xs
xsm
sm
md
lg

สวดยับจับคู่"ปู-มาร์ค"ออกทีวี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า แนวคิดปรองดองของศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ที่จะเชิญ อดีตนายกฯ 2 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปออกรายการทีวีร่วมกัน เพื่อเสนอแนวทางปฏิรูปและปรองดองนั้น สะท้อนความคืบหน้าของกระบวนการปรองดองในรัฐบาล คสช. ที่ไม่มีความคืบหน้า ย่ำอยู่กับที่ ทั้งที่การปรองดองเป็นเหตุผลสำคัญของการยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
" ผมไม่เห็นประโยชน์เท่าไรกับการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ ได้ไม่คุ้มเสีย และยิ่งจะทำให้กองเชียร์ และผู้สนับสนุนทั้ง 2 ฝ่าย หยิบเอาไปเป็นประเด็นขยายผลโจมตีกันและกันซ้ำเติมความแตกแยกที่คาอยู่ให้รุนแรงหนักเข้าไปอีก เพราะความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องระหว่างคุณอภิสิทธิ์ กับ คุณยิ่งลักษณ์ นี่แค่ปลายภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ต้นตอของปัญหาคือ ความอยุติธรรม การใช้อำนาจฉ้อฉล ทุจริต และกลุ่มติดอาวุธ เป็นต้น"
นายสุริยะใสกล่าวว่า ที่ผ่านมาการทำงานของ ศปป. ยังมีทิศทางที่ขาดเอกภาพ แม้จะทำงานหนัก แต่เข็มมุ่งไม่ชัดเจน โดยเฉพาะระดับผู้มีอำนาจนำอย่าง คสช. และนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีจุดยืนที่ชัดเจนต่อกระบวนการปรองดอง ท่านนายกฯมักจะพูดว่า ให้ทุกอย่างว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม นั่นก็ถูกเพียงส่วนหนึ่ง แต่งานจิตวิทยามวลชน การให้ข้อมูลที่ถูกต้อง การเอาผิดกับผู้มีอำนาจ หรือผู้ก่อเหตุรุนแรง การเยียวยาคนเจ็บคนตาย หรือ มีกระทั่งการนิรโทษประชาชนที่ร่วมชุมนุม ตามข้อเสนอของกรรมการปรองดองฯ ของสปช. ก็ไม่เห็นท่าทีที่ชัดเจนจาก คสช. และรัฐบาล ว่าคิดอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่ ทำให้หลายคนที่ถูก ศปป. เชิญไปแลกเปลี่ยน พูดคุย เริ่มไม่มั่นใจว่า รัฐบาล คสช. มีนโยบายปรองดองจริง ยิ่งมีการผุดไอเดียรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลปรองดอง ยิ่งทำให้สังคมสับสนเข้าไปอีก เพราะไม่อยากให้การปรองดอง เป็นเกมอำนาจ หรือแค่ตัวประกันเท่านั้น

