xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.ตั้ง “สุพจน์-อภิชาต” รองประธาน คาดปีใหม่พิมพ์เขียวเกือบเสร็จ - “ภัทระ” ลาออก ปธ.สภาการ นสพ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุพจน์ ไขมุกด์
ที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนัดแรก ตั้ง “มีชัย” เป็นประธาน “สุพจน์-อภิชาต” เป็นรองฯ แจงมีเวลาทำพิมพ์เขียวใหม่ 120 วัน เบื้องต้นประชุมจันทร์-ศุกร์ ใกล้จะงวดค่อยเพิ่มเสาร์-อาทิตย์ คาด 1 ม.ค. 59 เกือบเสร็จ เน้นยึดตามกรอบ “มีชัย” แจงห้ามสื่อฟังขอเวลาทำงาน 2-3 สัปดาห์แรก จากนั้นค่อยว่ากันอีกที ด้านสภาการหนังสือพิมพ์ฯ “ภัทระ” ลาออกแล้ว เตรียมสรรหาตำแหน่งที่ว่างแทน



วันนี้ (6 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงผลการประชุมนัดแรกว่า ที่ประชุมได้มีมติเลือกนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานคนที่ 1, นายอภิชาต สุขคานนท์ เป็นรองประธานคนที่ 2, นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการคนที่ 1, นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง เลขานุการคนที่ 2, นายอมร และนายนรชิต สิงหเสนี เป็นโฆษก และได้มีการวางกรอบการทำงาน โดยจะมีการประชุมทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 13.30 น. ซึ่งคำนวณแล้ว กรธ.มีเวลาทำงานจริงๆ ประมาณ 120 วัน ค่อนข้างจำกัด แต่เมื่อใกล้ถึงเวลาที่งวดขึ้นอาจจะเพิ่มวันประชุมวันเสาร์และวันอาทิตย์ด้วยเพื่อให้เสร็จภายในกรอบเวลาที่กำหนด คาดว่าร่างแรกจะเสร็จเกือบสมบูรณ์ในวันที่ 1 ม.ค. 2559 และการทำงาน กรธ.จะสิ้นสุดในเดือนเมษายน

นายอมรกล่าวว่า ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญ กรธ.จะรับฟังความเห็นของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประชาชน เพื่อเผยแพร่ไปยังสาธารณะและพรรคการเมืองต่างๆ เปิดโอกาสให้แสดงความเห็นในการแก้ไขเพิ่มเติมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการของประชาชนทุกภาคส่วน โดยเห็นว่ารัฐธรรมนูญควรเขียนในหลักการที่สำคัญ และสามารถแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองได้ นอกจากนี้ ที่ประชุม กรธ. ยังมีความเห็นตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุด คือ อนุกรรมการรับฟังความเห็นของประชาชน และอนุกรรมการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ได้ข้อยุติแล้ว โดยจะเชิญนักวิชาการด้านสถิติเข้ามาร่วมทำการสำรวจรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นระยะ

ทั้งนี้ ในการประชุมได้มีกรรมการหารือถึงการเปิดให้สื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์ติดตามความคืบหน้า แต่ประธานได้ดำริเบื้องต้นว่าขอให้ กรธ.ได้ทำงานไปก่อนประมาณ 2-3 สัปดาห์แรก แต่หลังจากนั้นจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังได้หรือไม่ แต่ยืนยันว่าไม่เป็นการปิดกั้น รวมถึงการออกมาให้ความเห็นภายนอกของ กรธ. ประธานอนุญาตให้กระทำได้ แต่ไม่ควรเอาเรื่องภายใน เช่น การลงมติเสียงข้างมาก-ข้างน้อยมาเปิดเผย เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ได้ปิดกั้นสิทธิส่วนบุคคล ส่วนข้อมูลที่ยุติในที่ประชุมแล้วให้เป็นหน้าที่ของโฆษกเท่านั้น

“ที่ประชุมเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ สปช.ลงมติไม่เห็นชอบยังมีสาระสำคัญที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการนำมาใช้ร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ แต่ยังไม่มีการลงลายละเอียดว่าจะหยิบยกประเด็นใดมาพิจารณาบ้าง และยังไม่ตัดสินใจว่าจะนำโครงรัฐธรรมนูญในอดีตฉบับใดบ้างขึ้นมาเป็นหลัก แต่จะยึดตามกรอบที่นายมีชัยได้ให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้” นายอมรกล่าว

อีกด้านหนึ่งที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ถนนสามเสน นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โดยในหนังสือลาออกระบุว่า เนื่องจากได้ตอบรับเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าเป็นงานที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อวิชาชีพและองค์กรสื่อมวลชน แต่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะเป็นการขัดแย้งต่อผลประโยชน์ เพราะต้องมีการเขียนบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องสื่อในรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวและป้องกันผลกระทบต่อองค์กร จึงขอลาออกจากตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ตั้งแต่วันนี้ (6 ต.ค.) เป็นต้นไป โดยได้ขอบคุณกรรมการทุกท่านและสมาชิกทั้งหมด ที่ได้สนับสนุนและเสียสละทำงานร่วมกันมาโดยตลอด

นายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า นายภัทระเป็นกรรมการประเภท 1 (เจ้าของ หรือผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการ) จึงต้องเลือกกรรมการเพื่อมาทดแทนตำแหน่งที่ว่างในกรรมการประเภท 1 เช่นกัน โดยสภาการหนังสือพิมพ์ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอย่างน้อย 3 คน หรือไม่เกิน 5 คน และส่งหนังสือแจ้งองค์กรสมาชิกให้ทราบทั้งนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในวันที่ 20 ต.ค.นี้ และจะดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ต่อไป


อภิชาต สุขคานนท์ (ภาพจากแฟ้ม)
ภัทระ คำพิทักษ์ (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น