หัวหน้าพรรคคนไทยค้านตั้ง ขรก.-อดีต ขรก.เป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ ระบุไม่ต่างจากการใช้กลไกราชการปกติในการขับเคลื่อนการปฏิรูป ผลาญงบฯ โดยใช่เหตุ พร้อมแนะ “บิ๊กตู่” ให้ฝ่ายการเมืองเสนอชื่อคนร่างรัฐธรรมนูญ ห่วงตั้งคนหน้าเดิมจะล้มเหลวอีก
นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีการให้กระทรวงและหน่วยราชการต่างๆ เสนอชื่อผู้แทนเข้าร่วมการสรรหาว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการที่ให้หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้เสนอชื่อ สปท. เพราะจะจำกัดวงอยู่กับข้าราชการประจำ หรือข้าราชการเกษียณบางส่วน ขัดต่อวัตถุประสงค์ของ สปท.ที่ต้องมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูป ซึ่งต้องการความหลากหลายในการเสนอผลักดันแง่มุมปฏิรูปด้านต่างๆ มากกว่าบุคคลที่เข้ามาสนองนโยบายรัฐบาล หรือทำตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมไปถึงอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่หมดวาระไปแล้ว ซึ่งถือว่าภารกิจเสร็จสิ้นหลังจากส่งมอบพิมพ์เขียวการปฏิรูป 37 ประเด็น และ 6 วาระพัฒนาให้แก่นายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว ยิ่งภาพรวมการทำงานของ สปช.ถูกมองว่าล้มเหลวและสิ้นเปลืองมาก จึงไม่ควรที่จะเรียกร้องอะไรอีก ตามกระแสข่าวที่ว่ามีการวิ่งเต้นตำแหน่ง หรือหวังว่าจะมีการตอบแทนผลงานที่โหวตไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา
“ถ้าให้ข้าราชการประจำมาเป็น สปท.ก็ไม่แตกต่างจากการใช้กลไกราชการปกติในการขับเคลื่อนการปฏิรูป จึงไม่จำเป็นต้องตั้ง สปท.ให้สิ้นเปลืองงบประมาณแต่อย่างใด แต่หากเป็นข้าราชการเกษียณ ก็จะเป็นคนกลุ่มเดิมๆ ที่อยู่หรือมีส่วนในวังวนความขัดแย้งดังเช่นที่ผ่านมา และก็จะถูกตั้งสมญานามว่า สภาเกษียณ ที่ตั้งขึ้นสำหรับรองรับพรรคพวกของตัวเองที่เกษียณมานั่งฆ่าเวลาเท่านั้น ขณะที่อดีต สปช.ก็ควรที่พอใจในบทบาทหน้าที่ที่สิ้นสุดไปแล้ว มิเช่นนั้นจะถูกกล่าวหาว่าเสพติดอำนาจได้”
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ระบุว่าจะไม่ตั้งนักการเมืองร่วมเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพราะเกรงว่าจะไม่ทั่วถึง เนื่องจากมีพรรคการเมืองในระบบถึง 77 พรรค นายอุเทนกล่าวว่า ส่วนตัวเข้าใจในข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่ไม่ห้ามสมาชิกพรรคการเมืองเข้าร่วมเป็น กรธ. แต่ก็ควรที่จะรับฟังฝ่ายการเมืองในการเสนอตัวบุคคลด้วย ซึ่งอาจจะมีตัวแทนที่ไม่ติดข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยเลือกเอาเฉพาะ 2 พรรคการเมืองใหญ่ รวมทั้งกลุ่มการเมืองที่สำคัญในฐานะคู่ขัดแย้งโดยตรง ไม่ควรตั้งแง่ว่าจะไม่รับฟังเช่นนี้ และไปเลือกแต่งตั้งแต่คนจากกลุ่มเดิมๆ ที่ก้าวไม่ข้ามนายทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเพียงอย่างเดียว เพราะเคยเกิดความล้มเหลวของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดเก่าให้เห็นแล้ว