** แทนที่จะปรองดองยิ่งเพิ่มขัดแย้ง

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึง กระแสข่าวที่ระบุว่ารัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) จะเชิญฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงอดีตรัฐมนตรีหลายราย ไปร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านรายการโทรทัศน์ เพื่อเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศว่า รู้สึกแปลกใจกับแนวทางของ คสช. เพราะไม่เห็นว่าการนำฝ่ายการเมือง หรือคู่ขัดแย้งมาแสดงความคิดเห็นออกทีวีร่วมกันจะได้ประโยชน์อย่างไร เพราะที่ผ่านมา เวลาฝ่าย การเมืองแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ก็ไม่มีการตอบรับจากรัฐบาล แต่กลับมีการเชิญไปปรับทัศนคติมากกว่าที่จะรับลูกไปดำเนินการต่อ ส่วนตัวอยากให้ทั้ง คสช. และ ศปป. ระมัดระวังในแนวทางดังกล่าว เพราะเกรงว่าจะเป็นการเพิ่มความสับสน และเพิ่มประเด็นความขัดแย้งให้สังคมมากกว่า
"การนำฝ่ายการเมืองสองขั้วไปออกทีวี ไม่ว่าจะพร้อมกัน หรือต่างคนต่างออก เชื่อว่าจะเป็นการเขี่ยเชื้อความขัดแย้งให้ปะทุขึ้นมาอีกมากกว่าที่จะสร้างภาพว่า คู่ขัดแย้งสมานฉันท์ปรองดองกันแล้ว ไม่ต่างจากงานวัด ที่นำวงดนตรี 2 วง มาประชันกัน สุดท้ายก็มีเรื่อง ยากที่ได้อะไรเป็นรูปธรรม นอกจากการสร้างภาพ สร้างวาทกรรม" นายอุเทน กล่าว
นายอุเทน กล่าวอีกว่า สาเหตุที่มีแนวความคิดในการให้ฝ่ายการเมืองแสดงความคิดเห็นทางโทรทัศน์นั้น ก็น่าจะมาจากการที่ คสช.ไม่มั่นใจในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะบรรดากลุ่มต่อต้านทั้งหลาย ดังนั้นจึงคิดว่า หากเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองได้มีเวทีแสดงความคิดเห็นบ้าง น่าจะผ่อนคลายสถานการณ์ไม่ให้ตึงเครียดมากนัก ทั้งที่ในความเป็นจริง คสช. โดยรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ด้วยวิธีง่ายๆ โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และเด็ดขาด และเป็นธรรม ซึ่งหมายถึงกฎหมายที่มีอยู่เดิมทั้งทางแพ่งและอาญา ไม่ใช่เพียง มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว หรือกระทั่งกฎอัยการศึก ที่ยกเลิกไปแล้ว หากใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมจริงๆ แล้ว ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไปกลั่นแกล้งใคร แต่ในทางกลับกัน หากใช้ดุลพินิจเป็นกรณีๆ เพราะห่วงในเรื่องกระแสสังคมจะทำให้รัฐบาล และ คสช. ยิ่งเสื่อมมากขึ้น แม้ส่วนตัวจะยังเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. มีเจตนาดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง แต่การไม่ยึดหลักกฎหมาย หรือไม่รับฟังความเห็นของคนอื่น ก็จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
"ประชาชนยังเชื่อใจและศรัทธาในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ว่าคิดดีทำดีกับบ้านเมือง เพียงต้องไม่เกรงใจ และรับฟังคนรอบตัวมากเกินไป เพราะหลายๆ เรื่องที่มีการตัดสินใจผิดพลาดก็น่าจะมาจากคนรอบข้าง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องก้าวให้พ้นบรรดาที่ปรึกษา หรือทีมงานเหล่านั้น และเลือกใช้ใช้องคาพยพที่มีคุณภาพ หรือคนนอกที่มีความสามารถ จริงๆ ที่สำคัญขอฝากไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยความเป็นห่วงว่า ต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ด้วยความกล้าหาญ และเด็ดขาด มากกว่าเดิมเพื่อควบคุมสถานการณ์ และขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางที่วางไว้" นายอุเทน ระบุ
นายอุเทน กล่าวด้วยว่า อยากจะเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการเพิ่มบทลงโทษ และเร่งรัดคดีที่เกี่ยวกับความสงบสุข ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน เพราะปัจจุบัน คดีเหล่านี้มีไม่เว้นแต่ละวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สะสางได้ไม่ทัน ผู้กระทำผิดก็สามารถออกมาทำผิดได้ซ้ำอีก โดยคิดว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ จึงควรเพิ่มบทลงโทษและทำให้กระบวนการทางคดีรวดเร็วขึ้น เพื่อให้คนเหล่านี้หลาบจำ และไม่เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ที่เข้ามาก่ออาชญากรรมในประเทศไทย ยิ่งช่วงใกล้จะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจแล้วด้วย เกรงหากไม่มีมาตรการที่เคร่งครัด จะยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของไนเรื่องมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยย่ำแย่ลงไปอีก

