช. ได้เลย โดยตนขอเสนอกรอบการทำงาน สปท. 5 กรอบ ดังนี้ กรอบแรก สร้างกลไกทำงานหนุนเสริมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดย สปท. อาจตั้งกรรมาธิการทำหน้าที่รับฟังความเห็นจากประชาชน และนำมาประมวลเพื่อเสนอแนะต่อ กรธ. โดยตรง
นายสุริยะใส กล่าวว่า กรอบสอง ตั้งกรรมาธิการสังเคราะห์พิมพ์เขียว 37 ประเด็น และ 6 วาระการพัฒนาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ที่เสนอต่อ คสช. ก่อนหน้านี้ ไปแล้วโดยจัดกลุ่มข้อเสนอแนะที่เป็นเรื่องเร่งด่วนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อเสนอต่อ คสช. ครม. และ สนช. ให้ดำเนินการได้เลยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญ กรอบสาม ไม่ควรตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาทุกเรื่องเหมือนที่ สปช. เคยทำโดยเลือกเอาเฉพาะประเด็นสำคัญเร่งด่วน เช่น การปราบปรามการทุจริต การปฏิรูปตำรวจ หรือการบังคับใช้กฎหมาย การปฏิรูประบบราชการ การจัดการทรัพยากร การปรองดอง
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า กรอบสี่ ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาทบทวนบรรดากฎหมายเก่า ๆ ที่บังคับใช้มาหลายสิบปี และไม่สอดคล้องกับยุคสมัย และเสนอแนะให้ สนช. ปรับปรุงแก้ไขต่อไป รวมทั้งการทำความเห็นต่อการตรากฎหมายลูกและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะออกตามรัฐธรรมนูญใหม่ และกรอบห้า มีกลไกรับเรื่องราวร้องทุกข์จากปัญหาของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาล โดยอาจทำงานเชื่อมประสานกับศูนย์ดำรงธรรมหรือส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว