หัวหน้าพรรคคนไทยแปลกใจแนวคิด คสช.เชิญฝ่ายการเมืองจ้อปฏิรูปผ่านสื่อ ชี้ไม่เห็นประโยชน์ เหตุที่ผ่านมาแสดงความเห็น รัฐบาลก็ไม่ตอบรับ รับหวั่นเพิ่มความขัดแย้ง ท้ายสุดมีแต่สร้างภาพ เชื่อ คสช.ไม่มั่นใจสถานการณ์ จึงเปิดช่องแสดงออกไม่ให้ตึงเครียด ย้อนห่วงกระแสสังคมมากยิ่งเสื่อม แนะยึดหลัก กม.รับฟังความเห็น ขอ “ประยุทธ์” อย่าเกรงใจคนรอบตัวมากไป ให้ใช้คนมีความสามารถจริง เสนอใช้ ม.44 เร่งคดีคืนความสงบ
วันนี้ (12 ก.ค.) นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่ารัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) จะเชิญฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงอดีตรัฐมนตรีหลายรายไปร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านรายการโทรทัศน์เพื่อเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศว่า รู้สึกแปลกใจกับแนวทางของ คสช. เพราะไม่เห็นว่าการนำฝ่ายการเมือง หรือคู่ขัดแย้งมาแสดงความคิดเห็นออกทีวีร่วมกันจะได้ประโยชน์อย่างไร เพราะที่ผ่านมาเวลาฝ่ายการเมืองแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ก็ไม่มีการตอบรับจากรัฐบาล แต่กลับมีการเชิญไปปรับทัศนคติมากกว่าที่จะรับลูกไปดำเนินการต่อ ส่วนตัวอยากให้ทั้ง คสช.และ ศปป.ระมัดระวังในแนวทางดังกล่าว เพราะเกรงว่า จะเป็นการเพิ่มความสับสน และเพิ่มประเด็นความขัดแย้งให้สังคมมากกว่า
“การนำฝ่ายการเมืองสองขั้วไปออกทีวี ไม่ว่าจะพร้อมกันหรือต่างคนต่างออก เชื่อว่าจะเป็นการเขี่ยเชื้อความขัดแย้งให้ปะทุขึ้นมาอีกมากกว่าที่จะสร้างภาพว่า คู่ขัดแย้งสมานฉันท์ปรองดองกันแล้ว ไม่ต่างจากงานวัดที่นำวงดนตรีสองวงมาประชันกัน สุดท้ายก็มีเรื่อง ยากที่ได้อะไรเป็นรูปธรรม นอกจากการสร้างภาพ สร้างวาทกรรม” นายอุเทนกล่าว
นายอุเทนกล่าวอีกว่า สาเหตุที่มีแนวความคิดในการให้ฝ่ายการเมืองแสดงความคิดเห็นทางโทรทัศน์นั้นก็น่าจะมาจากการที่ คสช.ไม่มั่นใจในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะบรรดากลุ่มต่อต้านทั้งหลาย ดังนั้นจึงคิดว่าหากเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองได้มีเวทีแสดงความคิดเห็นบ้าง น่าจะผ่อนคลายสถานการณ์ไม่ให้ตึงเครียดมากนัก ทั้งที่ในความเป็นจริง คสช.โดยรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ด้วยวิธีง่ายๆ โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาดและเป็นธรรม ซึ่งหมายถึงกฎหมายที่มีอยู่เดิมทั้งทางแพ่งและอาญา ไม่ใช่เพียงมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือกระทั่งกฎอัยการศึกที่ยกเลิกไปแล้ว หากใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมจริงๆแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไปกลั่นแกล้งใคร แต่ในทางกลับกันหากใช้ดุลพินิจเป็นกรณีๆ เพราะห่วงในเรื่องกระแสสังคมจะทำให้รัฐบาล และ คสช.ยิ่งเสื่อมมากขึ้น แม้ส่วนตัวจะยังเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.มีเจตนาดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง แต่การไม่ยึดหลักกฎหมาย หรือไม่รับฟังความเห็นของคนอื่น ก็จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
“ประชาชนยังเชื่อใจและศรัทธาในตัว พล.อ.ประยุทธ์ว่าคิดดีทำดีกับบ้านเมือง เพียงต้องไม่เกรงใจและรับฟังคนรอบตัวมากเกินไป เพราะหลายๆเรื่องที่มีการตัดสินใจผิดพลาดก็น่าจะมาจากคนรอบข้าง พล.อ.ประยุทธ์ต้องก้าวให้พ้นบรรดาที่ปรึกษาหรือทีมงานเหล่านั้น และเลือกใช้ใช้องคาพยพที่มีคุณภาพ หรือคนนอกที่มีความสามารถจริงๆ ที่สำคัญขอฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ด้วยความเป็นห่วงว่า ต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ด้วยความกล้าหาญและเด็ดขาดมากกว่าเดิมเพื่อควบคุมสถานการณ์ และขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางที่วางไว้” นายอุเทนระบุ
นายอุเทนกล่าวด้วยว่า อยากจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการเพิ่มบทลงโทษ และเร่งรัดคดีที่เกี่ยวกับความสงบสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการลักวิ่งชิงปล้น ข่มขู่คุกคาม ข่มขืน หรือทำร้ายร่างกายจนถึงชีวิต เพราะปัจจุบันคดีเหล่านี้มีไม่เว้นแต่ละวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สะสางได้ไม่ทัน ผู้กระทำผิดก็สามารถออกมาทำผิดได้ซ้ำอีก โดยคิดว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ จึงควรเพิ่มบทลงโทษและทำให้กระบวนการทางคดีรวดเร็วขึ้น เพื่อให้คนเหล่านี้หลาบจำ และไม่เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่เข้ามาก่ออาชญากรรมในประเทศไทย ยิ่งนช่วงใกล้จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจแล้วด้วย เกรงหากไม่มีมาตรการที่เคร่งครัดจะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของในเรื่องมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยย่ำแย่ลงไปอีก