** "ยิ่งลักษณ์"ไม่กล้า ก็ส่งตัวแทนได้

นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า วิธีการใดนำไปสู่การปรองดอง จะออกสื่อหรือไม่ออกสื่อ เป็นเรื่องดีทั้งนั้น เพราะการพูดคุยกันเป็นประโยชน์ เพื่อที่จะได้รับทราบแนวคิดต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนพูดมาตลอดว่า บ้านเมืองจะสงบต้องพูดคุย และรับฟังความเห็นกัน จึงจะนำไปสู่การสร้างความปรองดองได้
ส่วนกรณีที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาส่งสัญญาณว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจไม่ร่วมรายการตามคำเชิญ นายดิเรก กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจส่งตัวแทนมาก็ได้ เพราะเป็นคนพูดไม่เก่ง แต่มีความคิดที่ดี ส่วนการเสนอแนวคิด แนวทางปฏิรูปต่างๆ จะนำไปสู่การปฏิบัติหรือไม่ ตนเห็นว่า แม้แต่ สปช.เองทำหน้าที่เสนอแนวทางฏิรูป ยังต้องรอว่า จะมีการหยิบยกไปปฏิบัติหรือไม่ ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุดคือ การพูดเพื่อให้คนในสังคมได้รับรู้ไปด้วย ในส่วนของการนำไปปฏิบัติ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งตนเห็นว่าสังคมจะพิจารณาได้เอง ถ้าหากสิ่งที่นำ เสนอเป็นเรื่องดี แต่กลับไม่ได้มีการนำไปปฏิบัติ

** "อ๋อย" ซัดคสช. "ความสงบที่ไม่ยั่งยืน"

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก “Chaturon Chaisang” ใช้หัวข้อเรื่องว่า "ความสงบที่ไม่ยั่งยืน" โดยระบุว่า ความไม่สงบ เป็นข้ออ้างสำคัญในการที่ คสช. และกองทัพเข้ากระทำการรัฐประหาร และขอเวลาในการแก้ไข โดยไม่รู้ว่า ขอเวลาเพื่อจะปกครองประเทศในแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไปก่อน หรือ ขอเวลาที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ร่างรัฐธรรมนูญและลงมือปฏิรูป รวมทั้งวางแผนการปฏิรูปต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ถ้าหากแม่น้ำ 5 สายยังไหลไปเรื่อยๆ แบบทุกวันนี้ ในอนาคตอันใกล้ สังคมไทยอาจจะพบกับความขัดแย้ง วุ่นวาย ยิ่งกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนการรัฐประหารก็ได้ ด้วยเหตุที่ว่า
1. จนถึงบัดนี้ สังคมไทย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจ และผู้เกี่ยวข้องการแก้ปัญหา ยังไม่ได้ร่วมกันวิเคราะห์ หรือเปิดให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับต้นเหตุของความขัดแย้ง เพื่อสรุปบทเรียน และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงอย่างในอดีตขึ้นอีก
2. ยังไม่มีการค้นหาสาเหตุ และแนวทางแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลก่อนการรัฐประหาร ที่มีทั้งรุนแรงเกินกว่าเหตุ และอ่อนแอ จนไม่สามารถรักษากฎหมายให้เป็นกฎหมายได้ ซึ่งเกี่ยวพันโดยตรง ถึงการตรวจสอบควบคุมรัฐบาล บทบาทของระบบยุติธรรม การทำหน้าที่ขององค์กรอิสระ และการสนองตอบของกลไกรัฐต่อการสั่งการของรัฐบาล
3. การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจัดการกับปัญหาต่างๆ และบริหารบ้านเมือง โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็น และมีส่วนรวมจากประชาชนฝ่ายต่างๆ กำลังสะสมปัญหาความขัดแย้งที่อาจปะทุขึ้นเมื่อใดก็ได้ และยากแก่การแก้ไขในอนาคต
4. การร่างรัฐธรรมนูญและการวางแผนปฏิรูปกำลังสร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งมากขึ้นในอนาคต ทั้งการทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพ และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ และยังจะซ้ำเติมปัญหาเดิมด้วยการเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระในการกำหนดความอยู่รอดของรัฐบาล ลดอำนาจของรัฐบาลในการบังคับบัญชาข้าราชการประจำและกลไกของรัฐ ทั้งนี้เมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับแล้วจะไม่สามารถแก้ไขได้อีก ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดวิกฤตร้ายแรงขึ้นได้
5. ยังไม่มีการชำระล้างค่านิยมความเชื่อผิดๆ ที่ว่า หากมีความขัดแย้งรุนแรงขึ้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบ และหากรัฐบาลไม่สามารถรักษากฎหมายให้เป็นกฎหมาย ก็ชอบแล้วที่จะต้องมีการรัฐประหารเกิดขึ้น จากสภาพปัญหาทั้ง 5 ข้อนี้ จะเห็นว่าความสงบที่คนจำนวนไม่น้อยกำลังพึงพอใจอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่ความสงบที่แท้จริง และไม่ใช่ความสงบที่ยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น