xs
xsm
sm
md
lg

“อุเทน” ชี้ภาคธุรกิจขาดทุนยับ แนะรัฐใช้มาตรการรัดเข็มขัด ซัดนักวิชาการมั่ว ชงลดดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุเทน ชาติภิญโญ (แฟ้มภาพ
“อุเทน” เผยภาคธุรกิจไทยขาดทุนหนัก-รายย่อยย่ำแย่ แนะรัฐบาลชูมาตรการรัดเข็มขัดลดรายจ่าย เตือนอย่าคาดหวังรายได้เพิ่มในช่วงนี้ เหตุ ศก.โลกทรุดต่อเนื่อง-กำลังซื้อหด สับนักวิชาการมั่วข้อมูล ชง กนง.ลดดอกเบี้ยซ้ำเติมสถานการณ์ ส่งผลต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น ชี้อัตรา 1.5% ต่ำมากแล้ว ห่วง ปชช.เดือดร้อนเพิ่ม วอนรัฐบาลเปิดใจกว้างฟังคนท้วงติง เชียร์ “บิ๊กตู่” ปรับทัพเฉดหัวพวก “ผู้ดีจอมปลอม” พ้นองคาพยพ

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนี้ว่า จากที่ได้ไปพบปะพูดคุยกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้า และผู้ประกอบการ พบว่ามีธุรกิจจำนวนมากประสบภาวะซบเซา ยอดขายตกลงเฉลี่ยกว่า 30% ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ขาดทุนอย่างหนัก จึงมองว่าสิ่งที่รัฐบาลและภาคเอกชนไทยควรทำตอนนี้คือ การกำหนดมาตรการรัดเข็มขัดประหยัดลดค่าใช้จ่าย มากกว่าจะพยายามหารายได้เพิ่ม โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยว เพราะถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศประสบปัญหาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กำลังซื้อหดหาย โดยอยากให้ดูวิกฤตการณ์ของประเทศกรีซเป็นตัวอย่าง ที่แม้ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าเป็นผลมาจากการใช้จ่ายงบประมาณที่เกินตัว ซึ่งอาจจะมีผลมาจากนโยบายประชานิยมบ้างบางส่วน แต่โดยรวมแล้วเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชั่นสูงด้วย จนก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลต่อทั้งในภูมิภาค และระบบการเงินของโลก

นายอุเทนกล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การแก้ไขสถานการณ์โดยทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ผลอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังมีนักวิชาการบางคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านธุรกิจมาก่อน แต่กลับเสนอแนะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำกว่า 1% ทั้งๆที่อัตราดอกเบี้ย 1.5% ในขณะนี้ถือว่าต่ำมากแล้วสำหรับประเทศไทยที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงมีการนำเข้ามากกว่าส่งออก หากมีการลดอัตราดอกเบี้ยอีกจริง ค่าเงินบาทก็จะอ่อนลง ย่อมมีผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่อาจจะสูงขึ้น เพราะหลายชนิดก็มีต้นทุนจากนำเข้าเป็นหลัก โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากรัฐบาลเองจะต้องสูญเสียงงบประมาณในการนำเข้าสูงกว่าความเป็นจริงแล้ว ยังจะทำให้ประชาชนเดือดร้อนจากข้าวของที่แพงขึ้นด้วย จึงไม่ควรมองเพียงภาคท่องเที่ยว และการส่งออก ต้องคำนึงถึงการนำเข้าและผู้ประกอบการรายย่อยด้วย

“นักวิชาการบางคนเอาแต่พูดไปโดยไม่คิดถึงหลักความเป็นจริง กนง.หรือฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า ถ้าลดดอกเบี้ยขนาดนั้น การนำเข้าจะเป็นอย่างไร จะกระทบการบริโภคของประชาชนหรือไม่ คนที่ไม่รู้จริงไม่ควรที่มาอาศัยภาพนักวิชาการชี้นำแนวทางของภาครัฐไปในทางที่ผิด”

นายอุเทนกล่าวด้วยว่า จากวิกฤตการณ์ของประเทศกรีซทำให้รัฐบาลไทยควรที่จะออกมาตรการรัดเข็มขัด และกระตุ้นให้ประชาชนประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายตั้งแต่ในครัวเรือน เพื่อรับมือกับสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ภาครัฐไม่ควรหลอกตัวเองว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางดีขึ้นอย่างที่เป็นอยู่ หรือฝากความหวังไปที่ภาคส่งออกเหมือนที่เป็นอยู่ เนื่องจากประเมินแล้วภาคการส่งออกหรือกระทั่งการท่องเที่ยวยากจะฟื้นตัวได้ในช่วงนี้ การใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งเข้าสู่ช่วงไตรมาสสุดท้ายต้องพิจารณาโครงการที่มีความจำเป็นอย่างรอบคอบ และให้ดำเนินการตามระบบ ไม่ควรเร่งรีบจนเกินไป เพราะจะเป็นการเปิดช่องให้มีการทุจริตคอร์รัปชันได้ รวมไปถึงต้องเปิดใจรับฟังเสียงท้วงติงจากคนภายนอก ไม่ใช่รับฟังเฉพาะคนในรัฐบาล หรือบรรดาคนที่พูดแค่หลักวิชาการ ไม่ได้ยึดโยงประสบการณ์ด้านธุรกิจอย่างแท้จริง

สำหรับข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติที่มีการพูดถึงอยู่ในขณะนี้นั้น นายอุเทนกล่าวว่า เห็นด้วยในแง่ที่จะเฟ้นหาคนดีมีความสามารถเข้ามาช่วยงานรัฐบาล เพราะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นตั้งใจดี แต่อาจขับเคลื่อนไม่ได้เต็มที่ เพราะองคาพยพบางส่วนไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้ ดูได้จากการแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อมีการปรับบุคคลผู้รับผิดชอบเข้ามาก็แก้ปัญหาได้ แม้ยังไม่ทั้งหมดก็ตาม ก๊ดีขึ้นมาก ทั้งนี้บุคคลที่จะดึงเข้ามาไม่ควรคิดว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายการเมืองหรือไม่ เพราะหากคิดว่าต้องให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมเพื่อสร้างความปรองดอง สุดท้ายก็จะไม่ได้คนที่มีความสามารถจริงๆเข้ามา

“หลังจากนี้ถือเป็นนับถอยหลังการทำงานของรัฐบาล มีเวลาน้อยลงๆ เรื่อย พล.อ.ประยุทธ์จะต้องกล้าตัดสินใจ ดึงคนทำงานเป็นจริงๆ เข้ามาช่วยงาน หยุดเชื่อพวกผู้ดีจอมปลอม หรือนักวิชาการที่รู้ไม่จริง หากยังเชื่อคนเหล่านี้อยู่ ผลงานออกมาอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องรับผิดชอบ แต่หากกล้าตัดสินใจตั้งแต่ตอนนี้ก็ยังเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทำสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้”


กำลังโหลดความคิดเห็น